พรรคแกนนำรัฐบาลญี่ปุ่นของนายกฯชินโสะ อะเบะ เปิดเผยแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นับจากสิ้นสุดสงครามโลก ท่ามกลางเกมการเมืองอันเข้มข้น รวมทั้งเสียงคัดค้านและสนับสนุนของประชาชน
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น 3 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์โยมิอุริ ชิมบุน เปิดเผยแผนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ริเริ่มโดยพรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ LDP แกนนำรัฐบาลญี่ปุ่น โดยระบุว่า นายกรัฐมนตรีชินโสะ อะเบะ ปรารถนาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในสำเร็จในสมัยประชุมรัฐสภาปี 2017
รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นในปัจจุบันถูกร่างขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา หลังจากญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และใช้งานมานาน 68 ปีโดยไม่เคยมีการแก้ไข รัฐธรรมนูญนี้ยังถูกเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับสันติภาพ เนื่องจากมีบทบัญญัติห้ามญี่ปุ่นมีกองทัพ และจำกัดบทบาทของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นอย่างเข้มงวด ซึ่งรัฐบาลพรรค LDP มองว่าทำให้ญี่ปุ่นขาดประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจของจีน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์นี้มีทั้งเสียงสนับสนุนและคัดค้าน โดยฝ่ายสนับสนุน ระบุว่า จำเป็นต้องเปิดทางให้กองทัพญี่ปุ่นสามารถร่วมมือกับนานาชาติได้มากขึ้น และต้องการสร้างรัฐธรรมนูญฉบับของญี่ปุ่นอย่างแท้จริง ขณะที่ฝ่ายคัดค้านกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเปิดทางให้ญี่ปุ่นสามารถเข้าร่วมในสงครามหรือความขัดแย้งต่างๆ และยังจะทำให้เกิดกระแสต่อต้านจากเพื่อนบ้านอย่างจีนและเกาหลีใต้อย่างแน่นอน
ตามแผนโรดแมป คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดการอภิปรายถึงมาตรารัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขในวันที่ 7 พฤษภาคม จากนั้นจะต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายอีกหลายอย่าง ซึ่งหากทุกอย่างลุล่วงได้ตามแผน ก็จะสามารถจัดการลงประชามติในปี 2017
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องฝ่าด่านกฎหมายและการต่อรองทางการเมืองอีกมายมาย ในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด่านแรก คือ การเลือกว่าจะแก้ไขมาตราใด ด่านที่สอง คือ การผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา และด่านสุดท้าย คือ การลงประชามติของชาวญี่ปุ่น
นายกฯชินโสะ อะเบะ เคยปรารภกับคนในพรรคว่า “ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จภายในวาระการดำรงตำแหน่งของตน” ซึ่งพรรค LDP จะมีการเลือกตั้งประธานพรรคในเดือนกันยายน ปีนี้ และมีแนวโน้มว่านายอะเบะจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่อ ซึ่งจะทำให้เขาสามารถอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อสานฝันอันยิ่งใหญ่ของเขาได้จนถึงปี 2018
เดินเกมต่อรองทางการเมือง
อุปสรรคใหญ่สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ มติคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของทั้งสองสภา โดยปัจจุบัน พรรครัฐบาลมีคะแนนเสียงมากกว่า 2 ใน3 ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่มีคะแนนเสียงมากเพียงพอในวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาจะมีการเลือกตั้งอีกครั้งในช่วงกลางปี 2016 ซึ่งจะเป็นโอกาสทองในการช่วงชิงชัยชนะของพรรครัฐบาล
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่นมีระบบที่ซับซ้อน คือ มีทั้งแบบแบ่งเขตและแบบปาร์ตี้ลิสต์ ทำให้การคาดการณ์ชัยชนะของพรรครัฐบาลไม่ได้ง่ายดายนัก
ตัวแปรที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พรรคโคเมโตะ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรค LDP มาตลอด หากแต่ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางพรรคโคเมโตะกลับสงวนท่าที และมีแนวโน้มคัดค้านการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับกองทัพญี่ปุ่น ดังนั้นพรรค LDP จึงจำเป็นต้องหาแนวร่วมกับพรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ
ทั้งนี้มีข่าวร่ำลือว่า แกนนำพรรค LDP ได้ต่อสายถึงนายโทรุ ฮาชิโมโต นายกเทศมนตรีนครโอซากา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาพรรคเจแปน อินโนเวชั่น ในปีกฝ่ายค้าน โดยนครโอซากาจะจัดการลงประชามติเพื่อจัดตั้ง “มหานครโอซากา” ซึ่งเป็นการปกครองแบบใหม่คล้ายกับกรุงโตเกียว ในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ โดยพรรค LDP สาขาโอซากาคัดค้านแนวคิดนี้อย่างสุดตัว หากแต่สำนักนายกรัฐมนตรี ณ กรุงโตเกียว กลับสงวนท่าที ทำให้เกิดการคาดเดาว่าแกนนำพรรค LDP อาจกำลังต่อรองอะไรบางอย่างกับนายฮาชิโมโต
แก้ไขมาตราไหน?
โจทย์ใหญ่สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น คือ จะแก้ไขมาตราไหน? โดยในชั้นเริ่มต้น พรรค LDP เสนอให้แก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภัยพิบัติ, สิทธิมนุษยชน, และระเบียบด้านงบประมาณ ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาในการได้รับเสียงสนับสนุนจากทั้งสองสภา
แต่เป็นที่ทราบกับดีว่า เป้าหมายจริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา 9 ที่เกี่ยวกับบทบาทของกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งมีทั้งประชาชนที่คัดค้านและสนับสนุน โดยในวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา มีประชาชนมากกว่า 30,000 คนมาร่วมการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ริเริ่มโดยนาเคนซะบุโระ โอะเอะ นักเขียนญี่ปุ่นเจ้าของรางวัลโนเบล ขณะที่ก็มีกลุ่มประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งรวมตัวชุมนุมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน
นายชินโสะ อะเบะ เคยกล่าวในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า ความปรารถนาสูงสุดของเขา คือ ฟื้นฟูญี่ปุ่นให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง โดยใช้นโยบายที่ไม่เคยมีรัฐบาลญี่ปุ่นชุดไหนกล้าทำมาก่อน หากแต่ชาวญี่ปุ่นรู้ดีว่า การฟื้นฟูญี่ปุ่นในความหมายของนายอะเบะนั้น ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังหมายถึงการกอบกู้ศักดิ์ศรีของลูกพระอาทิตย์ด้วย.