โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ยันรับฟังข้อท้วงติงร่าง รธน. ยอมแก้ไขบางประเด็น ตัดทิ้ง กก.กลั่นกรองผู้สมัคร ส.ว.จังหวัด รื้อที่มา ส.ว.สรรหา พร้อมปรับแก้ ม.298 ลดกระแสต้านสืบทอดอำนาจ ย้ำไม่มีแนวคิดโละกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีหลายฝ่ายเรียกร้องการขอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นต่างๆ นั้น กมธ.ยกร่างฯ พร้อมรับฟังเสียงท้วงติงจากทุกฝ่ายในประเด็นต่างๆ เท่าที่ดูประเด็นที่ กมธ.ยกร่างฯ อาจจะยืดหยุ่นแก้ไขอาทิ เรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัคร ส.ว.จังหวัด มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง เนื่องจากถูกมองว่า ไม่มีประโยชน์ที่จะตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัคร ส.ว.จังหวัด ให้เหลือ 10 คน เพราะการเลือกตั้ง ส.ว. ที่ผ่านมา มีแค่ 2 - 3 จังหวัดเท่านั้น ที่มีผู้สมัครเกิน 10 คน จึงถูกมองว่า ไม่มีความจำเป็น เปลืองงบประมาณ และไม่มีประโยชน์ในการตั้ง ขณะนี้แน่นอนแล้วว่า ต้องมีการเลือกตั้ง ส.ว. 77 จังหวัด ถ้าไม่ให้เลือกตั้งเลย จะมีกระแสว่า ร่างรัฐธรรมนูญถอยหลังมากเกินไป
ส่วนเรื่องที่มา ส.ว.สรรหานั้น ในส่วนที่ให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองไม่น่าห่วง แต่ในส่วนที่ให้ผู้แทนเกษตรกรรม แรงงาน ท้องถิ่น คัดเลือกกันเอง จำนวน 30 คน เกรงว่า อาจจะมีการจัดตั้ง ซื้อคะแนนกัน ทำให้คนมีเงินสามารถเข้าสู่ตำแหน่ง ส.ว. ได้ อาจจะต้องพิจารณาว่า จะแก้ไขอย่างไร
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนเนื้อหาภาค 4 เรื่องการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ในมาตรา 298 เรื่องการมีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งกำหนดให้มีอำนาจสามารถเสนอให้การตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคล ซึ่งให้ความจริงอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินงานต่อคณะกรรมการอิสระฯนั้น เกรงว่า อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ถ้าผู้ใดสารภาพผิดแล้ว ให้ออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้เลย ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ ต้องปรับแก้ให้ชัดเจนว่า จะเป็นการเสนอพระราชกฤษฎีกาในภาพรวมของบางกลุ่ม ที่มีการสารภาพผิด แต่ไม่รวมถึงพวกแกนนำ ผู้ต้องหาคดีอาญา ข้อท้วงติงจากหลายฝ่ายเหล่านี้ กมธ.ยกร่างฯ เห็นแล้ว ซึ่งมาตรา 298 อาจจะมีการปรับแก้ให้ชัดเจนขึ้น หรือไม่ก็ตัดทิ้ง
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 120 คน ซึ่งถูกครหาว่าสืบทอดอำนาจนั้น กมธ.ยกร่างฯเห็นพ้องต้องกันว่า จะปรับใน 2 ทิศทาง คือ 1. ลดจำนวนลง 2. ไม่ระบุสัดส่วนว่า ต้องมีที่มาจากที่ใดบ้าง เพื่อลดข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ มาตรานี้ กมธ.ยกร่างฯ คิดอย่างบริสุทธิ์ใจ เพื่อสืบทอดงาน แต่เมื่อมีกระแสต้าน ก็จะรับฟัง เชื่อได้ว่าเกือบ 100% ว่า กมธ.ยกร่างฯ จะปรับแก้และลดจำนวนให้เหมาะสม เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเห็นชอบร่วมกัน แต่เรื่องบทบาท อำนาจยังคงเหมือนเดิมคือ ช่วยเสนอกฎหมายด้านการปฏิรูป และให้ข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปแก่ ครม. และรัฐสภา ไม่มีอำนาจเหนือสภา หรือรัฐบาลตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด
สำหรับองค์กรเกิดใหม่ตามรัฐธรรมนูญ ก็มีเพียงไม่กี่องค์กร อาทิ สมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ส่วนที่บอกว่า มี 11 องค์กรนั้น ส่วนใหญ่เป็นองค์กรเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่แค่เปลี่ยนชื่อ และบางส่วนเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ไม่ใช่องค์กรใหญ่โตอย่างที่วิจารณ์กัน ไม่มีสายสะพาย ไม่มีเงินเดือน มีแต่เบี้ยประชุม
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า อยากฝากถึงกรณีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ที่มาร้องแรกแหกกระเชอเพราะกลัวว่า ในอนาคตจะไม่มีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอนั้น ขอชี้แจงว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ได้คิดไปไกลขนาดนั้น มาตรา 82 ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เหมือนมาตรา 84 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ให้กระจายการปกครองส่วนท้องถิ่นไปสู่ระดับจังหวัด เพียงแต่ในมาตรา 285 เขียนน่ากลัวว่า ให้มีกฎหมายการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดให้เสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 ปี เพื่อกระจายและ ยกระดับการปกครองส่วนท้องถิ่นสู่ระดับจังหวัด ทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านกลัวจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กลัวว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะหายไป ทั้งที่ความจริงไม่มีความประสงค์แบบนั้น ปัญหาคือ เราไปแก้อำนาจของใคร เขาก็จะตีเรา แต่ทุกอย่างทำบนเหตุผล ความมุ่งมั่นที่อยากให้เกิดผลดีกับการบริหารประเทศไม่ใช่ว่า ไม่ชอบใครแล้วจะยุบ กมธ.ยกร่างฯ ยอมรับว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างมาไม่ได้ดีทั้งหมด ถ้ามีข้อเสนอที่มีเหตุผลก็พร้อมปรับแก้