รอยเตอร์ - กองทัพญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเข้าร่วมกับสหรัฐฯในปฏิบัติการลาดตระเวนทางอากาศเหนือน่านฟ้าทะเลจีนใต้ เพื่อตอบโต้ความก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆของจีนในการอ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตในทะเลจีนใต้ แหล่งข่าวใกล้ชิดกับการหารือของทั้งโตเกียวและวอชิงตันเปิดเผยกับรอยเตอร์ในวันพุธ(29เม.ย.)
ข่าวคราวความคืบหน้าดังกล่าวมีออกมา หลังจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯเปิดตัวประกาศแนวทางปฏิบัติฉบับปรับปรุงใหม่ล่าสุด สำหรับความร่วมมือด้านกลาโหมของประเทศทั้งสอง ระหว่างที่นายชินโส อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางเยือนวอชิงตัน สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของโตเกียวในการเพิ่มบทบาททางทหารระหว่างประเทศ ในห้วงเวลาที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลอย่างแข็งกร้าว และโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือก็เป็นภัยคุกคามมากขึ้น
แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามเปิดเผยว่าในขณะที่ยังมีได้กำหนดแผนอย่างเป็นรูปเป็นร่าง มีความเป็นไปได้ว่าญี่ปุ่นอาจเข้าร่วมกับสหรัฐฯสำหรับการลาดตระเวนในทะเลจีนใต้หรือไม่ก็ปฏิบัติการลาดตระเวนโดยรอบจากเกาะโอกินาวาของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ริมทะเลจีนตะวันออก อย่างไรก็ตามจนถึงตอนนี้เป็นเพียงแค่การพิจารณากันภายในกองทัพเท่านั้น และความเคลื่อนไหวเริ่มต้นลาดตระเวนใดๆจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากฝ่ายพลเรือนเสียก่อน
การลาดตระเวนทางอากาศของญี่ปุ่นในอาณาเขตที่จีนเดินหน้าอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่พิพาท ในนั้นรวมถึงผ่านโครงการถมทะเล เสี่ยงที่จะถูกต่อต้านจากปักกิ่ง อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่กลาโหมของโตเกียวกังวลว่าหากไม่ลงมือทำอะไรเลย ก็จะกลายเป็นการเปิดทางให้ จีน ในท้ายที่สุดก็จะกำหนดเขตอำนาจทั่วภูมิภาค ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่มีมูลค่าปีละ 5 ล้านล้านดอลลาร์ และส่วนใหญ่แล้วมุ่งหน้าเข้าและออกจากญี่ปุ่น "เราจำเป็นต้องแสดงให้จีนเห็นว่า จีนไม่ใช่เจ้าของทะเล" แหล่งข่าวญี่ปุ่นระบุ
รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าวสายทหารสหรัฐฯที่ไม่ประสงค์เอ่ยนามเช่นกัน ระบุว่าการตัดสินเริ่มต้นเที่ยวบินลาดตระเวนในทะเลจีนใต้ อาจกระตุ้นให้โตเกียวร้องขอไปยังฟิลิปปินส์ในการใช้ฐานทัพอากาศภายใต้การฝึกซ้อมบรรเทาภัยหายนะและการซ้อมรบร่วมอื่นๆ ซึ่งมันจะช่วยให้เครื่องบินของญี่ปุ่นสามารถลาดตระเวนได้ไกลขึ้น
กระนั้นแหล่งข่าวทหารของฟิลิปปินส์ยอมรับว่าการเข้าถึงฐานทัพอากาศดังกล่าวยังเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน เพราะมะนิลาไม่มีข้อตกลงความร่วมมือทางทหารใดๆกับญี่ปุ่น แบบเดียวกับที่มีกับวอชิงตัน ที่อนุญาตให้เรือของสหรัฐฯใช้ฐานทัพเพื่อเติมน้ำมัน สะสมเสบียงและดำเนินการซ่อมแซมฉุกเฉิน แต่ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แห่งฟิลิปปินส์ มีกำหนดพบปะกับอาเบะที่กรุงโตเกียวในเดือนมิถุนายน ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นทะเลจีนใต้จะเป็นหัวข้อสำคัญของการหารือ
รัฐมนตรีกลาโหมและรัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่นเอง ก็ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในปฏิบัติการลาดตระเวนร่วมในแถบทะเลของอาเซียน โดยยอมรับว่าโตเกียวยังคงต้องดำเนินการด้านออกกฎหมายรวมถึงต้องปรึกษาหารือกับประเทศต่างๆในภูมิภาคเสียก่อน
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างแถลงสรุปประจำวันในกรุงปักกิ่งเมื่อวันพุธ(29เม.ย.) ว่าสหรัฐฯและญี่ปุ่นไม่มีความเกี่ยวข้องในประเด็นทะเลจีนใต้ และไม่ควรทำให้สถานการณ์ยุ่งยากซับซ้อนไปมากกว่านี้