xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ชงโละกลุ่มการเมือง-กจต. ล้มเฃลือกตั้ง"โอเพ่นลิสต์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ได้ส่งข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติม ร่าง รัฐธรรมนูญไปยัง คณะรัฐมนตรี (ครม.)และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามที่ก่อนหน้าที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทุกส่วนราชการได้พิจารณาเนื้อหาสาระ ร่างรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานของหน่วยงาน หรือไม่ พร้อมให้จัดทำข้อเสนอกลับมาเพื่อที่ ครม. จะได้พิจารณาและเสนอความเห็น ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 36 วรรคสาม กำหนดไว้
โดยข้อเสนอแนะที่ กกต.จัดส่งเป็นเอกสาร จำนวน 24 หน้า รวม 8 ประเด็น ประกอบด้วย
1. เสนอให้กกต. มีอำนาจในการประกาศงดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกา แล้วให้กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอพระราชกฤษฎีกาตามที่ กกต.เสนอ เพื่อป้องกันเวลาเกิดปัญหาวิกฤตที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร และให้กกต. สามารถกำหนดวันลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นๆใหม่ได้ รวมทั้งมีอำนาจไม่จัดให้มีการลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้น หากเห็นว่าจำนวนหน่วยเลือกตั้ง และ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่ทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงไป เผื่อเกิดกรณีเหตุจลาจล หรือ เหตุสุดวิสัยอื่น ที่ทำให้ลงคะแนนในหน่วยเลือกตั้งนั้นไม่ได้
2. ให้ยกเลิกการมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต) มาจัดการเลือกตั้ง โดยให้ กกต.เป็นผู้ควบคุม ดำเนินการ และจัดการให้มีการเลือกตั้งเช่นเดิม แต่หากจะยังให้มี กจต. ก็ให้ยกเลิกบทเฉพาะกาล มาตรา 308 (1) ของร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ กจต.ทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ครั้งแรก หลังรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เลย เพื่อจะได้มีประสบการณ์สามารถนำไปใช้ในการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่ในเวลานั้นจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
3. ให้ยกเลิกการลงคะแนน ส.ส.แบบโอเพ่นลิสต์ โดยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่พรรคการเมืองจัดทำขึ้นเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่า ต้องการให้ผู้สมัครในบัญชีนั้นคนใดเป็น ส.ส. โดยในกรณีบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใดได้คะแนนเป็นสัดส่วนที่ทำให้ได้รับการจัดสรร ส.ส. ก็ให้ดำเนินการจัดสรรให้พรรคการเมืองนั้นตามสัดส่วน โดยให้ผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อที่ประชาชนเลือก ซึ่งได้รับคะแนนมากที่สุดเรียงไปตามลำดับเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
ทั้งนี้ กกต.ให้เหตุผลในการยกเลิกการเลือกตั้งส.ส. โอเพ่นลิสต์ว่า ระบบดังกล่าว จะทำลายเจตนารมณ์ของระบบบัญชีทั้งหมด เพราะจะกลายเป็นประชาชนเลือกตัวบุคคล 2 คน ในการเลือกตั้ง คือ เลือกคนที่ชอบในเขตเลือกตั้ง และในระบบบัญชี มิได้ลงคะแนนเลือกพรรค ขณะเดียวกันจะทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรครุนแรง ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน ต้องหาเสียงโจมตีกันเองเพื่อให้ตัวเองได้คะแนนจากประชาชนมากที่สุด เอกภาพในการหาเสียงเพื่อพรรคหายไป นักการเมืองทุกคนกลายเป็นคู่แข่งกันหมด ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบการเมืองของประเทศโดยรวม ผู้สมัครที่มาจากจังหวัดที่มีประชากรมาก จะได้เปรียบผู้สมัครที่มาจากจังหวัดที่ประชากรน้อย ประชากรมาก กลายเป็นตัวกำหนดว่าผู้สมัครคนใดในบัญชีรายชื่อ มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง ส่งผลอนาคตพรรคการเมือง ผู้สมัคร ก็จะมุ่งสนใจแต่จังหวัดที่มีประชากรมาก เกิดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างจังหวัด และไม่สามารถป้องกันอิทธิพลการครอบงำของนายทุนได้ เพราะนายทุนไม่จำเป็นต้องมาลงเลือกตั้ง แต่สามารถใช้อิทธิพลครอบงำพรรคการเมืองได้อยู่แล้ว โดยการอยู่เบื้องหลัง
4. ให้ยกเลิกกลุ่มการเมือง เพราะกลุ่มการเมืองจะทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่พัฒนาไปเป็นสถาบันการเมือง กลายเป็นปัญหาต่อการทำงานของฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ เพราะจะมีการต่อรองผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ทั้งยังเปิดช่องให้กลุ่มนายทุนเข้ามาแทรกแซงกอบโกยผลประโยชน์ได้ง่าย ขณะที่การตรวจสอบ และควบคุมการรับบริจาคเงินทำได้ยาก
5. คงอำนาจ กกต.ในการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และสั่งเลือกตั้งใหม่ได้ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง โดยให้ถือว่า คำวินิจฉัยของกกต.เป็นที่สุด เพราะการที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ กกต.มีอำนาจก่อนการประกาศผลเลือกตั้งเพียงสั่งเลือกตั้งใหม่ ไม่สามารถขจัดผู้ทุจริตการเลือกตั้งออกไปได้ นักการเมืองไม่ยำเกรงกฎหมาย แต่กล้าที่จะกระทำทุจริตฝ่าฝืนกฎหมายมากยิ่งขึ้น
6. ให้เพิ่มอำนาจ กกต.ในการเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม รวมถึงขอให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวน หรือวินิจฉัยชี้ขาด
7. ให้กำหนดเรื่องการนับคะแนนว่า ให้นับที่หน่วยเลือกตั้งแล้วส่งผลการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งไปรวมที่เขตเลือกตั้ง เพื่อนับคะแนนรวม แล้วประกาศผลโดยเปิดเผย เว้นเป็นกรณีมีความจำเป็นเฉพาะท้องที่ หรือมีเหตุอันสมควรอื่น ให้ กกต.มีอำนาจในการกำหนดให้นับคะแนน หรือรวมผลการนับคะแนน และประกาศผลการนับคะแนนเป็นอย่างอื่นได้ โดยเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และ ส.ว. กำหนด
8. ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่กรรมธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ มีตัวแทนจากฝ่ายการเมือง 4 คน คือ จากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน คณะรัฐมนตรี ร่วมเป็นกรรมการสรรหาด้วย เพราะอาจทำให้การเมืองแทรกแซงได้ง่าย ขัดเจตนารมณ์การจัดตั้งองค์กรอิสระ โดยเสนอว่า ควรยึดองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 50 เนื่องจากแค่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน ร่วมเป็นกรรมการสรรหา ก็ถือว่ายึดโยงกับประชาชนแล้ว อีกทั้งไม่ควรห้ามผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษา หรือตุลาการ เข้ารับการสรรหาเป็น กกต. เพราะภารกิจของ กกต. จำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่มีความเชียวชาญด้านอรรถคดี
อย่างไรก็ตาม กกต.ทั้ง 5 คน อาจมีการแถลงจุดยืนต่อการเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอีกครั้ง ในปลายสัปดาห์นี้

** กมธ.ปฏิรูปการเมืองตัด ม.181-182

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. เปิดเผยถึงการสรุปความเห็นเพื่อเสนอแปรญัตติให้กรรมาธิการยกร่างฯ ปรับปรุงแก้ไขว่า จะส่งคำแปรญัตติทั้งหมดให้กับ คณะกรรมาธิการยกร่างฯได้เร็วสุด ในวันที่ 22 พ.ค. หรือช้าสุด วันที่ 25 พ.ค. สำหรับประเด็นที่เสนอ เช่น ให้ตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติ กลุ่มการเมืองเล็กไม่มีโอกาสได้ เนื่องจากกำหนดเป็นภาค หากในภาคนั้นได้ไม่ถึง 7-8 หมื่นคน ก็ไม่มีสิทธิได้ ส.ส. แตกต่างจากเดิมที่ใช้คะแนนรวมทั้งประเทศ ดังนั้น สิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯ คิดจึงไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ นอกจากนี้ยังเสนอให้เลิกระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ตัดมาตรา 181 และ 182 ทิ้ง เพราะเป็นการทำลายดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วน การจัดการเลือกตั้ง ให้ กกต.ดำเนินการเหมือนเดิม และมีอำนาจแจกใบแดงก่อนได้ โดยเปิดช่องให้ผู้ได้รับผลกระทบ ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลาง หรือศาลอุทธรณ์ภาคภายใน 7 วัน
นอกจากนี้ยังเห็นว่า ในส่วนของ คกก.ประเมินผล ให้ประเมินโครงการรัฐด้วย ไม่ใช่แค่ประเมินองค์กรอิสระเท่านั้น และให้เปลี่ยนคำว่า “พลเมือง”เป็นคำว่า “ประชาชน”เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ส่วนการแสดงรายการเสียภาษีที่กำหนดไว้ 3 ปี ทางกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองฯเห็นว่าควรจะเปลี่ยนเป็น 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามรอบการประเมินภาษีของกรมสรรพากร และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย รวมทั้งให้ยกเลิกคณะกรรมการปรองดองในภาค 4 การปฏิรูป และ การปรองดองที่ให้อำนาจในการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ โดยให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเสริมสร้างความปรองดอง ที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เข้ามาทำหน้าที่แทน
ส่วนเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปนั้น มีความเห็นสองแนวทาง คือ หากจะต้องมีสององค์กรนี้ ที่มาต้องไม่ได้มาจาก สปช. และ สนช. เหมือนที่กำหนดไว้ ในขณะนี้ว่ามาจา สปช. 60 คน และ สนช. 30 คน แต่ให้มีการสมัครแบบเปิดกว้างแทน หรือ อีกทางเลือกหนึ่ง ให้จัดทำกฎหมายปฏิรูปให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องมีสภาขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์
กำลังโหลดความคิดเห็น