xs
xsm
sm
md
lg

ด่านต่อๆ ไปของร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: พระบาท นามเมือง

คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มีมติเห็นชอบร่วมกันเป็นเอกฉันท์ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

โดยจากนี้จะนำเสนอมติให้นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพิจารณาต่อไป

ซึ่งสำหรับท่านนายกฯ และหัวหน้า คสช.ก็เคยแบะท่าไว้ว่า หาก กมธ. สปช.เห็นตรงกันว่าควรจะมีการทำประชามติแล้วก็ให้มาบอก ก็คงจะต้องเตรียมตัดสินใจแล้ว

ผลดีของการทำประชามติที่ทาง กมธ.แจงมาสรุปว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุด ควรให้พลเมืองผู้เป็นเจ้าของอำนาจมีส่วนให้ความเห็นชอบ เพื่อถือเป็นสัญญาประชาคม สอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของพลเมืองในร่างรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีที่มาจากการออกเสียงประชามติ

ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่กรรมาธิการยกร่างฯ จะได้ชี้แจงในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนและนักการเมืองได้เข้าใจ และสุดท้ายคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะต้องมีการทำประชามติ ดังนั้นการจะบังคับใช้ร่างรัฐธรรมนูญก็ควรมีการออกเสียงประชามติเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติรัฐธรรมนูญ ยังเป็นเรื่องที่ทางฝ่ายรัฐบาลและ คสช.ผู้กุมอำนาจนั้นยังอีหลักอีเหลื่ออยู่มาก เพราะเท่ากับการลงประชามติจะต้องเปิดโอกาสให้มีการโต้แย้งถกเถียงกันว่าด้วยเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็แน่นอนว่า ถ้ามีการเปิดโอกาสให้คุยกันเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาสำคัญทางการเมืองในอนาคต การแวะฉกกลับมาวกพูดเรื่องการเมืองปัจจุบันนั้นก็มี ซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ที่ทางผู้กุมอำนาจรัฐในปัจจุบันมองว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของความขัดแย้งนั้น ถือเป็นของแสลงต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

แต่ถ้าให้มีการทำประชามติแบบมัดปากให้ผู้ยกร่างพูดอยู่ได้ฝ่ายเดียว ก็อาจจะเป็นที่ครหาหรือเป็นช่องที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยจะอ้างได้เสมอว่าการทำประชามตินั้นไม่สมบูรณ์ ไม่ใช่ประชามติแบบประชาธิปไตยก็มี

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านความเห็นชอบของ สปช.เสียก่อน ซึ่ง สปช.หลายคนก็ออกมาเงื้อง่ากันแล้วว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญในส่วนที่มีกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองของ สปช.ท้วงติงในประเด็นเรื่องที่มานายกรัฐมนตรี การเลือกตั้ง ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์ และที่มา ส.ว.จากการสรรหา ถ้าไม่แก้ไขก็จะมีผู้ไม่โหวตให้ผ่าน ซึ่งถ้าเสียง สปช.ฝ่ายที่จะไม่เอาด้วยมีจำนวนมากพอ ก็อาจจะทำให้ไม่ต้องมาปวดหัวเถียงกันเรื่องประชามติอีก เพราะเท่ากับรัฐธรรมนูญยังไม่ปฏิสนธิด้วยซ้ำ จึงไม่ต้องลุ้นว่าจะแท้งหรือไม่แท้งตอนทำประชามติอีก

สรุปว่าในตอนนี้ มีสามด่านให้ลุ้น ด่านแรกคือการพิจารณาลงมติรอบสุดท้ายของ สปช.ว่าจะเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ที่กำหนดไว้คือในวันที่ 6 สิงหาคม และในระหว่างนั้นก็จะลุ้นกันว่า ทาง คสช. หรือเอาเข้าจริงอยู่ที่คนคนเดียว คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะ “ยอม” ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่

หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้า สปช.เห็นชอบ รัฐธรรมนูญก็จะถือว่าผ่านเกิด ให้ประธาน สปช.นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยใช้บังคับได้เลย

แต่ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้จะต้องมีการทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็อาจจะต้องไปดูกันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีเงื่อนไขอย่างไร

ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติก็จบไปไม่มีปัญหา รอเวลาเลือกตั้งกันตามโรดแมปที่ประกาศไว้ หรืออาจจะยืดออกไปบ้างแบบทดเวลา ในช่วงของการทำประชามติ

แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติเล่า จะเอาอย่างไรกัน?

ข้อเสนอของฝ่ายการเมืองทั้งสองฝ่าย ก็คือการให้ประชามติแบบ “ประกวด” ว่า ถ้าไม่ชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับร่างใหม่นี้ จะเอาฉบับไหนมาใช้บังคับ

ฝ่ายหนึ่งเสนอฉบับปี 2540 อีกฝ่ายเสนอฉบับปี 2550 ซึ่งข้อเสนอแบบนี้เป็นข้อเสนอแบบ “นักการเมือง” ที่หวังจะกลับสู่การเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด โดยอาศัยรัฐธรรมนูญที่คิดว่าทำให้ตัวเองได้เปรียบเข้าว่า

หรือหากไม่อย่างนั้น อาจจะถือผลว่า เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ให้ดำเนินกระบวนการใหม่ทั้งหมด เทียบเท่ากรณีไม่ผ่านการพิจารณาของ สปช.

ต้องมีการสรรหา สปช. และ กมธ.กันใหม่ เรียกว่าตายตกไปตามรัฐธรรมนูญ

และเท่ากับว่า รัฐบาลปัจจุบัน และนายกฯ จะต้องดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปในระยะเวลานั้น คือเท่ากับเป็นการกด Reset ย้อนระบบไปใหม่หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเลยทีเดียว ซึ่งต้องวัดใจกันว่า ทางฝ่ายทหารนั้นยังอยากจะอยู่ในอำนาจหรือรักษาการต่อไปหรือไม่ ในขณะที่สถานการณ์ต่างๆ บีบเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่การแก้ปัญหาจะอ้างว่าเป็นปัญหาตกค้างมาจากรัฐบาลที่แล้วๆ ก็ไม่รู้ว่าข้อแก้ตัวลักษณะดังกล่าวที่เริ่ม “ซ้ำ” ไปมาหลายครั้งแล้ว จะยังฟังขึ้นอยู่หรือเปล่า

คำถามสำคัญคือประชาชนยังอยากให้ท่านเป็นรัฐบาลอยู่หรือไม่ เพราะแม้จะมีเสียงติติงที่ว่า แต่ก็ยังปรากฏว่าคนที่ชอบที่สนับสนุนรัฐบาลก็ยังมีอยู่แบบครึ่งๆ

หรือบางครั้งอาจจะคิดนอกกรอบ แหวกแนวไปเลยว่า ถ้ามีการทำประชามติ อาจจะเป็นประชามติแบบปลายเปิดให้ประชาชนเลือกกันเลย

คำถามคือท่านเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้หรือไม่

ก. เห็นชอบ

ข. ไม่เห็นชอบ ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้แทน

ค. ไม่เห็นชอบ ควรนำรัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้แทน

ง.ไม่เห็นชอบ ควรดำเนินกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่

แบบนี้อาจจะดีก็ได้ เพราะอย่างไรก็ถือว่าเป็นฉันทามติจากประชาชนว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญและอนาคตของประเทศต่อไปจากนี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น