xs
xsm
sm
md
lg

“โอเพนลิสต์” ยุ่งยากกว่าที่คิด กกต. ต้องใช้บัตรเลือกตั้งแผ่นยักษ์ - นับคะแนน 3 วันถึงจะทราบผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต.แถลงสรุปผลการสาธิตลงคะแนนแบบโอเพนลิสต์ พบแม้ไม่กระทบเวลาลงคะแนน แต่กระทบนับคะแนน เพราะลงคะแนน 3 ประเภท ใช้เวลารวม 66-70 ชั่วโมงจึงจะทราบผลไม่เป็นทางการ จะนับรวมที่อำเภอก็มาช้า-ถูกร้องทุจริต อีกทั้งผลจากการเกิดกลุ่มการเมืองที่จัดตั้งง่าย คาดต้องใช้บัตรเลือกตั้งแผ่นยักษ์ติดกินเนสส์บุ๊ก เหน็บ กมธ. ยกร่างฯ ถ้าคิดว่าแบบนี้คุ้มค่าก็จัดเลือกตั้งได้

วันนี้ (18 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงสรุปผลการสาธิตลงคะแนนแบบโอเพ่นลิสต์ ว่า จากการสาธิตพบว่าการให้ประชาชนใช้สิทธิลงคะแนน 3 ประเภท ไม่เป็นปัญหาต่อระยะเวลาการลงคะแนนที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าให้เลือกตั้งตั้งแต่เวลา 08.00-15.00 น. โดยหน่วยเลือกตั้งหนึ่งจะมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 800 คน หากมาใช้สิทธิครบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม กกต.คิดว่าเอาอยู่ แต่ขั้นตอนการนับคะแนนมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ในส่วนของบัญชีรายชื่อต้องนับสองขั้นตอน ใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีกราวเท่าตัว เมื่อคำนวณแล้วหากมีผู้มาใช้สิทธิ 75% หรือ 600 คน จะต้องใช้เวลานับรวมราว 5-6 ชั่วโมง โดยที่ยังไม่รวมปัญหาปลีกย่อย เช่น การประท้วง หรือนับแล้วจำนวนบัตรไม่ตรงกับบัญชี

และหากให้นับรวมที่เขตเลือกตั้งก็ต้องเพิ่มเวลาของการขนส่ง การตรวจสอบหีบบัตรอีกราว 6 ชั่วโมง กับเวลาที่จะต้องใช้ในการนับที่หน่วยรวมกว่า 60 ชั่วโมง เพราะเขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่ขึ้นจากเดิม 400 เขต เหลือ 250 เขต ทำให้หน่วยเลือกตั้งต่อเขตมากขึ้น จากเดิมราว 300 หน่วยเป็นราว 400 หน่วยต่อเขต การเอาบัตรมาคลุกเพื่อนับรวม 1 เขตนับใช้ราว 10 กระดาน จะต้องใช้เวลานับนับ 3,600 นาที เท่ากับ 60 ชั่วโมง รวมแล้วต้องใช้เวลารวม 66-70 ชั่วโมงหรือสามวันเศษ จึงจะประกาศผลเลือกตั้งได้ แต่หากกระจายจุดนับให้มากกว่า 1 จุดในแต่ละเขตเลือกตั้ง เช่น นับรวมที่อำเภอก็จะลดเวลาลง แต่ก็อาจมีปัญหาจากกรณีหีบบัตรมาช้า ร้องทุจริตการขนส่ง อย่างไรก็ตาม ได้เสนอแนวทางไปยังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า หากหีบบัตรเลือกตั้งที่เกิดปัญหามีจำนวนบัตรที่ไม่กระทบจนเกิดความเปลี่ยนแปลงต่อผลการเลือกตั้ง ก็ให้สามารถเริ่มนับจากหีบเท่าที่มีอยู่ได้

ทั้งนี้ จากการที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้กลุ่มการเมืองสามารถลงสมัครได้ ทำให้ประเมินว่าในการเลือกตั้งจะได้รับความสนใจจากพรรคและกลุ่มการเมืองลงสมัครมาก ซึ่งก็จะมีผลให้บัตรเลือกตั้งที่จะนำมาใช้อาจต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น โดยนายสมชัยได้แสดงตัวอย่างที่มีพรรคและกลุ่มการเมืองส่งผู้สมัครรวม 280 พรรค จะทำให้ต้องมีบัตรเลือกตั้งขนาด 60 x 90 เซนติเมตรเลยทีเดียว

“ประมาณการณ์จากปัจจุบันมีพรรคการเมืองแล้ว 74 พรรค ในอนาคตอาจมีกลุ่มการเมืองเพิ่มอีก 100–200 พรรค หรือกลุ่ม เช่น เกิดกลุ่มการเมืองจังหวัดละ 5-7 กลุ่ม เพราะกลุ่มการเมืองจัดตั้งง่ายกว่าพรรค ทั้งยังส่งผู้สมัครได้ทั้งสองแบบ เมื่อต้องให้มีหมายเลขเดียวกันทั้งสองแบบเช่นเดียวกับพรรคการเมืองก็ต้องมาจัดลำดับหมายเลขในบัตรเลือกตั้งด้วย และหากมีถึง 400 พรรค บัตรก็ต้องใหญ่ขึ้นไปอีก คำถามคือ หากให้มีกลุ่มการเมืองลงสมัครได้มาก บัตรเลือกตั้งของไทยอาจติดกินเนสส์บุ๊ก ออฟ เรกคอร์ด ว่าเป็นบัตรเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก” นายสมชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ต้องจดจำพรรคและกลุ่มการเมืองจำนวนมาก และยังต้องจดจำลำดับบัญชีรายชื่อที่จะเลือก และระบบเลือกตั้งดังกล่าวยังเป็นภาระของคณะกรรมการประจำหน่วย เพราะการดำเนินการที่ซับซ้อนมากขึ้น เกิดการสิ้นเปลือง เช่น ใช้อุปกรณ์มากขึ้น การจัดพิมพ์บัตรที่ใหญ่ขึ้น ปรับขนาดคูหาเพิ่มขึ้น หากมีการนับบัตรรวมอาจเพิ่มเวลานับถึง 70 ชั่วโมง และบัตรเสียอาจเพิ่มขึ้นเพราะความซับซ้อน และอาจต้องใช้สถานที่กว้างกว่าเดิม

“ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ดำเนินการจะคุ้มกับเพียงการให้ประชาชนมีสิทธิเลือกโอเพนลิสต์หรือไม่ และเป็นไปได้ที่ประชาชนเลือกเบอร์ต้นๆ เพื่อไม่ให้เป็นภาระจดจำ ก็อาจทำให้เจตนารมรณ์จัดลำดับไม่เป็นผล แต่หากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าคุ้มค่า กกต.ก็ดำเนินการจัดการได้” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยยังกล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีการพูดถึงงบประมาณการจัดราว 3 พันล้านบาทว่า ปกติการจัดการเลือกตั้งทั่วไปจะใช้ราว 3.8 พันล้านบาท แต่งบประมาณทำประชามติจะน้อยกว่า เพราะใช้จำนวนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพียง 5 คนจาก 11 คน ลดค่าใช้จ่ายเบี้ยเลี้ยง และจำนวนบัตรลงคะแนนเหลือเพียงบัตรเดียว จึงอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท แต่ทั้งนี้ ไม่รวมงบประมาณค่าใช้จ่ายการเผยแพร่ และการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 47 ล้านฉบับ

ส่วนการเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่าไม่ควรให้ กกต.ดำเนินการ เพราะ กกต. ต้องวางตัวเป็นกลาง ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญดูแล กกต.ต้องเป็นกลาง อาจให้ได้เพียงข้อมูลวิธีการลงคะแนน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการสนับสนุน แต่ กกต. อาจจัดเวทีหรือเงื่อนไนที่เป็นกลาง เช่น ประสานสถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ให้กลุ่มเห็นด้วยคัดค้านออกอากาศเท่าเทียมกัน โดยยังมีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในการลงประชามติ รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐสั่งการโดยมิชอบ ข่มขู่คุกคาม หรือจัดสรรเวลาการชี้แจงโดยได้เปรียบเสียเปรียบ นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามตินั้น การลงคะแนนออกกเสียงประชามติจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า การลงคะแนนในเขตนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งนอกราชอาณาจักรเหมือนการเลือกตั้งทุกอย่าง










กำลังโหลดความคิดเห็น