รายงานการเมือง
กกต. เองเคยทำข้อเสนอไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้ว และกำลังจะทำหนังสือย้ำไปอีกรอบหนึ่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่า การที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ทำหน้าที่จัดเลือกตั้งแทน กกต.นั้นจะทำให้การเลือกตั้งมีปัญหา เพราะ กจต.มาจากข้าราชการซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายการเมือง อาจทำให้ขาดความเป็นอิสระ และความเป็นกลางทางการเมือง”
นี่เป็นสุ้มเสียงของนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดขององค์กร กกต.ที่อยากให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้พิจารณา ตรึกตรองให้ถ่องแท้ถึงผลดี-ผลเสียของการสถาปนาองค์กรใหม่อย่าง กจต.ขึ้น
เพราะ ณ วันนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ภายใต้การนำของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ มองว่า “สมการ” ทุจริตซื้อสิทธิขายเสียง โกงการเลือกตั้งจะสามารถแก้ไข ขจัดให้หมดไปได้ก็ด้วยการมี กจต.ที่ประกอบไปด้วยข้าราชการ 7 คนที่ตั้งโดยปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งทุกระดับ โดยให้ กกต.มีอำนาจเพียงการควบคุมการเลือกตั้งเท่านั้น
จึงก่อเกิดคำถามเป็นวงกว้าง ว่าแท้จริงแล้วปัญหาของการทุจริตการเลือกตั้งที่ผ่านมา อยู่ที่การจัดการเลือกตั้งจริงหรือ และการมี กจต.แก้โกงการเลือกตั้ง ตอบโจทย์การปฏิรูป ที่จะใช้กระบวนการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการคัดกรอง นักการเมืองดีเข้าสู่อำนาจ ได้อย่างไม่หลงทาง ใช่หรือไม่
มองย้อนกลับไป กกต.ถือกำเนิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 ภายใต้หลักคิดที่ว่า ในอดีตประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง การใช้อำนาจ อิทธิพลข่มขู่เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน
การจัดการเลือกตั้งโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กลายเป็นเพียง “พิธีกรรมประชาธิปไตย” ที่สังคมรู้กันทั่วไปว่าพรรคการเมือง นักการเมือง ที่กุมอำนาจรัฐในห้วงเวลานั้นๆ มักฉวยโอกาสใช้กลไกราชการ ทำให้ฝั่งฝ่ายตนนั้นได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา เถลิงอำนาจกันต่อไป จึงจำต้องมีหน่วยงานที่เป็นกลาง มาควบคุม จัดการเลือกตั้ง ให้สุจริต เที่ยงธรรม รวมทั้งป้องกันการแทรกแซงทุกรูปแบบจากฝ่ายการเมือง เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
แม้เมื่อมีองค์กรอิสระอย่าง กกต.ขึ้นมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งกว่า 17 ปี ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้เบาบางลง ตรงกันข้ามรูปแบบการซื้อสิทธิขายเสียง การใช้กลไกอำนาจรัฐเอื้ออำนวยต่อการเลือกตั้ง กลับมีความซับซ้อน แยบคายมากขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า การทุจริต โกงการเลือกตั้ง โดยวิธีการทั้งสองรูปแบบของฝ่ายการเมืองนั้น เลวร้ายรุนแรงพอๆ กัน ซ้ำยากที่กฎหมายจะเอื้อมมือไปจัดการเอาผิดได้
ในมุมของ กกต.มองว่า ปัญหาการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ที่การจัดการ แต่อยู่ที่การซื้อสิทธิ ขายเสียง การทุจริตเลือกตั้ง การผุดหน่วยงานใหม่อย่าง กจต.เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ซ้ำร้ายจะยิ่งเป็นการสร้าง ปัญหาใหม่ และปัญหาใหญ่ ทั้งต่อการจัดการเลือกตั้ง และการแก้ไขปัญหาทุจริตการเลือกตั้งมากยิ่งขึ้น
โดยการจัดการเลือกตั้งนั้น กกต.ใช้อำนาจใน 2 ลักษณะ คือ อำนาจจัดการ กับอำนาจกำกับดูแล แม้จะถูกมองว่า “ชงเองตบเอง” ไม่ถูกต้องตามลักษณะการใช้อำนาจที่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ในแง่การทำงาน ทำให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ง่ายต่อการควบคุมตรวจสอบการจัดการเลือกตั้งให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ ภายในกรอบระยะเวลา ส่งผลต่อประสิทธิภาพของเนื้องาน
ขณะที่การแยกองค์กรกำกับดูแล กับองค์กรจัดการเลือกตั้ง ออกจากกัน ทำให้การทำงานขาดความเป็นเอกภาพ กระทบต่อการตรวจสอบการทุจริต เนื่องจากกระบวนการจัดการเลือกตั้งมีหลายขั้นตอน ทั้งการแบ่งเขต จัดหน่วยเลือกตั้ง แต่งตั้งกรรมการประจำหน่วย ซึ่งปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นได้ในทุกขั้นตอน จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมดูแลใกล้ชิด การแยกองค์กรกำกับ กับองค์กรจัดเลือกตั้ง อาจทำให้ขาดความร่วมมือในการตรวจสอบ ยากลำบากในการหาข้อมูลทุจริต รวมถึงเกิดความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองงบประมาณ และทรัพยากรโดยใช่เหตุ
การมีที่มาหลากหลายจาก 7 องค์กร ของ กจต.อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ความเข้าใจไม่ตรงกัน ขณะเดียวกัน การที่ กจต.แต่ละคนในทุกระดับของการจัดการเลือกตั้ง มีภารกิจงานประจำของตนเองที่ต้องทำ แต่การต้องมาจัดการเลือกตั้งที่ไม่ใช่ภารกิจหลัก รวมทั้งโดยทั่วไปบุคลากรของทั้ง 7 หน่วยงาน ต้องมีการแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ตลอด อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อาจทำให้เกิดปัญหาความคล่องตัว ขาดความชำนาญ ไม่มีความเป็นมืออาชีพในการจัดการเลือกตั้ง
อีกทั้งตามหลักสากล ที่นานาอารยประเทศปฏิบัติกัน องค์กรจัดการเลือกตั้ง กับองค์กรตรวจสอบ จะเป็นองค์การเดียวกัน
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่า กจต.แต่งตั้งจากข้าราชการประจำ การถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองทำได้ง่าย เนื่องเพราะฝ่ายการเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ กจต. มีอำนาจให้คุณให้โทษ ซึ่งน่าเชื่อว่า กจต. ย่อมต้องเกรงที่จะได้รับผลกระทบภายหลังการปฏิบัติหน้าที่ ฉะนั้น ความมุ่งมั่นที่จะสร้างประวัติศาสตร์จัดการเลือกตั้งโดยยึดหลักความถูกต้อง ไม่สนผลกระทบต่อหน้าที่ราชการ ผลประโยชน์แลกเปลี่ยน ความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ย่อมยากจะเป็นไปได้
คำกล่าวก่อนหน้านี้ของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง หลังการเข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มี นายปรีชา วัชราภัย กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน น่าจะฉายภาพอนาคตการจัดการเลือกตั้งภายใต้อุ้งมือของ กจต.ที่เป็นข้อน่าห่วงใยได้เป็นอย่างดี
นายสมชัยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราชการกับฝ่ายการเมือง เป็นเส้นแบ่งที่ไม่เคยได้ผล ไม่ว่าจะออกแบบกลไก กติกาอย่างไร ท้ายสุดราชการที่มุ่งความก้าวหน้าก็จะวิ่งเข้าหาฝ่ายการเมือง เพื่ออิงอำนาจ
“อย่าไปคิดว่าช่วงเลือกตั้งปลัดกระทรวงรักษาการแล้วจะอิสระปลอดการเมือง เพราะแม้วันนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง ก็มีข้าราชการประจำหลายคนที่เล็งแล้วว่าพรรคไหนจะชนะ ช่วงที่รักษาการก็ต้องคิดแน่ ความเกรงออกเกรงใจ การดำเนินการที่เอื้อต่อพรรคใดพรรคหนึ่งก็อาจยังเกิดขึ้นได้ เวลานักการเมืองเดินไปไหน มีปลัดกระทรวงเดินตามกี่คน อยากให้ไปคิดทบทวน ไม่ใช่หวงอำนาจ เพราะจริงๆ กกต.ทำงานง่ายขึ้น แต่เพราะเราคิดบนผลประโยชน์ชาติ และการเลือกตั้งที่เป็นธรรมเป็นหลัก”
ยังไม่รวมถึงสภาพปัญหาที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งความไม่เป็นกลางของผู้จัดการเลือกตั้ง การร้องเรียนกล่าวหา กจต.กระทำทุจริต จะดำเนินการจัดการอย่างไร เมื่อในทางปฏิบัติ กจต.เป็นผู้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการจัดเลือกตั้ง หรือหาก กจต. ร่วมทุจริตกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะทำอย่างไร
แม้ในร่างรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ กกต.สอบสวนทางวินัยกับ กจต.ที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ไม่สุจริตเที่ยงธรรม เมื่อแล้วเสร็จและเห็นว่าเป็นความผิดให้รายงาน ผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดพิจารณาลงโทษทางวินัย แต่หากผู้บังคับบัญชาของ กจต.เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการเอื้ออำนวยในการจัดการเลือกตั้งของ กจต.ไม่ลงโทษกับผู้กระทำผิด จะมีวิธีดำเนินการอย่างไร
ปัญหาในการกำกับดูแลของ กกต.ที่มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เพราะกจต.ไม่ใช่หน่วยงานในสังกัด ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นคดีที่มีการนำไปฟ้องร้องได้ ปมเหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง และการยอมรับผลการเลือกตั้ง แต่ ณ.ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีข้อเสนอถึงทางออกหรือแนวการแก้ไข
ขณะที่ฝั่งของ “ผู้เล่น” อย่างนักการเมือง พรรคการเมือง ต่างก็หาได้มีใครเห็นดีเห็นงามกับ กจต. เนื่องเพราะยังเข็ดหลาบฤทธิ์เดช ของราชการในยุคสมัยกระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้ง โดยมองว่าปัญหาของ กกต.ที่พรรคการเมือง นักการเมืองรับไม่ได้ มีเพียงอย่างเดียว คือ อำนาจในการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือการสั่งเลือกตั้งใหม่เท่านั้น โดยต้องการให้เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม
ส่วนอำนาจการจัดการเลือกตั้งที่จะให้เป็นของ กจต.ที่มาจากข้าราชการกระทรวงต่างๆ กระทรวงเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรอิสระเหมือนกับ กกต. รัฐบาลสามารถแทรกแซงได้ง่าย กกต. จึงสมควรเป็นผู้จัดการเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนข้ออ้างกรรมาธิการยกร่างฯ ที่ว่าเพื่อเป็นการลดภาระ กกต. ก็มองว่าที่ผ่านมา กกต.ก็จัดการเลือกตั้งทั่วประเทศ ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับประเทศมาแล้ว และไม่มีปัญหาอะไร
ดังนั้น เมื่อเหตุผลหนึ่งในการปฏิรูปประเทศวันนี้ คือ การปฏิรูปการเมือง และระบบเลือกตั้ง ที่มีจุดปลายทาง คือ การทำให้ได้ “คนดี” มาปกครองบ้านเมือง กระบวนการต้นทางเข้าสู่อำนาจของคนดี อย่างการจัดการ และการควบคุมการเลือกตั้ง จำต้องเป็นกลไกที่สามารถสกัดกั้น หรือให้ดี ปิดประตูตาย ไม่ให้คนไม่ดีได้มีโอกาสเข้ามาใช้อำนาจรัฐ
ข้อท้วงติง เสนอแนะต่างๆ จึงจำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องอย่าง คณะกมธ.ยกร่างฯ สนช. สปช. และ คสช. ควรต้องรับฟังและพิจารณาให้ถ่องแท้ รอบคอบ ถึงผลดี ผลเสีย แก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ใช้ยารักษาให้ถูกโรค อย่าปล่อยให้กลายเป็น “เสียงที่ไม่ได้ยิน” เพื่อให้การปฏิรูปสมกับเป็นการแก้ไข ทำให้ดีขึ้น มิใช่เลวลงหรือถอยหลัง ไม่เช่นนั้นอาจเท่ากับว่าประเทศเสียโอกาสในการปฏิรูปไปโดยเปล่าประโยชน์