xs
xsm
sm
md
lg

กกต.แถลงจุดยืนทำหน้าที่ตาม รธน. เตือนผุดนวัตกรรมใหม่ตอบโจทย์คนดีจริงหรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการการเลือกตั้ง(แฟ้มภาพ)
5 กกต.ตั้งโต๊ะแถลงพร้อมทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแม้จะยุ่งยากแค่ไหน ปัด ห่วงอำนาจ รับกังวลกระทบคนซื่อสัตย์เข้ามาบริหารชาติ ย้ำ 8 ประเด็นแนะครม. อยากให้เดินหน้า ไม่วนอยู่กับความขัดแย้ง ลั่นไม่มีเหตุตั้ง กจต. เปลืองงบ ยากที่เลือกตั้งสุจริต เตือนโอเพนลิสต์ส่อต่อรองประโยชน์ เตือน สร้างนวัตกรรมใหม่ตอบโจทย์เปิดทางคนดีจริงหรือไม่

วันนี้ (22 พ.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นำโดยนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. พร้อมด้วย นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ, นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย และนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับการรองรับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยนายศุภชัย กล่าวให้คำมั่นว่าไม่ว่าหน้าตารัฐธรรมนูญออกมาอย่างไร มีความยุ่งยากซับซ้อนแค่ไหน กกต.ก็พร้อมดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ทำหน้าที่ด้วยความสุจริต จัดการเลือกตั้งครั้งต่อไปให้ดีที่สุด ไม่ให้มีข้อบกพร่องเหมือนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. 57 ทั้งนี้ กกต.ไม่ได้กังวลว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกระทบต่อ กกต.แต่กังวลว่าจะกระทบต่อการได้มาซึ่งคนที่ซื่อสัตย์สุจริตเข้ามาบริหารประเทศ โดยระหว่างที่รอร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทาง กกต.ก็ได้มีการปรับปรุงโครงสร้าง จัดฝึกอบรมผู้บริหาร พนักงานให้เป็นมืออาชีพ มีมาตรฐานระดับสากล โดยพยายามเน้นย้ำพนักงานกกต.ทุกคนให้มีความเพียบพร้อม มีความรู้ คุณธรรม ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต ปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความราบรื่น

ทั้งนี้ กกต.ได้จัดทำเอกสารเสนอแนะข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญไปยังคณะรัฐมนตรี รวม 8 ประเด็น เสนอให้ กกต.มีอำนาจในการประกาศงดการเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกาแล้วให้ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ โดยให้นายกรัฐมนตรีเสนอพระราชกฤษฎีกาตามที่ กกต.เสนอ เพื่อป้องกันเวลาเกิดปัญหาวิกฤตที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกัน ทั่วราชอาณาจักร 2. ให้ยกเลิกการมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) มาจัดการเลือกตั้ง โดยให้กกต.เป็นผู้ควบคุม ดำเนินการ และจัดการให้มีการเลือกตั้งเช่นเดิม 3. ให้กำหนดเรื่องการนับคะแนนว่าให้นับที่หน่วยเลือกตั้งแล้วส่งผลการนับ คะแนนของหน่วยเลือกตั้งไปรวมที่เขตเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนรวมแล้วประกาศผล โดยเปิดเผย 4. ให้ยกเลิกการลงคะแนน ส.ส.แบบโอเพนลิสต์ เพราะจะทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรครุนแรง

5. ให้ กกต.มีอำนาจเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง 6. เพิ่มอำนาจ กกต.ในการเรียกเอกสาร หรือบุคคลมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติม รวมถึงขอให้พนักงานอัยการ พนักงานสอบสวน หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือราชการส่วนท้องถิ่น ดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งการปฏิบัติหน้าที่ในการสืบสวนหรือวินิจฉัยชี้ขาด 7. ให้ยกเลิกกลุ่มการเมือง เพราะกลุ่มการเมืองจะทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่พัฒนาไปเป็นสถาบันการเมือง และ 8. ให้แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา กกต.โดยเสนอว่าควรยึดองค์ประกอบของ คณะกรรมการสรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะถือว่ายึดโยงกับประชาชนแล้ว

“กกต.ทุกคนพร้อมที่จะทำทุกอย่างให้ได้ไม่ได้หวงอำนาจ เราอาสามาทำงานในช่วงวิกฤตการณ์เพื่อทำให้การเลือกตั้งสุจริต ได้คนดี มีความรู้ เข้าไปบริหารประเทศนำความเจริญมาสู่ประชาชน ที่ผ่านมาได้ถามกรรมาธิการยกร่างฯถึงเหตุผลการตั้งกจต.เขาก็อ้างว่าเพราะที่ผ่านมา กกต.ใช้ข้าราชประจำจัดการเลือกตั้งอยู่แล้ว ก็ได้ชี้แจงไปว่าไม่ใช่แค่อาศัยกำลังข้าราชการมาเป็นกรรมการในส่วนต่างๆ แต่กกต.เป็นผู้จัดเลือกตั้งและนานานประเทศก็ให้ กกต.จัดเลือกตั้ง จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องจัดตั้งองค์กรใหม่ เพราะไม่สามารถตอบโจทย์แก้ทุจริตเลือกตั้งได้ และยังเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์”

ด้านนายสมชัยกล่าวว่า 8 ประเด็นที่ กกต.เสนอไปนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. ผลที่จะเกิดการเมืองไทย และ 2. ผลที่จะมีต่อระบบการเลือกตั้ง โดยกลุ่มแรก กกต.อยากให้ประเทศเดินไปในทางที่ดี ไม่เสียของ อยากให้การเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่วนกลับที่เดิม หรือความขัดแย้งของคนในสังคม ข้อสำคัญที่สุด คือ กลุ่มการเมือง ประเด็นนี้คือการดึงการเมืองไทยเข้าสู่การเมืองก่อนปี 2540 คือ ส.ส.เป็นอิสระได้ การกำหนดโอเพนลิสต์ทางเทคนิคคือบัตรเลือกตั้งขนาดใหญ่ แต่ในทางการเมืองจะเกิดการทุจริตและการต่อรองผลประโยชน์เกิดขึ้น การลงคะแนนเสียงในสภาคือการซื้อเสียงในสภาฯ ขณะที่ฝ่ายหนึ่งคิดว่าระบบแบบนี้จะทำให้การเมืองใหญ่อ่อนลง

ส่วนประเด็นการมี กจต.ย้ำว่า กกต.ไม่ได้หวงอำนาจเพราะ กกต.จะทำงานน้อยลงและมีคนรับหน้าเสื่อแทน แต่สิ่งที่จะตามมาคือการเลือกตั้งกลับไปสู่ข้าราชการ ดังเช่นการเลือกตั้งก่อนปี 2540 จึงยากที่การเลือกตั้งจะสุจริตเที่ยงธรรม ขณะที่การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ถ้ากมธ.ยกร่างฯ ยืนยันว่าจะนำมาใช้ กกต.สามารถดำเนินการได้ แต่ต้องยอมรับว่าจะมีการนับคะแนน 3 วัน ประชาชนเกิดความสับสน และกระบวนการมีความยุ่งยาก จริงอยู่กรรมาธิการยกร่างพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่หลายอย่างในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำคนดีเข้าสู่การเมือง แต่ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าที่ร่างนั้นสามารถตอบโจทย์ของปัญหาได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น