xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ชง24ประเด็นแก้ไขร่างรธน. หนุนระบบ"โอเพ่นลิสต์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (28พ.ค.) ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมี นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาความคืบหน้ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. และ ครม.
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ได้มีการพิจารณากำหนดกรอบการดำเนินงาน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับฟังคำชี้แจงจากสปช. และครม. ทั้ง 9 คำขอ ตั้งแต่วันที่ 2-6 มิ.ย. โดยกรรมาธิการฯ จะเน้นการรับฟังผู้ที่ชี้แจงเป็นหลัก และซักถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจ โดยไม่แสดงความเห็น หรือโต้แย้งใดๆ อีกทั้งได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน จะพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม โดยยึดประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชนเป็นหลัก เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ หลังจากรับฟังคำชี้แจงของตัวแทนทั้ง 9 กลุ่ม รวมทั้งรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากพรรคการเมือง และประชาชน จากการจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ต่างๆ แล้ว ก็จะกำหนดประเด็นหลักในการพิจารณา ก่อนที่จะลงในรายหมวด รายมาตรา
นายคำนูณกล่าวว่า จากการสรุปความเห็นของผู้เสนอขอแก้ไขเข้ามาทั้ง 9 กลุ่ม ตั้งแต่ มาตรา 1 ถึง มาตรา 315 รวมทั้งชื่อหมวด ชื่อภาค ว่ามีกลุ่มใดเสนอขอแก้ไขมาบ้าง และจัดทำเอกสารแจงคำขอแก้ไขรายมาตรา มีทั้งสิ้น 4 ชุด โดยแบ่งตามภาคของร่างรัฐธรรมนูญ ที่แจกในที่ประชุมวันนี้คือ หมวดทั่วไปและภาคหนึ่ง มีความหนาน้อยที่สุด ส่วนภาคสองเกี่ยวกับเรื่องการเมือง จะมีความหนามากสุดประมาณ 500 หน้า ส่วนที่หนารองลงมาคือ ภาคสาม เรื่องกระบวนการยุติธรรม ส่วนภาคสี่ มีความหนามาก ถึงต้องแบ่งเป็น 2 เล่ม
ส่วนมีการขอแก้ไขในมาตราใดมากที่สุด ยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจน แต่เท่าที่ดูเห็นว่า คำขอของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมือง และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านยุติธรรมและกฎหมาย มีการขอทั้งสิ้น 334 มาตรา ส่วนที่มีการขอแก้ไขมาน้อยมาตราที่สุดคือ ของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน และนายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ จำนวน 49 มาตรา
ส่วนมาตราที่มีผู้ขอแก้ไขมาทั้ง 9 คำขอ เท่าที่สำรวจคร่าวๆ คือ ม. 121 ที่มาส.ว. และ ม. 279 การขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ รองลงมาคือ 8 คำขอ คือ ม. 62-64 เกี่ยวกับสิทธิชุมชน สิทธิในทรัพยากรต่างๆ
" ขณะนี้เรายังไม่ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการแก้ไขร่างใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่จะอภิปรายว่าจะแยกกี่ประเด็น หรือตัดประเด็นไหน เราจำเป็นต้องให้เกียรติผู้ยื่นคำขอแก้ไขทั้ง 9 คำขอ ฉะนั้นตลอดสัปดาห์หน้า เราจะขอรับฟังคำชี้แจงพร้อมเอกสารคำขอ โดยจะเน้นการรับฟังเป็นหลัก และสอบถามเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ไม่ใช่ไปโต้แย้ง และในขั้นการพิจารณาใน สปช. สมาชิกไม่สามารถสงวนคำแปรญัตติได้ เมื่อผู้ยื่นคำขอแก้ไขเสนอมา เรามีหน้าที่พิจารณา จะไม่ต้องนำมาตัดสินเป็นรายมาตราใน สปช.อีก ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการทำรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ที่ให้ผู้มีการสงวนคำแปรญัตติได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ใช้คำว่า‘ขอแปรญัตติ’แต่เป็นคำ‘ขอแก้ไขเพิ่มเติม’ดังนั้นอำนาจการตัดสินแก้ไข หรือไม่ เป็นของกรรมาธิการยกร่างฯ สิ่งที่เราต้องพิจารณาอย่างหนักคือ การชี้แจงด้วยวาจาเท่านั้น "
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในมาตราที่มีการเสนอคำขอเข้ามาจำนวนมาก จะมีน้ำหนักเพียงพอที่กรรมาธิการฯ จะยอมแก้ไขหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า เราพิจารณาทั้งจำนวน และเหตุผลของทุกคำขอ แต่ก็ปฏิเสธไมได้ว่า ถ้ามีคำขอเข้ามามากที่สุดแล้วจะไม่มีความหมายอะไร แต่ก็ไมได้หมายความว่า มาตราไหนที่ขอแก้ไขมาเพียง 1 คำขอ จะด้อยค่าลงไป ซึ่งต้องพิจารณาประกอบกันไป ยกตัวอย่างมีการยื่นมาทั้ง 9 คำขอ แต่ก็มีประเด็นแตกต่างกันไป ตอนนี้ยังไม่ได้สำรวจว่า มียื่นเข้ามาแล้วเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างไร
" อย่างของครม. ก็มีหลายประเด็นที่อ่านเอกสารแล้วยังสงสัยอยู่ ถ้ามาชี้แจง ก็จะได้ทำความเข้าใจอย่างละเอียดอีกที ส่วนใหญ่จะเป็นการเสนอขอแก้ไขตามปกติ เช่น เสนอตัดเรื่องกลุ่มการเมืองออกไป แต่ก็มีเรื่องที่เป็นข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรี ที่อยากให้กรรมาธิการฯ ทบทวนอีกที เช่นระบบเลือกตั้ง จึงอยากเชิญมาชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนมากกว่านี้"
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ หรือไม่ ที่จะบัญญัติบางคำขอเพิ่มมาตราใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีที่นายกฯ ต้องการให้สืบสานเรื่องการปฏิรูปจากรัฐบาลนี้ นายคำนูณ กล่าวว่า การยื่นคำขอหมดเขตไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค. แต่กรรมาธิการยกร่างฯ สามารถปรับแก้ไขร่างได้ เพราะในบางกรณี แก้ไขไปตามที่ขอมา แล้วอาจจะไปขัดหรือแย้งกับหลักการอื่น เราก็จำเป็นต้องแก้ไขให้สอดคล้องกัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้จัดทำมาเรียบร้อยแล้ว ยกเว้นของครม. ที่แตกต่างออกไป เช่น บางมาตรามีการแทรกข้อสังเกตเข้ามา แต่ไม่ได้ขอแก้ไข

** สนช.ชง 24 ประเด็นแก้ไขร่างรธน.

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ได้มอบผลสรุป และข้อเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญิการ สนช. และกรรมาธิการยกร่างฯ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 24 ประเด็น โดยมีบางประเด็นเห็นสอดคล้อง และบางประเด็นเห็นต่างไปจากกรรมิการยกร่างฯ โดยพล.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า ยินดีนำข้อเสนอของสนช.ไปพิจารณาปรับปรุงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมจะนำความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ภาคประชาชน พรรคการเมือง ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาดีที่สุด
ทั้งนี้ประเด็นที่ สนช.ได้เสนอแก้ไข 24 ประเด็น อาทิ ให้ตัดคำว่า"พลเมือง"ออกจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ โดยให้ใช้คำว่า"บุคคล"แทน กรณีที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก สนช. เห็นด้วยกับหลักการตาม มาตรา 172 แต่เห็นว่าหลักการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม หรือแก้ปัญหาได้ทุกเหตุการณ์ เช่น กรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีรักษาการ จึงเสนอให้วุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
เสนอให้ตัดมาตรา 181 ,182 ตลอดจนกลุ่มการเมืองทิ้งทั้งหมด ขณะที่ที่มาของส.ส. เห็นด้วยกับการยกร่างของกรรมาธิการฯ ที่มีระบบโอเพ่นลิสต์ ส่วนที่มาส.ว.ให้มาจาการสรรหาทั้งหมด แต่ให้แบ่งกลุ่มอาชีพให้ชัดเจน และเพิ่มกรรมการสรรหาให้มากขึ้น รวมทั้งตัดอำนาจ ส.ว.ในการเสนอกฎหมาย และถอดถอนบุคคลที่วุฒิสภาไม่ได้แต่งตั้ง หรือให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ กกต.คงอำนาจหน้าที่ไว้เช่นเดิม ทั้งจัดการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญปี 50 และไม่ให้ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าด้วยกัน ตลอดจนไม่เห็นด้วยให้ตั้งองค์ใหม่ๆ ขึ้นมากเกินไป เช่น สภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)
อย่างไรก็ตาม ควรจัดให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปต่างๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบทเฉพาะกาล สนช. เห็นว่า ควรกำหนดเงื่อนไขห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเวลา 5 ปี ภายหลังจากการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญ โดยนำแนวคิดมาจาก บทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาใช้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ ก่อน นอกจากนี้ในมาตรา 308(3) ควรบัญญัติให้ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่ง ณ วันที่ 24 พ.ค.57 และยังไม่ครบวาระ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งของคสช.เท่านั้น ที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว.ได้ โดยไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ไม่ให้ครอบคลุมถึงส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ ระหว่างปี 2551 -2557 โดยเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งนี้ เนื่องจาก ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่ 24 พ.ค.57 อยู่ยังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ส่วน ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างปี 2551-2557 ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว

** ปัดคสช.ชงแก้ม.38 ต่ออายุสปช.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ครม. เสนอแนะให้มีการทบทวนคำว่า"พลเมือง"ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ครม.เสนอให้ทบทวนคำว่า"พลเมือง"จริง แต่ขึ้นอยู่กับ กมธ.ยกร่างฯ จะทบทวนหรือไม่ เนื่องจากครม.เห็นว่าคำว่า พลเมือง อาจทำให้เกิดความสับสนอลหม่านได้
เมื่อถามว่า มีข่าวว่า คสช. เตรียมหารือให้มีการแก้ไข มาตรา 38 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 57 ที่กำหนดให้กรณีที่ สปช. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นอันตกไป ตามมาตรา 37 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกมธ.ยกร่างฯ เป็นอันสิ้นสุดลง ให้มีการดำเนินการเพื่อแต่งตั้ง สปช. และกมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ แก้เป็น ต่ออายุ สปช.แทน
"ผมเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ขึ้นมา ยังไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย และไม่รู้จะมีการบรรจุในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหรือไม่ เพราะไม่เคยได้ยิน" นายวิษณุ กล่าว
สนช.ชง 24 ข้อแก้ร่าง รธน.หนุนโอเพนลิสต์ วุฒิสภาสรรหา ห้ามแก้ 5 ปี คืนสิทธิ ส.ว.57 สมัครใหม่ได้
สนช.ชง 24 ข้อแก้ร่าง รธน.หนุนโอเพนลิสต์ วุฒิสภาสรรหา ห้ามแก้ 5 ปี คืนสิทธิ ส.ว.57 สมัครใหม่ได้
ปธ.กมธ.พิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. มอบผลสรุปต่อ กมธ.ยกร่างฯ รวม 24 ประเด็น ใช้คำว่า “บุคคล” แทน “พลเมือง” ชง ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่แทน ส.ส.ช่วงวิกฤต ตัด ม.181-182 รวมกลุ่มการเมืองทิ้ง หนุนโอเพนลิสต์-วุฒิสภาสรรหาหมด แต่ตัดอำนาจเสนอ กม.และถอดบุคคลที่ไม่ได้แต่งตั้งเอง ค้านตั้ง กจต.-ยุุบ กสม.และสภาอื่นๆ เพิ่ม แต่ยังหนุนสภาขับเคลื่อนปฏิรูป และ กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูป เขียนบทเฉพาะกาลห้ามแก้ใน 5 ปี ให้สิทธิ ส.ว.รุ่นปี 57 สมัคร ส.ส.-ส.ว.ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น