“สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว “วิษณุ” แจงประชามติอยู่ในใจมาตั้งแต่ 10 เดือนที่แล้ว แต่ไม่ได้ใส่เพราะต้องฟังเสียงประชาชนก่อน พร้อมยอมรับยังไม่มีคำตอบหากประชามติรอบสองไม่ผ่าน สนช.รุมซักวิธีโหวต ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ ให้พวกพ้นแบนลงได้ “ประวิตร” อ้างให้เกียรติเพื่อความปรองดอง ก่อนมีมติรับหลักการ 204 เสียง งดออกเสียง 3
วันนี้ (18 มิ.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สปช.) ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ... แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับกระบวนการในการพิจารณาของ สนช.นั้นจะพิจารณาเป็น 3 วาระ ตั้งแต่ 1. วาระรับหลักการ 2. การพิจารณาเป็นรายมาตร และ 3. การลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ซึ่งการลงมติในวาระที่ 1 และ 3 จะลงมติแบบเปิดเผยด้วยวิธีการขานชื่อเป็นรายบุคคล ส่วนการลงมติวาระที่ 2 จะใช้วิธีการเสียบบัตรลงคะแนน ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และ นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นผู้นำเสนอหลักการและเหตุผลพร้อมกับชี้แจงข้อสงสัยให้กับสมาชิก สนช.
นายวิษณุกล่าวถึงหลักการและเหตุผลที่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ว่า ขณะนี้การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่นั้น ปรากฏว่ามีการเรียกร้องให้ดำเนินการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2550 ซึ่ง ครม.และ คสช.ได้รับฟังมาตลอด ประกอบกับเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของ ครม.และ คสช.มาตั้งแต่เมื่อ 10 เดือนที่แล้ว แต่ที่ไม่ใส่กระบวนการดังกล่าวเอาไว้ตั้งแต่แรกเพราะต้องรอดูร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกและรับฟังเสียงของประชาชนก่อนซึ่งเวลานี้ก็มาถึง ทำให้ คสช.และครม.เห็นพ้องกันว่าควรจัดทำประชามติ
นายวิษณุกล่าวว่า นอกเหนือไปจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติแล้วยังแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิก สนช. จากเดิมที่ระบุว่า “ต้องไม่เคยเป็นถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง” ให้เป็น “ไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” เพื่อให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิดังกล่าวสามารถเข้ามาเป็น สนช. รวมถึงการการขยายเวลาการทำงานให้แก่คณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ต้องพิจารณาข้อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เปลี่ยนเป็นให้เพิ่มอีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน และการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ที่มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน
ต่อมานายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.อภิปรายว่า การกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติไม่น้อยกว่า 80% ของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มีความสงสัยว่าประชาชนผู้มีสิทธิจะได้รับร่างรัฐธรรมนูญคนละหนึ่งเล่มหรือได้ครัวเรือนละหนึ่งเล่ม นอกจากนี้ การบัญญัติให้หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติจะต้องตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน และกลับไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่และทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งสงสัยว่าถ้าทำประชามติไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไรต่อไป
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช.กล่าวว่า กรณีที่ สปช.ต้องพ้นจากตำแหน่งภายหลังลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อสงสัยว่า กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิก สปช.ยังสามารถดำรงตำแหน่ง กมธ.ยกร่างฯ ต่อไปได้หรือไม่ เช่นเดียวกับ การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศจำนวน 200 คน และให้มีอำนาจเหมือนกับ สปช.ทุกประการ และมีสิทธิคุ้มครองและประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญ เสมือนหนึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคล้ายกับสมาชิก สนช. จึงสงสัยว่าเมื่อสภาขับเคลื่อนฯ จะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเหมือนกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ที่สำคัญสภาขับเคลื่อนฯจะมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่าไหร เนื่องจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้บัญญัติเอาไว้
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิก สนช.กล่าวว่า ยืนยันว่ามีความเห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะมีบรรทัดฐานมาจากการทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งการทำประชามติในครั้งนั้นทำให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ได้รับการคุ้มครองตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงคิดว่าควรสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่รัฐธรรมนูญในอนาคต อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีข้อสังเกต คือ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งห้ามมาดำรงตำแหน่งสมาชิก สนช. และยังวางหลักการตามมาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ยังวางหลักการเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องให้มีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและการตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองเด็ดขาดเอาไว้
“ผมไม่ทราบจะเป็นด้วยสถานการณ์เปลี่ยนหรือแนวความคิดเปลี่ยนหรือเช่นไร จึงมีการแก้ไขเพื่อลดมาตรการที่เด็ดขาดนี้ลงไป โดยความรู้สึกของผมนั้นมันเหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณไปถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่าในการกำหนดคุณสมบัติผู้มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความเด็ดขาด ซึ่งผมคิดว่ามาตรการนี้เราคงไม่สามารถจะป้องกันคนไม่ดีไม่ให้มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศได้” พล.อ.สมเจตน์กล่าว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.กล่าวว่า เห็นด้วยในหลักการกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดให้มีการลงเสียงประชามติ แต่อยากฝากข้อเสนอเรื่องการทำประชามติที่กำหนดให้ใช้เสียงข้างมากจากผู้มาลงคะแนนไม่กำหนดผู้มาใช้สิทธิต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เห็นว่า กกต.และกระทรวงมหาดไทยควรจะไปหาทางทำให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก คล้ายปี 2550 ที่มีผู้มาลงคะแนนประมาณ 57.8% ของผู้มีสิทธิ เพื่อให้ เสียงข้างมากที่ได้จากการลงประชามติเป็นความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่ เป็นมาตรฐานเหมือนการทำประชามติครั้งก่อน
ต่อมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี แลรมว.กลาโหม ชี้แจงว่า การบัญญัติให้มีการยุบ สปช.ภายหลังจากที่ลงมติร่างรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากมีเสียงวิจารณ์ว่า สปช.จะต้องผ่านร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดำรงสถานะตัวเองภายหลังจากที่ลงมติ ดังนั้น การที่ให้มีการบัญญัติดังกล่าวสามารถให้ สปช.ลงมติได้อย่างเต็มที่ ชอบไม่ชอบว่าไปเลย ส่วนข้อเสนอที่ให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ถือเป็นการปลดล็อกเพื่อให้มีการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาดีที่สุด ส่วนการปลดล็อกให้ผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองใน คสช. นั้น ถือว่าเป็นการให้เกียรติต่อกลุ่มคนดังกล่าว แต่จะเอาคนเหล่านั้นมาทำงานหรือไม่ เป็นสิทธิ์ของ คสช.ที่ตัดสินใจ และเป็นการปลดล็อกเพื่อให้เกิดความปรองดองและความเป็นธรรม ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ของสภาขับเคลื่อนฯ นั้น ตนเห็นว่าสภาดังกล่าวมีหน้าที่เพียงดำเนินการให้ข้อเสนอแนะในการปฏิรูปเท่านั้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีการยื่นบัญชีทรัพย์สินแต่อย่างใด ดังนั้นจึงแตกต่างกับสิทธิประโยชน์ของสภาผู้แทนราษฎร
ด้านนายวิษณุชี้แจงเพิ่มเติมว่า กรณีแจกร่างรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติเป็นครัวเรือนไม่ใช่ตามจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพราะที่กำหนดไว้ หาก สปช.เห็นชอบในช่วงวันที่ 6-7 กันยายน ซึ่งคาดว่าจะลงประชามติในเดือนมกราคม หรือกุมภาพันธ์ 2559 ระยะเวลาในการเตรียมทำประชามติซึ่งต้องเตรียมทั้งกระดาษ โรงพิมพ์ เจ้าหน้าที่ การแจกจ่าย หากพิมพ์ 49 ล้านฉบับตามจำนวนผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งอาจทำไม่ทันการลงประชามติ อีกทั้งยังต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งนี้ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการแจกจ่ายว่าจะครบหรือไม่ คุ้มค่าหรือไม่ อ่านหรือไม่ จึงเห็นว่าเพื่อความเหมาะสมควรกำหนดให้แจก เป็น 24 ล้านครัวเรือน รวมทั้งขึ้นเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย วางไว้ในตามร้านสะดวกซื้อ สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง หรือแม้แต่ที่ชุมชนต่างๆ ทั้งหมดจะรวมได้ให้แจกจ่ายครบ 84% หรือ 19 ล้านครัวเรือนก็จะทำประชามติ ในช่วงเวลาไม่เร็วกว่า 30 วันและไม่ช้ากว่า 45 วันนับจาก สปช.มีมติ
ส่วนหากการลงประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไรนั้น ตนเห็นว่าาการทำประชามติแบ่งเป็น 2 ครั้ง สมมติว่าสมาชิก สปช.ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกันยายน และลงประชามติประมาณมกราคม 2559 เกิดไม่ผ่านความเห็นชอบ ก็ให้ กมธ.ยกร่างพ้นตำแหน่งและหัวหน้า คสช.ตั้งขึ้นใหม่รวม 21 คน จากผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม และเมื่อร่างใหม่เสร็จใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ก็ให้ทำเกิดประชามติในหนที่ 2
“หากทำประชามติหนที่ 2 ตกไป แล้วจะเป็นอย่างไรต่อนั้น คำตอบคือ ขณะนี้ไม่มีคำตอบ เพราะหากจะเขียนลงไปชัดเจนว่าหากครั้งที่ 2 ยังไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไรต่อ ก็ดูจะเตรียมการไต่ตรองมากไปหน่อย ซึ่งช่วงเวลานั้นค่อยมาคิดกันอีกทีว่าสังคมอย่างการอย่างไร ไว้ว่ากันช่วงนั้น ซึ่งมีเวลาให้คิดอ่านอีกครั้ง” นายวิษณุกล่าว
ส่วนกรณีที่ สปช.ถูกยุบจะไม่กระทบต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากสัดส่วนของ สปช. เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 32 ระบุว่าให้เพียงแต่ให้ สปช.เลือกคนเข้าไป 20 คนเป็น กมธ.ไม่ได้บอกให้เลือกจาก สปช. แต่ปัญหาจะอยู่ที่หากสัดส่วนของ กมธ.ที่มาจาก สปช.เกิดล้มหายตายจากแล้วจะเลือกใครมาซ่อม กรณี สปช.พ้นตำแหน่งไป ส่วนสภาขับเคลื่อนปฏิรูปจะอยู่ดำรงตำแหน่งต่อไปนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างอยู่ อย่างไรก็ตาม จะได้นำไปหารือกับทาง กกต.และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อรณรงค์ให้มีผู้มาใช้สิทธิจำนวนมาก สอดรับกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เคยปรารภว่าจะมีวิธีสร้างแรงจูงใจอย่างไรแบบไม่ผิดกฎหมาย
หลังจากนั้น ได้มีการลงมติโดยวิธีเปิดเผยด้วยขานชื่อสมาชิกฯ ผลปรากฏว่า มีมติรับหลักการ 204 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ดังนั้น ทาง สนช.ได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จากนั้นได้มีการพิจารณาในวาระที่ 2 ต่อไป