xs
xsm
sm
md
lg

อนุ กมธ.รับฟังความเห็นฯ ชงหัก กมธ.ยกร่างฯ รื้อที่มานายกฯ คว่ำโอเพ่นลิสต์ ตัดทิ้ง ม.181-182

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดิเรก ถึงฝั่ง (แฟ้มภาพ)
อนุ กมธ.รับฟังความเห็นแก้ไข รธน.เสนอแก้ที่มานายกรัฐมนตรี คว่ำโอเพ่นลิสต์ ตัดทิ้งมาตรา 181-182 ส่วน ส.ว.ให้มี 150 คน เลือกโดยตรงจังหวัดละ 1 คน ที่เหลือ 73 คนมาจากการคัดสรรกันเองในกลุ่มอาชีพ ก่อนให้ประชาชนเลือกอีกครั้ง พร้อมให้สิทธิสมาชิก บ้านเลขที่ 111-109 ลงเลือกตั้งได้หลังติกคุกการเมือง 5 ปี เตรียมเสนอ กมธ.ยกร่างฯ 25 พ.ค.

นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรวบรวมและรับฟังความเห็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า หลังจากที่คณะอนุกรรมการฯได้ประชุมเพื่อรับฟังความเห็นจากผู้ขอแปรญัตติยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการถึงประเด็นที่จะยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วในเบื้องต้น 4-5 ประเด็นหลัก คือ 1. ที่มานายกรัฐมนตรีตามร่างของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะขอแก้ไขเป็นให้นายกรัฐมนตรีมีที่มาจาก ส.ส.เพียงอย่างเดียว แต่จะเปิดช่องไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ในกรณีเกิดวิกฤต โดยต้องได้รับเสียงสนับสนุน 2 ใน 3 จากสมาชิกทั้งสองสภา 2. ระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ตามร่าง กมธ.ยกร่างฯ ขอให้ยกเลิก โดยแก้ไขให้กลับไปใช้การเลือกตั้งในระบบเดิม แต่ประเด็นนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังมีความเห็นแตกเป็นสองแนวทางคือ ให้มี ส.ส.ระบบเขตเพียงอย่างเดียว 450 คน กับ ให้มี ส.ส.ระบบเขต 400 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมเป็น 500 คน ซึ่งต้องรอให้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองเป็นผู้ชี้ขาด

3. เรื่องที่มา ส.ว.200 คนจากการสรรหา 123 คน และเลือกตั้ง 77 คน ตามร่างของกมธ.ยกร่างฯให้แก้ไขเป็น มี ส.ว.150 คน เป็นส.ว.จังหวัด 77 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง และอีก 73 คนมาจากการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ โดยส่งตัวแทนมาให้ประชาชนเลือกตั้งอีกครั้งในขั้นตอนสุดท้าย 4. ขอให้ตัดทิ้งมาตรา 181 และ 182 เพราะไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเหนือฝ่ายรัฐสภามากเกินไป

5. มาตรา 111 (15) ที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ห้ามผู้เคยถูกถอดถอนหรือตัดสิทธิทางการดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงเล่นการเมืองนั้น จะขอแก้ไขตัดข้อความใน (15) ทิ้ง เนื่องจากความหมายตามข้อความดังกล่าวเป็นการจำกัดสิทธิผู้เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ไม่ให้เล่นการเมืองตลอดชีวิต ถือว่าไม่ถูกต้อง ผิดหลักการ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้หมายถึงกลุ่มบ้านเลขที่ 111 และ109 แต่พูดถึงในแง่หลักการทั่วไป เพราะการลงโทษจำกัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี แต่จะมาห้ามให้เล่นการเมืองตลอดไปคงไม่ถูกต้อง

นายดิเรกกล่าวว่า หลังจากนี้คณะอนุกรรมการฯ จะรับฟังความเห็นจาก สปช.ที่เสนอขอแปรญัตติไปเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 17 พ.ค. จะสรุปประเด็นที่จะขอแปรญัตติทั้งหมด ส่งให้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองชุดใหญ่ให้ความเห็นในขั้นตอนสุดท้าย เพื่อสรุปประเด็นที่จะขอแก้ไขให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป โดยจะมีประเด็นที่ขอแก้ไขประมาณ 10 กว่าประเด็น คาดว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะส่งความเห็นให้ กมธ.ยกร่างฯได้ในวันที่ 25 พ.ค.


กำลังโหลดความคิดเห็น