xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ชง 24 ข้อแก้ร่าง รธน.หนุนโอเพนลิสต์ วุฒิสภาสรรหา ห้ามแก้ 5 ปี คืนสิทธิ ส.ว.57 สมัครใหม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปธ.กมธ.พิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. มอบผลสรุปต่อ กมธ.ยกร่างฯ รวม 24 ประเด็น ใช้คำว่า “บุคคล” แทน “พลเมือง” ชง ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่แทน ส.ส.ช่วงวิกฤต ตัด ม.181-182 รวมกลุ่มการเมืองทิ้ง หนุนโอเพนลิสต์-วุฒิสภาสรรหาหมด แต่ตัดอำนาจเสนอ กม.และถอดบุคคลที่ไม่ได้แต่งตั้งเอง ค้านตั้ง กจต.-ยุุบ กสม.และสภาอื่นๆ เพิ่ม แต่ยังหนุนสภาขับเคลื่อนปฏิรูป และ กก.ยุทธศาสตร์ปฏิรูป เขียนบทเฉพาะกาลห้ามแก้ใน 5 ปี ให้สิทธิ ส.ว.รุ่นปี 57 สมัคร ส.ส.-ส.ว.ได้



วันนี้ (28 พ.ค.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.40 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.ได้มอบผลสรุปและข้อเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญิการ สนช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 24 ประเด็นโดยมีบางประเด็นเห็นสอดคล้องและบางประเด็นเห็นต่างไปจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ยินดีนำข้อเสนอของ สนช.ไปพิจารณาปรับปรุงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมจะนำความเห็นจากหน่วยงานอื่นๆ เช่นภาคประชาชน พรรคการเมือง ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาดีที่สุด

ทั้งนี้ ประเด็นที่ สนช.ได้เสนอแก้ไข 24 ประเด็น อาทิ ให้ตัดคำว่า “พลเมือง” ออกจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้โดยให้ใช้คำว่า “บุคคล” แทน กรณีที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก สนช.เห็นด้วยต่อหลักการตามาตรา 172 แต่เห็นว่าหลักการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม หรือแก้ปัญหาได้ทุกเหตุการณ์ เช่นกรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีรักษาการ จึงเสนอให้วุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เสนอให้ตัดมาตรา 181, 182 ตลอดจนกลุ่มการเมืองทิ้งทั้งหมด ขณะที่ที่มาของ ส.ส.เห็นด้วยกับการยกร่างของกรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มีระบบโอเพนลิสต์ ส่วนที่มา ส.ว.ให้มาจาการสรรหาทั้งหมด แต่ให้แบ่งกลุ่มอาชีพให้ชัดเจนและเพิ่มกรรมการสรรหาให้มากขึ้น รวมทั้งตัดอำนาจ ส.ว.ในการเสนอกฎหมาย และถอดถอนบุคคลที่วุฒิสภาไม่ได้แต่งตั้งหรือให้ความเห็นชอบ

นอกจากนี้ยังเสนอให้ กกต.คงอำนาจหน้าที่ไว้เช่นเดิมทั้งจัดการการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 และไม่ให้ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกัน ตลอดจนไม่เห็นด้วยให้ตั้งองค์ใหม่ๆขึ้นมากเกินไป เช่น สภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) อย่างไรก็ตาม ควรจัดให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติเพื่อให้สอดคล้องกับแผนดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปต่างๆ

สำหรับบทเฉพาะกาล สนช.เห็นว่าควรกำหนดเงื่อนไขห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเวลา 5 ปี ภายหลังจากการประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญโดยนำแนวคิดมาจากบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาใช้เพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ ก่อน นอกจากนี้ในมาตรา 308 (3) ควรบัญญัติให้ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่ง ณ วันที่ 24 พ.ค. 2557 และยังไม่ครบวาระแต่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งของคสช.เท่านั้น ที่สามารถเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ส.และ ส.ว.ได้ โดยไม่ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ไม่ให้ครอบคลุมถึง ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่ระหว่างปี 2551-2557 โดยเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งนี้ เนื่องจาก ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ณ วันที่ 24 พ.ค.2557 อยู่ยังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ส่วน ส.ว.ที่ปฎิบัติหน้าที่ระหว่างปี 2551-2557 ได้ดำรงตำแหน่งครบวาระแล้ว












กำลังโหลดความคิดเห็น