“วิษณุ” งงข้อเสนอ สปช.ยืดเวลา 2 ปี ยันไม่ใช่ไอเดียรัฐบาล เหน็บ สปช.บางคนไอเดียบรรเจิดไปเรื่อย จ่อชง 4 ประเด็นปรับแก้รัฐธรรมนูญ ด้านรองประธาน สนช.ติงคนเสนอถูกมองสืบทอดอำนาจ ย้ำต้องเปิดเวทีชำแหละร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่
วันนี้ (13 พ.ค.) กรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.ในฐานะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 เพื่อทำประชามติสอบถามประชาชนว่า ควรปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ เป็นกรณีที่หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นจำนวนมาก
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่มีความเห็น ไม่ใช่ความคิดของรัฐบาล และยังอ่านไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่าเขาพูดอะไร ยังฟังไม่ได้ศัพท์ว่าเอาอะไร อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวเขาต้องการให้เอามาเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่วันนี้เรายังไม่ไปถึงขั้นนั้น จะเขียนก็เขียนไป เสร็จแล้วถ้ามีประชามติก็ไปลงประชามติกัน แต่ข้อสำคัญคือ กมธ.ยกร่างฯ อาจไม่เอาด้วยก็ได้
กรณีนี้จะถูกมองว่าเป็นการสืบทอดเวลาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่ตอบ ต้องไปถามคนที่เสนอ รัฐบาลไม่ได้เป็นคนเสนออะไรทั้งสิ้น และจะไม่มีวันเสนอ เรื่องนี้เป็นความคิดบางคน สปช.มีตั้ง 250 คน ก็บรรเจิดของท่านไปเรื่อย ส่วนจะเป็นการโยนหินถามทางหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่รู้ ไม่ใช่โยนหินแล้วดินถล่มนะ แลนด์สไลด์”
นายวิษณุกล่าวอีกว่า ในเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลไม่สามารถออกตัวได้ว่าอยากทำ เพราะคนจะมองว่าอยากอยู่ต่อ เพราะการทำประชามติต้องยืดเวลาออกไปอีกประมาณ 3-4 เดือน และต้องใช้งบประมาณ อย่างไรก็ตาม หากใครจะเสนอให้ทำก็บอกมาที่รัฐบาลได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่หากไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะไม่สามารถทำประชามติได้ เพราะในรัฐธรรมนูญมีการล็อกเวลาไว้ ทั้งการแปรญัตติ การลงมติเห็นชอบของ สปช. รวมการเสนอทูลเกล้าฯ ถวาย หากมีการทำประชามติก็เท่ากับว่าไปเปลี่ยนกำหนดเวลาของรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถใช้วิธีอื่นได้
นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 15 วันเท่านั้น โดยคาดว่าหากมีการทำประชามติก็จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญประมาณ 3 มาตรา ซึ่งเหมารวมทั้งกระบวนการทำ เวลาในการทำ และใครเป็นผู้กำกับดูแล และถ้าผ่านหรือไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไรต่อ โดยทั้งหมดต้องเขียนม้วนเดียวจบในรัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข
นายวิษณุกล่าวถึงความคืบหน้าในการรวบรวมความเห็นจากกระทรวงต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้แต่ละกระทรวงส่งมาเกือบครบแล้ว รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เช่น องค์กรอิสระ นักวิชาการ ประชาชน พระ อย่างไรก็ตาม ตนรู้สึกเป็นห่วงเนื่องจาก กมธ.ยกร่างฯ มีเวลา 60 วันในการแก้ไข หากมีการขอแปรญัตติมาก กมธ.ยกร่างฯ จะไม่สามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ดังนั้นอาจจะต้องสอบถามว่ามีส่วนใดที่รัฐบาลสามารถช่วยเหลือได้ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายเวลาในการแปรญัตติของ กมธ.ยกร่างฯ แต่ก็จะไม่ขยายเวลาออกไปมาก เพราะจะทำให้ทุกอย่างนั้นยืดเวลาออกไป สำหรับ ครม.นั้น จะส่งความเห็นไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แต่จะไม่ร่างไปให้ เพราะจะถูกกล่าวหาว่ามีพิมพ์เขียวได้
ทั้งนี้ ตนได้จัดความเห็นที่จะเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ เป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย 1. ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้ความมีชัดเจน เพราะอาจก่อให้เกิดการตีความ และทะเลาะกัน เนื่องจากอ่านแล้วไม่เข้าใจ 2. ควรตัดเนื้อหาบางส่วนออกไป โดยนำไปใส่ในกฎหมายลูกแทน เพราะการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจะแก้ไขลำบาก 3. มีบางหลักการในร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ควรจะมีอยู่ เช่น การมีสภาขับเคลื่อนฯ หรือสมัชชาต่างๆ เพราะจะก่อให้เกิดปัญหา และเห็นว่าเป็นอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาล อีกทั้งยังเปลืองงบประมาณ 4. ต้องเปลี่ยนใหม่ในบางเรื่องบางประเด็น ทั้งนี้เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะเห็นด้วยในบางประเด็น เพราะทั้ง 36 คนความเห็นก็ยังไม่ตรงนั้นทั้งหมด
ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวว่า การเสนอแปรญัตติเรื่องนี้ต้องระมัดระวัง เพราะอาจถูกมองว่ามีเจตนาสืบทอดอำนาจให้ตัวเองอยู่ในตำแหน่งนานขึ้น จึงไม่ควรยื่นแปรญัตติในลักษณะนี้ เรื่องการพิจารณาให้โรดแมปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขยายเวลาออกไปเป็นหน้าที่ของ คสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะประเมินสถานการณ์ว่าจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องกับ สปช.และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเลย เพราะ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯ มีหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญและวางแนวทางปฏิรูปประเทศ
ส่วนการประชุม สนช.เพื่อรับฟังความเห็นจากสมาชิก สนช.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่15 พ.ค.นี้ เบื้องต้นกำหนดประเด็นที่จะอภิปรายไว้ประมาณ 10 ประเด็น ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงสร้างทางการเมืองตามที่เป็นข่าวกันอยู่ เช่น ที่มานายกรัฐมนตรี ระบบการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น ซึ่งจะให้ สนช.อภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยให้เวลาอภิปรายคนละ 7 นาที ถ้าเวลาไม่พออาจขยายเวลาให้อภิปรายต่อในวันที่ 16 พ.ค. ทั้งนี้ ความเห็นของ สนช.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะพยายามให้เป็นไปในแนวทางเดียวกันในทุกประเด็นเพื่อให้เป็นความเห็นในนาม สนช. แต่หากประเด็นใดที่สมาชิก สนช.เห็นต่างกัน หรือไม่สามารถตกลงกันได้ อาจใช้วิธียกมือลงมติในห้องประชุมเพื่อหาข้อสรุป แต่คงไม่ถึงขั้นต้องลงมติเสียบบัตรลงมติอย่างเป็นทางการ
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นว่า ส่วนตัวตนสนับสนุนการเลือกตั้งระบบที่ให้ประชาชนจัดลำดับผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อตามความนิยม (โอเพนลิสต์) เพราะเห็นว่าการจัดลำดับมาจากประชาชน ใครได้คะแนนมากก็จะได้ลำดับต้นๆ และมีโอกาสได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ใช่พรรคเป็นผู้จัด จะทำให้ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อทุกคนต้องลงไปพบปะใกล้ชิดประชาชน เพื่อให้ประชาชนรู้จัก และที่สำคัญ แต่ละคนจะพบปะประชาชนแค่จังหวัดตัวเอง ไม่ข้ามไปจังหวัดอื่น
“ขอเสนอว่าควรเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อได้มากกว่า 1 คน ระบบนี้จะสมบูรณ์ และไม่มีความขัดแย้งในพรรค แต่ถ้าให้เลือกแค่ ส.ส.บัญชีรายชื่อคนเดียว จะทำให้ผู้สมัครเกิดความขัดแย้งกันเอง และจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เป็นตัวแทนจังหวัด ไม่ใช่ของภาค ถ้าใช้ระบบโอเพนลิสต์ ผมเชื่อว่าคุณภาพของนักการเมืองจะดีขึ้น”