รายงานการเมือง
ความคืบหน้าการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่ช่วงรอให้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) - คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมายัง กมธ.ยกร่างฯ ในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย เพื่อขอให้ กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ แต่จะแก้หรือไม่ เป็นสิทธิขาดของเสียงส่วนใหญ่ใน กมธ.ยกร่างฯ ที่อาจจะปรับ หรือไม่ปรับก็ได้ โดยการส่งคำขอแก้ไข ต้องทำให้เสร็จสิ้นก่อน 25 พ.ค.นี้
ในส่วนของ สปช.พบว่า การส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะให้สมาชิก สปช.ไปรวมกลุ่มกันกลุ่มละ 26 คน จำนวน 8 กลุ่ม คือ สปช.คนไหนไปลงชื่อเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญกับ สปช.กลุ่มไหนแล้วก็จะไปลงชื่อในกลุ่มอื่นอีกไม่ได้ คนหนึ่งลงชื่อได้แค่กลุ่มเดียว
แต่ใน 8 กลุ่มดังกล่าวจะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญกี่มาตรา กี่ประเด็นก็ได้ จะซ้ำกับกลุ่มอื่นก็ได้ โดยที่ถ้อยคำที่ขอแก้ไข อาจจะแตกต่าง หรือเหมือนกันใน 8 กลุ่ม ก็เป็นเรื่องของ สปช. แต่ละกลุ่มจะใช้สิทธิกันไป ซึ่งถึงตอนนี้มีข่าวว่าการลงชื่อของ สปช.ค่อนข้างเรียบร้อยดีแล้ว
ประเด็นใหญ่ๆ ค่อนข้างลงตัวแล้ว เหลือแค่รายละเอียดการเขียนตัวร่างเท่านั้น ซึ่งพอได้ข้อยุติแล้ว คณะทำงานกับฝ่ายกฎหมายที่อยู่ใน 8 กลุ่มนั้นก็ไปทำการร่างญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา แล้วก็เสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ต่อไป
ขณะที่ฝ่ายคณะรัฐมนตรี และ คสช.ก็มีนัดหมายกันวันที่ 19 พ.ค.นี้ ที่จะเป็นการประชุมร่วมกัน ในเรื่องการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญว่าตกลงทั้ง ครม. และ คสช.จะยื่นกันอย่างไร แต่ที่ชัดเจนก่อนหน้านี้ คือ ครม.-คสช.จะยื่นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน โดยที่ต่างฝ่ายต่างยื่นกันไป ไม่มีการยื่นรวมกัน แต่รายละเอียดต่างๆ คงต้องมาคุยกันอีกที ในวันที่ 19 พ.ค.
โดยในส่วนของคณะรัฐมนตรี มอบหมายให้ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รับผิดชอบในการรวบรวมความเห็น ข้อเสนอแนะ ของแต่ละกระทรวงว่ามีความเห็นอย่างไรต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น จะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ในการทำงาน และมีข้อคิดเห็นในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร หรือไม่ ก็ให้เสนอมาภายในไม่เกิน 14 พ.ค.นี้ จากนั้น วิษณุ ก็จะไปประมวลเพื่อส่งเป็นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ ครม. ไปยัง กมธ.ยกร่างฯ
ส่วนฝ่าย คสช.มีกระแสข่าวมาตลอดว่า คนที่รับผิดชอบในการเขียนญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของ คสช. คงเป็น มีชัย ฤชุพันธุ์ มือกฎหมายใหญ่ของ คสช.ที่เป็นบอร์ด คสช.ด้วย แต่ยังไม่มีข่าวออกมาว่า คสช.จะเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นไหน อย่างไรบ้าง คงมีแค่ความเห็นของหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เปรยๆ ว่า ถ้าใส่ทุกอย่างเข้าไปในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญมันก็ยาว มันก็เยอะ แล้วก็ข้อถกเถียงมันก็ไม่จบไม่สิ้น แต่จะเป็นรัฐธรรมนูญ ที่ต่างชาติยอมรับได้
ทำให้พอประเมินได้ว่า ฝ่าย คสช.อาจจะเสนอให้ตัดร่างรัฐธรรมนูญบางประเด็นออกไป เพราะอาจเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเนื้อหามากเกินไป ควรมีการลดทอนลง แต่ที่คนเฝ้าติดตามกันมากกว่า ก็คือ ฝ่าย คสช.จะเสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในโหมดเรื่อง “ที่มานายกรัฐมนตรี - ระบบการเลือกตั้งและการได้มาซึ่ง ส.ส. และ ส.ว. - การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ” จะเสนอสูตรอะไรขึ้นมาใหม่ๆ หรือไม่
แต่หาก คสช.อ่านออกว่า หากเสนอเรื่องพวกนี้ไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แล้วจะเป็นประเด็น ถูกโยงไปต่างๆ ก็อาจทำให้ คสช.เลือกที่จะหลบแล้วไปเสนอแก้ในส่วนอื่นๆ แต่ดูแล้ว คสช. ก็น่าจะแตะๆ เรื่องพวกนี้อยู่บ้าง แต่คงไม่มาก อาจปล่อยให้ ครม.รับหน้าเสื่อไป
ฟากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ขยับเช่นกัน เพราะแม้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 จะไม่ให้อำนาจ สนช.ในการเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่ สนช.ก็ต้องการมีบทบาทในส่วนนี้เช่นกัน เพราะอย่างน้อย สนช.ชุดนี้จะต้องเป็นฝ่ายเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสำคัญๆ เพื่อทำให้เกิดการเลือกตั้งโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.-พ.ร.บ.พรรคการเมือง
ทำให้ สนช.มีการนัดหมายคุยกันนอกรอบแบบไม่เป็นทางการช่วง 15-16 พ.ค. นี้ เพื่อหารือประเด็นว่า สนช. มีความเห็นอย่างไรในประเด็นสำคัญๆ อาทิ ที่มา ส.ส.-ส.ว.- การให้คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เป็นต้น โดยก่อนหน้านี้ สนช.ก็เคยเสนอกรอบกว้างๆ ในการร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แล้ว เมื่อหลายเดือนก่อน แต่คราวนี้น่าจะเป็นความเห็น สนช.รอบสุดท้ายที่จะเสนอไป แม้ สนช.จะไม่สามารถยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ก็ตาม แต่หากเป็นข้อเสนอที่ดี และฉีกกว่าที่ สปช.-ครม.-คสช.เสนอมา ก็อาจทำให้ กมธ.ยกร่างฯ เอาด้วยก็ได้
ในส่วนเรื่องการส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็ดำเนินไป แต่ที่ยังไม่ชัดเจนก็คือ ตกลงสุดท้ายจะมีการทำ “ประชามติ” กันหรือไม่
เพราะจนถึงเวลานี้ ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกั๊กเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ โดยพยายามโยนทำนองว่า แม้เรื่องนี้รัฐบาลที่จะต้องเป็นคนอนุมัติเงิน 3 พันล้านบาท ให้กรรมการการเลือกตั้งไปทำประชามติ แต่ก็ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจได้โดยลำพัง แต่ต้องให้เป็นความเห็นชอบร่วมกันของแม่น้ำ 5 สาย คือ ครม.-คสช.-สนช.-สปช.-กมธ.ยกร่างฯ ว่าจะให้มีการทำประชามติหรือไม่ แถมบอกทำนองอีกทั้งก็ไม่รู้ว่า การลงประชามติ จะผ่านหรือไม่ผ่าน จนถูกตีความว่าดูลักษณะแล้ว บิ๊กตู่ คงไม่ค่อยอยากทำประชามติสักเท่าไหร่
จึงทำให้เรื่องนี้ยังคลุมเครือต่อไปว่า สรุปสุดท้ายการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นหรือไม่?
แม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่าสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ คงยอมให้ทำประชามติ เพราะกระแสเสียงสนับสนุนให้ทำ จากแม่น้ำ 5 สายด้วยกันเองตลอดจนกระแสจากภายนอก ทั้งภาคประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการ องค์กรต่างๆ ก็ส่งเสียงเชียร์ให้ทำประชามติ มากกว่าไม่ให้ทำ
แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เคาะเรื่องนี้ คงเพราะเห็นว่ามีเวลาอีกนาน เลยยังไม่ต้องรีบตัดสินใจ และเชื่อว่าการประชุมร่วม ครม.กับ คสช. ในวันที่ 19 พ.ค. ก็ไม่น่าจะมีท่าที หรือมติในเรื่องนี้ออกมา เพราะดูจากลำดับเวลาแล้ว ยังมีเวลาให้ คสช. ตัดสินใจได้อยู่ เพราะขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในชั้น สนช. ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 มาตรา 46 จะใช้เวลาประมาณ 15 วันเท่านั้น และอีก 15 วันในขั้นตอนการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ สนช.เห็นชอบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรวมเวลาก็อยู่ที่ประมาณ 30 วัน
ทั้งนี้ สปช.จะต้องลงมติ เห็นชอบ-ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายในไม่เกิน 6 ส.ค. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีการทำประชามติ ที่โดยหลักจะต้องทำก่อน สปช. มีมติ 6 ส.ค. มากกว่าที่จะทำหลัง สปช. มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แม้จะมีเสียงขู่จาก สปช.บางคนว่าอาจจะโหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่ยอมปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แต่ดูแล้วยังไงเสียโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่าน ไม่โดนคว่ำมีมากกว่า ที่จะไม่ผ่านแน่นอน
การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 57 เพื่อให้มีการทำประชามติ จึงน่าจะเกิดขึ้นก่อน 6 ส.ค. ซึ่งเมื่อใช้เวลาในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ไม่เกิน 30 วัน หากทำในช่วงต้นเดือน ก.ค.ก็ยังทัน หรือให้ชัวร์ก็ปลายเดือน มิ.ย.
ดังนั้น ภายในไม่เกินกลางเดือน มิ.ย.ก็น่าจะมีความชัดเจนแล้วว่า ตกลง บิ๊กตู่จะอนุมัติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 57 เพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติ หรือไม่ หากกั๊กนานกว่านั้น อาจช้าไม่ทันการณ์ก็ได้ เว้นแต่ไม่คิดจะทำอยู่แล้ว เลยกั๊กจนเลยเวลา หรืออาจเพราะ คสช.มีแผนการอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้น?