xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ประเด็นร้อน ร่างรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เมื่อวันที่ 25พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้รับคำขอแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ จากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้เป็นผู้ที่มีอำนาจเสนอ จากนี้ไปก็เป็นช่วงที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะทำการพิจารณาถึงข้อเสนอเหล่านั้น

จากการเปิดเผยของ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ ระบุว่าได้มีคำขอแก้ไขทั้งหมดในเบื้องต้น 9 คำขอ จาก สปช. 8 คำขอ และ จากครม. 1 คำขอ ขั้นตอนจากนี้ก็จะให้ตัวแทนผู้ยื่นคำขอ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 5 คน ตั้งแต่วันที่ 2-7 มิ.ย.นี้

ประเด็นหลักๆ ที่ยังมีข้อถกเถียงกันมาก อาทิ เรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นส.ส. เพื่อแก้ปัญหาเมื่อการเมืองเจอทางตันเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นการเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มาจากขั้วอำนาจ หรือกลุ่มทุน แต่กรรมาธิการยกร่าง ก็เสนอว่า ในกรณีส.ส.จะเลือกบุคคลที่ไม่ได้เป็นส.ส. มาเป็นนายกฯ จะต้องใช้เสียงมากกว่าปกติ คือใช้เสียง 2 ใน 3 ของจำนวนส.ส.ในสภา แต่กลุ่มผู้คัดค้านก็ยังต้องการให้ระบุให้ชัด ถึงกรณีวิกฤติการเมืองอย่างไร จึงจะมีนายกฯคนนอกได้
 
ซึ่งกรณีเปิดช่องนายกฯคนนอกนี้ ไม่มีคำขอเสนอแก้ไขจากครม.

ส่วนเรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ก็มีเสียงคัดค้านจากตัวแทนพรรคการเมืองมากเช่นกัน ซึ่งใน ร่าง รธน. ให้ส.ว.มาจาก 1.การเลือกกันเองของอดีตปลัดกระทรวง และอดีตข้าราชการ ฝ่ายทหารที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้บัญชาการ เหล่าทัพ ประเภทละไม่เกิน 10 คน 2 . มาจากผู้แทนสภาวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพ หรืออาชีพที่มีกฎหมายจัดตั้ง โดยให้เลือกกันเอง จำนวนไม่เกิน 15 คน 3. มาจากผู้แทนองค์กรด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการ ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น ซึ่งเลือกกันเอง จำนวนไม่เกิน 30 คน 4. มาจากการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และคุณธรรม ด้านต่างๆ (เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และสังคม เป็นต้น) จำนวน 58 คน 5. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน โดยเป็นการเลือกจากรายชื่อที่ได้รับการคัดกรองมาแล้ว จากคณะกรรมการกลั่นกรอง

เสียงคัดค้านส่วนใหญ่ต้องการให้มาจากเลือกตั้งทั้งหมด หรือ จากข้อ 5 ให้ปรับแก้เป็นการเลือกผู้สมัครได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านการคัดกรองจาก คณะกรรมการกลั่นกรอง 

มาตรา 181-182 ที่มีเสียงคัดค้านมาก จากนักการเมือง นักวิชาการ สมาชิกสภาปฏิรูป รวมทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ก็ไม่เห็นด้วย โดยเห็นว่าเป็นการให้อำนาจฝ่ายบริหาร (นายกฯ) อยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ (สภาผู้แทนฯ)

โดย มาตรา 181 ให้นายกฯ ยื่นญัตติไว้วางใจตัวเอง ถ้าไม่ได้รับความไว้วางใจ ก็มีอำนาจยุบสภาได้ จึงเท่ากับเป็นการกีดกันไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะส.ส.ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาลล้วนกลัวการยุบสภา มาตรานี้จึงเป็นช่องทางให้นายกฯ สามารถหนีการถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาได้ตลอดวาระ 4 ปี

ส่วนมาตรา 182 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายเร่งด่วน ให้อำนาจนายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษได้ในหนึ่งสมัยประชุม ถ้าฝ่ายค้านไม่อภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง ก็ถือว่ากฎหมายผ่าน หรือ ถ้าผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ถือว่ากฎหมายฉบับนี้ผ่านไปโดยปริยาย ซึ่งเกรงกันว่า นายกฯจะใช้ช่องทางตามมาตรานี้ ออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจะนำประเทศไปสู่วิกฤติความขัดแย้งได้อีกในอนาคต

แต่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เคยชี้แจงถึงเจตนารมย์ในร่าง มาตรา 181-182 ว่า เป็นมาตรการป้องกันความเสี่ยง ในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสม เพราะส.ส.ร่วมรัฐบาล อาจใช้กฎหมายที่รัฐบาลเสนอเข้ามาเป็นข้อต่อรอง ขู่ว่าจะไม่ยกมือให้ผ่าน ซึ่งจะทำให้เสถียรภาพรัฐบาลไม่มั่นคง จึงเขียนป้องกันไว้ และในกรณีที่กฎหมายผ่านสภาตามช่องทางนี้ ก็ใช่ว่าจะนำไปบังคับใช้ได้ทันที แต่ต้องผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา อีกชั้นหนึ่ง

มาตรา 254 ที่กำหนดให้การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของสองสภารวมกัน หากนายกฯ ตั้งรัฐบาลที่เกินกว่า 261 เสียงได้ ก็จะไม่ถูกถอดถอนเลย เพราะเสียงไม่พอให้ถอดถอน กลุ่มที่คัดค้านจึงไม่เห็นด้วยที่จะให้ ส.ส.เข้าไปมีส่วนร่วมในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ขณะที่กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ออกมาเรียกร้องให้ตัดทิ้ง มาตรา284-285 ที่หนดว่า จะต้องมีการตรากฎหมาย และสร้างกลไก จัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัด ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งจะทำให้ข้าราชการส่วนภูมิภาค ที่รวมไปถึงกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน จะไม่มีอำนาจ หรือบทบาท ในท้องถิ่นอีกต่อไป

มาตรา 298 เรื่องการมีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่สามารถเสนอออกพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในอนาคต ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เพิ่งผ่านมา ซึ่ง ครม.ก็ไม่ได้เสนอปรับปรุงแก้ไข มาตรานี้เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอผ่าน ครม. ไปถึงคณะกรรมาธิการยกร่างฯ เช่น ให้กกต. มีอำนาจในการประกาศงดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา แล้วให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอพระราชกฤษฎีกาตามที่ กกต.เสนอ เพื่อป้องกันเวลาเกิดปัญหาวิกฤตที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ให้ยกเลิกการมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) มาจัดการเลือกตั้ง โดยให้กกต.เป็นเพียงผู้ควบคุมการดำเนินการ

ยกเลิกการลงคะแนนส.ส. แบบโอเพ่นลิสต์ เพราะระบบดังกล่าวจะทำลายเจตนารมณ์ของระบบบัญชีทั้งหมด จะกลายเป็นว่า ประชาชนเลือกตัวบุคคล 2 คนในการเลือกตั้ง คือ เลือกคนที่ชอบในเขตเลือกตั้ง และ ในระบบบัญชี ซึ่งไม่ได้ลงคะแนนเลือกพรรค ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรครุนแรง ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน ต้องหาเสียงโจมตีกันเองเพื่อให้ตัวเองได้คะแนนจากประชาชนมากที่สุด

ยกเลิกกลุ่มการเมือง เพราะจะทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นปัญหาต่อการทำงานของฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ เพราะจะมีการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ทั้งยังเปิดช่องให้กลุ่มนายทุนเข้ามาแทรกแซงกอบโกยผลประโยชน์ได้ง่าย

ให้คงอำนาจ กกต.ในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และ สั่งเลือกตั้งใหม่ได้ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้ถือว่า คำวินิจฉัยของกกต.เป็นที่สุด

เพิ่มอำนาจ กกต.ในการเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม รวมถึงขอให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวน หรือวินิจฉัยชี้ขาด

ให้กำหนดเรื่องการนับคะแนนว่า ให้นับที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วส่งผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไปรวมที่เขตเลือกตั้ง เพื่อนับคะแนนรวม แล้วประกาศผลโดยเปิดเผย ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่กรรมธิการยกร่างฯ กำหนดให้ มีตัวแทนจากฝ่ายการเมือง 4 คน คือ จากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน คณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย เพราะอาจทำให้การเมืองแทรกแซงได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการยกร่างฯ ไม่มีแผนที่จะเชิญตัวแทนองค์กรอิสระ พรรคการเมือง หรือฝ่ายอื่นๆเข้าชี้แจงแสดงเหตุผล โดยจะเชิญเฉพาะ ตัวแทนจาก ครม. และสปช.เท่านั้น ก่อนจะทำการปรับปรุง แก้ไข สรุปเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง ส่งให้ สปช. ในวันที่ 23 ก.ค. ซึ่ง สปช.จะมีเวลา 15 วัน ในการพิจารณา และมีมติเห็นด้วยหรือไม่ ในวันที่ 6 ส.ค.

หากมติของสปช. ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ นี้ ก็จะต้องนับหนึ่งใหม่ ด้วยการตั้งสปช.ชุดใหม่ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่ มาทำการยกร่าง แต่ถ้าสปช.เห็นชอบ จึงจะไปถึงขั้นตอนการทำประชามติ
 
ถึงตอนนั้นก็ขึ้นอยู่กับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นผู้ชี้ขาดว่า จะทำประชามติหรือไม่ ซึ่งก็มีความเห็นจาก หัวหน้าคสช. ออกมาแล้วว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านแบบไม่มีเสียงทักทวง คัดค้านมาก ก็ไม่ต้องทำประชามติ เว้นแต่จะมีเสียงคัดค้านมาก ก็จะให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้ตัดสิน


กำลังโหลดความคิดเห็น