รองนายกรัฐมนตรี ย้ำ 4 แนวทางหากประชามติไม่ผ่าน แต่ไม่รู้จะเสนอเข้าที่ประชุมแม่น้ำ 5 สายหรือไม่ แต่ไม่ควรชง ไม่อยากพูดทางไหนเหมาะสุด ไม่ชัวร์เอาด้วยกับ “จาตุรนต์” จัดเลือกตั้งปั๊บตั้ง ส.ส.ร.ปุ๊บหรือไม่ ชี้รัฐธรรมนูญกี่มาตราก็ได้แต่ไม่ควรยาวเกินไป เผยไปแจง กมธ.ยกร่างฯ คนเดียว รับบางเรื่องต้องเสนอเพิ่ม แค่ให้ทบทวนเช่นคำว่าพลเมือง ส่วนวันนี้เน้นตอบคำถาม เล่าเหตุต้องประชุมเพราะประธาน กมธ.บางคนเอาไปแจงสมาชิกไม่รู้เรื่อง แย้มขันนอตปฏิรูป
วันนี้ (4 มิ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.20 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางหากประชามติไม่ผ่านว่า มีอยู่แล้ว 4 แนวทาง คือ 1. กลับไปใช้กระบวนการเดิม โดยตั้ง สปช.(สภาปฏิรูปแห่งชาติ) กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ 2. ตั้งกรรมาธิการหรือกรรมการขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่ต้องตั้ง สปช.ชุดใหม่ 3. จะมอบให้ สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เป็นคนจัดทำ 4. ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือหลายองค์กรหยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง ซึ่ง 4 แนวทางจะมีการประชุมในแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 17 มิถุนายนหรือไม่ ไม่ทราบเพราะตนไม่ยังทราบว่าจะมีการประชุมในวันดังกล่าว ส่วนตัวยังไม่กล้ามองว่าแนวทางใดจึงจะเหมาะสม ยังไม่อยากพูด เพราะตนต้องเสนอแนวทางต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงไม่อยากพูดออกไปก่อน อย่างไรก็ตามโดยหลักแล้ว ไม่ควรนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ครม.ยังไม่ได้คิดถึงแนวทางหากทำประชามติไม่ผ่านใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า คิดไว้แล้ว แต่มีหลายทางเลือก เพราะฉะนั้นต้องฟังว่าสุดท้ายแล้วต้องการแบบไหน ตนได้ทราบของเสนอของนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เสนอว่าหากประชามติไม่ผ่านให้รีบจัดการเลือกตั้งแล้วตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมา คิดว่ายังไม่ชัดเจนว่าจะเลือกแนวทางนี้หรือไม่
“หลังจากที่มีหลายฝ่ายของแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ผมตอบไม่ถูกว่ารัฐธรรมนูญจะเหลือกี่มาตรา ผมตอบไม่ถูกเพราะไม่สนใจเรื่องนั้น แต่ว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรยืดยาวมากเกินไป ถ้าไปเล่นว่าจะเหลือกี่มาตรา เขามีปัญญาทำให้เหลือ 50 มาตราก็ได้ เช่น 1 มาตรา 5 หน้า ซึ่งเราก็ไม่เอา ดังนั้นกี่มาตราไม่สำคัญ แต่ไม่ควรยาวมากเกินไป” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการเข้าชี้แจงกับกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 6 มิถุนายนนั้น ตนจะเดินทางไปชี้แจงคนเดียว คาดว่า ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะสอบถามถึงแนวทางการขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่ามีการตัดใจแต่ละประเด็นอย่างไร ครม.เอาจริงหรือไม่ หาก กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ตาม ครม.และจะเกิดความพอใจหรือไม่ หรือ กมธ.ยกร่างฯ อาจจะให้ตนชี้แจงทั้งหมดกว่าร้อยประเด็นก็เป็นไปได้ อีกทั้งอาจเปิดโอกาสในการเสนอแนะเพิ่มจากข้อเสนอเดิม คาดว่ามีบางประเด็นต้องเสนอเพิ่มเติม แต่ไม่ได้จะเอาเป็นเอาตายเพียงแต่ต้องการให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้คิดทบทวน เช่น คำว่า “พลเมือง” หากยังจะใช้ ยืนยัน ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร เพราะเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญร้อยกว่าจุด เรื่องนี้ต่างมีการทักท้วงกันมาก กมธ.ยกร่างฯ เมื่อรับฟังแล้วก็กลับไปคิดเอา ส่วนประเด็นเรื่องสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศนั้นเราไม่ได้เสนอให้ตัดออก แต่ กมธ.จะเปลี่ยนเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ ประเด็นดังกล่าวตนเพียงต้องการสอบถาม กมธ.ยกร่างฯ ว่ามีสภาขับเคลื่อนฯ ไว้เพื่ออะไร
นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนการชี้แจงการดำเนินงานของ ครม.ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.) วันช่วงบ่ายวันนี้ (4 มิ.ย.) นั้น จะแน่นหนักไปในการตอบคำถามของ สนช และ สปช.มากกว่า เพราะการประชุมครั้งนี้เกิดจากการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งสถานที่จำกัด และแม่น้ำแต่ละสายมาได้เฉพาะคนเป็นประธาน กมธ. ที่ผ่านมาเราหวังว่าประธาน กมธ.เหล่านี้จะกลับไปบอกว่าคนใน กมธ.แต่ปรากฏว่าเกิดความไม่เข้าใจ พูดกันไม่รู้เรื่อง จนเป็นที่มาของการประชุมในวันนี้
เมื่อถามว่า ท่าทีของ ครม.ก็เป็นกังวลในการทำปฏิรูปของ สปช.ที่ไม่คืบหน้าใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีเป็นวาระหนึ่งที่อาจต้องการพูดด้วย อย่างไรก็ตาม นายกฯ ได้บอกไว้ถึงสิ่งที่ทำและจะทำ ทั้งนี้ข้อเสนอแนะในการสานต่อการปฏิรูปคงไม่มีการหยิบยกมาพูดถึง ทั้งนี้ การชี้แจงการดำเนินงานของรัฐบาลวันนี้คล้ายกับการขันนอตให้กับ สปช.กรายๆ แต่เราไม่บอกว่านี่คือการขันนอต เพราะนี่คือเทคนิค