xs
xsm
sm
md
lg

กกต.เสนอขออำนาจงดเลือกตั้ง-แจกแดง-เรียกสอบ ค้านโอเพนลิสต์-กลุ่มการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกต.ส่งข้อเสนอแนะแก้รัฐธรรมนูญ ถึง ครม.-คสช. รวม 8 ประเด็น ให้อำนาจประกาศงดเลือกตั้ง รับเหตุสุดวิสัย ค้าน กจต.จัดเลือกตั้ง แต่ถ้าให้ทำก็ให้เริ่มทันที เลิกโอเพนลิสต์ ชี้ทำลายเจตนารมณ์ระบบบัญชีทั้งหมด เกิดความแตกแยกในพรรค ตัดกลุ่มการเมือง คืนสิทธิแจกใบแดง เพิ่มอำนาจเรียกเอกสาร บุคคล ให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เว้นมีเหตุจำเป็น ค้านฝ่ายการเมืองเป็น กก.สรรหา กกต.



วันนี้ (20 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่ก่อนหน้าที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการได้พิจารณาเนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญว่าเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานของหน่วยงานหรือไม่พร้อมให้จัดทำข้อเสนอกลับมาเพื่อที่ ครม.จะได้พิจารณาและเสนอความเห็นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 36 วรรคสามกำหนดไว้แล้ว โดยข้อเสนอแนะที่ กกต.จัดส่งเป็นเอกสารจำนวน 24 หน้า รวม 8 ประเด็น ประกอบด้วย 1. เสนอให้ กกต.มีอำนาจในการประกาศงดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาแล้วให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอพระราชกฤษฎีกาตามที่ กกต.เสนอ เพื่อป้องกันเวลาเกิดปัญหาวิกฤตที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และให้ กกต.สามารถกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ ใหม่ได้ รวมทั้งมีอำนาจไม่จัดให้มีการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งๆ นั้น หากเห็นว่าจำนวนหน่วยเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป เผื่อเกิดกรณีเหตุจลาจล หรือเหตุสุดวิสัยอื่นที่ทำให้ลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นไม่ได้

2. ให้ยกเลิกการมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) มาจัดการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.เป็นผู้ควบคุม ดำเนินการ และจัดการให้มีการเลือกตั้งเช่นเดิม แต่หากจะยังให้มี กจต. ก็ให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลมาตรา 308 (1) ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ กจต.ทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ครั้งแรกหลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เลย เพื่อจะได้มีประสบการณ์สามารถนำไปใช้ในการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่ในเวลานั้นจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

3. ให้ยกเลิกการลงคะแนน ส.ส.แบบโอเพนลิสต์ โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นเพียงบัญชีเดียวและอาจระบุด้วยว่าต้องการให้ผู้สมัครในบัญชีนั้นคนใดเป็น ส.ส. โดยในกรณีบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใดได้คะแนนเป็นสัดส่วนที่ทำให้ได้รับการจัดสรร ส.ส. ก็ให้ดำเนินการจัดสรรให้พรรคการเมืองนั้นตามสัดส่วนโดยให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือกซึ่งได้รับคะแนนมากที่สุดเรียงไปตามลำดับเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง

ทั้งนี้ กกต.ให้เหตุผลในการยกเลิกการเลือกตั้ง ส.ส.โอเพนลิสต์ว่าระบบดังกล่าวจะทำลายเจตนารมณ์ของระบบบัญชีทั้งหมด เพราะจะกลายเป็นประชาชนเลือกตัวบุคคล 2 คนในการเลือกตั้ง คือ เลือกคนที่ชอบในเขตเลือกตั้ง และในระบบบัญชี มิได้ลงคะแนนเลือกพรรค ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรครุนแรง ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันต้องหาเสียงโจมตีกันเองเพื่อให้ตัวเองได้คะแนนจากประชาชนมากที่สุด เอกภาพในการหาเสียงเพื่อพรรคหายไป นักการเมืองทุกคนกลายเป็นคู่แข่งกันหมด ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบการเมืองของประเทศโดยรวม ผู้สมัครที่มาจากจังหวัดที่มีประชากรมากจะได้เปรียบผู้สมัครที่มาจากจังหวัดที่ประชากรน้อย ประชากรมากกลายเป็นตัวกำหนดว่าผู้สมัครคนใดในบัญชีรายชื่อมีโอกาสได้รับเลือกตั้ง ส่งผลอนาคตพรรคการเมือง ผู้สมัครก็จะมุ่งสนใจแต่จังหวัดที่มีประชากรมาก เกิดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างจังหวัด และไม่สามารถป้องกันอิทธิพลการครอบงำของนายทุนได้เพราะนายทุนไม่จำเป็นต้องมาลงเลือกตั้ง แต่สามารถใช้อิทธิพลครอบงำพรรคการเมืองได้อยู่แล้วโดยการอยู่เบื้องหลัง

4. ให้ยกเลิกกลุ่มการเมือง เพราะกลุ่มการเมืองจะทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่พัฒนาไปเป็นสถาบันการเมือง กลายเป็นปัญหาต่อการทำงานของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เพราะจะมีการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ทั้งยังเปิดช่องให้กลุ่มนายทุนเข้ามาแทรกแซงกอบโกยผลประโยชน์ได้ง่าย ขณะที่การตรวจสอบและควบคุมการรับบริจาคเงินทำได้ยาก

5. คงอำนาจ กกต.ในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้ถือว่าคำวินิจฉัยของ กกต.เป็นที่สุด เพราะการที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต.มีอำนาจก่อนการประกาศผลเลือกตั้งเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่ไม่สามารถขจัดผู้ทุจริตการเลือกตั้งออกไปได้ นักการเมืองไม่ยำเกรงกฎหมายแต่กล้าที่จะกระทำทุจริตฝ่าฝืนกฎหมายมากยิ่งขึ้น

6. ให้เพิ่มอำนาจ กกต.ในการเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม รวมถึงขอให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนหรือวินิจฉัยชี้ขาด

7. ให้กำหนดเรื่องการนับคะแนนว่าให้นับที่หน่วยเลือกตั้งแล้วส่งผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไปรวมที่เขตเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนรวมแล้วประกาศผลโดยเปิดเผย เว้นเป็นกรณีมีความจำเป็นเฉพาะท้องที่ หรือมีเหตุอันสมควรอื่น ให้กกต.มีอำนาจในการกำหนดให้นับคะแนน หรือรวมผลการนับคะแนน และประกาศผลการนับคะแนนเป็นอย่างอื่นได้ โดยเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.กำหนด

8. ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต.ที่กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีตัวแทนจากฝ่ายการเมือง 4 คน คือ จากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน คณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย เพราะอาจทำให้การเมืองแทรกแซงได้ง่าย ขัดเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์กรอิสระ โดยเสนอว่าควรยึดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 50 เนื่องจากแค่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านร่วมเป็นกรรมการสรรหา ก็ถือว่ายึดโยงกับประชาชนแล้ว อีกทั้งไม่ควรห้ามผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา หรือตุลาการ เข้ารับการสรรหาเป็น กกต. เพราะภารกิจของ กกต.จำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่มีความเชียวชาญด้านอรรถคดี อย่างไรก็ตาม กกต.ทั้ง 5 คน อาจมีการแถลงจุดยืนต่อการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอีกครั้งในปลายสัปดาห์นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น