xs
xsm
sm
md
lg

เลิกเพดานอายุราชการตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (13 .ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี มีการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นอกสถานที่เป็นวันแรก โดยจะมีการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในส่วนที่เหลือทั้งหมด เริ่มจากภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐใน มาตรา 217 ไปจนถึงบทเฉพาะกาล พร้อมกับนำมาตรา ที่คณะกมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นไม่ตรงกันมาพิจารณาด้วย คาดว่าการพิจารณารายมาตรา น่าจะเสร็จสิ้นได้ในวันที่ 16 ก.ค. จากนั้นจะใช้เวลาที่เหลืออีก 2-3 วัน ในการทบทวนเนื้อหาทั้งหมด
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิชย์ โฆษกกมธ.ยกร่าง รธน. แถลงหลังการประชุมว่า ได้พิจารณาปรับแก้ มาตรา 226 ที่เดิมกำหนดอายุเกษียณราชการของตุลาการศาลยุติธรรม และตุลาการศาลปกครอง ให้เหลือ 65 ปี ซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งบริหาร โดยอาจจะได้รับการพิจารณาเป็นตุลาการอาวุโสต่อไปได้อีก 5 ปีนั้น ที่ประชุมเห็นว่า อาจมีปัญหาปฏิบัติในบางศาล โดยเฉพาะศาลปกครอง ที่ตำแหน่งตุลาการศาลปกครองสูงสุด มักจะเริ่มเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไปแล้ว และบางคนมาสอบได้เมื่ออายุ 60 ปี จึงอาจเกิดปัญหาทางปฏิบัติ จนทำให้ตุลาการขาดแคลน เพราะประเทศไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะตัดบทบัญญัติที่กำหนดอายุการพ้นจากราชการที่ 65 ปีออกไป โดยให้แต่ละศาลไปบัญญัติในกฎหมายของตนเองว่า จะมีแนวทางการปฏิบัติอย่างไร อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติกำกำหนดให้ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และ ประธานศาลอื่น นอกจากศาลรัฐธรรมนูญ และศาลทหาร ดำรงตำแหน่งสีปี และได้เพียงวาระเดียวยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ สืบเนื่องจากผลการปรับแก้ในส่วนของโครงสร้าง ก.ต. การอุทธรณ์คำสั่ง ก.ต. ตามคำเรียกร้องของฝ่ายตุลาการไปแล้ว ทำให้ทาง กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับแก้โครงสร้าง คณะกรรมการอัยการ (กอ.) ไปในแนวทางเดียวกัน คือโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และที่มา ให้เป็นไปตามที่กฎหมาย ซึ่งอัยการสูงสุดและคณะ จะเป็นผู้เสนอขึ้นมาเอง แต่อย่างไรก็ตาม พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ในส่วนของประธาน กอ. นั้น ได้มีการบัญญัติให้ชัดเจนว่า จะต้องมาจากอดีตข้าราชการอัยการเท่านั้น ซึ่งทำให้อัยการสูงสุดมาเป็นประธาน กอ.ไปด้วยอย่างในปัจจุบันไม่ได้

** สปช.ผ่านแผนปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจ

วานนี้ (13ก.ค.) มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาแผนปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจ ระบบพรรคการเมือง (รอบ 2 ) โดย นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ชี้แจงว่า การปฏิรูปการบริหารพรรคการเมือง หัวหน้าพรรคต้องผ่านการเลือกตั้งจากสมาชิกพรรค โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้จัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ต้องผ่านการเลือกตั้งขั้นต้นของสมาชิกในพื้นที่ (PRIMARY VOTE) และผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องลาออกจากการเป็นกรรมการใหญ่พรรค และกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้ ระบบพรรคการเมืองต้องเป็นแบบหลายพรรคโดยไม่มีกลุ่มทางการเมือง
ส่วนการยุบพรรคการเมืองนั้น ห้ามมิให้ยุบพรรคการเมือง เว้นแต่พรรคการเมืองได้กระทำผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำลายความมั่นคงของชาติ
สำหรับระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทย คือระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน โดยมี ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบปิด 100 คน ทั้งนี้ ต้องปฏิรูปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นองค์กร และกลไกจัดการเลือกตั้ง ให้มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการป้องปรามการซื้อสิทธิ ขายเสียง อย่างไรก็ตาม แผนปฏิรูปโครงสร้างองค์กรอิสระ ต้องลดการแทรกแซงทางการเมือง โดยให้มีการเติบโตอยู่ในระบบอุปถัมภ์ ซึ่งการปฏิรูปองค์กร กลไกการทำงานขององค์กรอิสระเราให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. กล่าวว่า จากที่มีข่าวเรื่องการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ยืนยันว่า สปช.ไม่เคยเสนอตั้งรัฐบาลแห่งชาติแม้แต่คนเดียว และเมื่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ไปสู่การเลือกตั้ง จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่า วิกฤติทางการเมือง โดยเฉพาะการจากระบบการเมือง และระบบการเลือกตั้งในอดีต จะไม่มีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยความรุนแรงทางการเมืองจนเกิดการยึดอำนาจอีก ซึ่งรายงานของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง ที่เริ่มต้นการเข้าสู่อำนาจองค์กรจัดการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ซึ่งความจริงแล้วเรื่องระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความเป็นจริง คือระบบสัดส่วนผสม การคำนวณ ส.ส.เขตใหญ่ขึ้น แต่ไม่ใหญ่เกินกว่าที่จะดูแลประชาชน ซึ่งขณะนี้ไม่มีสถาบันทางการเมืองที่แน่นอน ดังนั้น ใครจะมาเป็นหัวหน้าพรรค ต้องทำการพิสูจน์ตัวเองอย่างน้อย 6 เดือน ให้สมาชิกพรรค และสาขาพรรคยอมรับ เพราะหัวใจของระบบพรรคการเมือง อยู่ที่ประชาชน นี่คือวิวัฒนาการทางการเมืองที่ผ่านมา แต่กุญแจที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น จำเป็นต้องสร้างคุณภาพ และมาตรฐานทางการเมือง ทั้งในส่วนพรรคการเมือง องค์กรที่ดูแลกำกับการเลือกตั้ง องค์กรตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในรายงานฉบับนี้ เราพยายามพูดถึงปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง พยายามสร้างมาตรการต่างๆ รวมถึงการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่แน่นอนที่สุดในสังคมศรีธนชัยนั้น ทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะมีกฎหมาย หรือกฎกติกาอะไรออกมาอย่างไร
จากนั้น สมาชิกสปช. แสดงความคิดเห็นเรื่องการเลือกคณะกรรมการ กกต.จังหวัด โดยสมาชิก สปช. เสนอให้รับสมัครและเลือกที่ส่วนกลางเพียงที่เดียวแล้วจึงส่งลงไปประจำแต่ละจังหวัด เพื่อป้องกันความเป็นอิสระ และปลอดจากคนของนักการเมือง โดยนายสมบัติ กล่าวว่า ขอน้อมรับคำแนะนำ และความคิดเห็นของสมาชิกทุกคนไปประกอบการพิจารณาต่อไป จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นชอบรายงานดังกล่าว พร้อมส่งให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนน 200 ต่อ 2 งดออกเสียง 5

** ปัด 40 ส.ว.ลอบบี้ล้มร่างรธน.

อย่างไรก็ตาม นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช.ได้ขอหารือต่อที่ประชุมว่า ตามที่มีสื่อเสนอข่าวว่า มีกลุ่ม 40 ส.ว. ไปหารือกัน และจะทำการล็อบบี้ให้สมาชิก สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และ มีสมาชิก สปช. ส่งไลน์มาบอกว่า พวกเรามีสติปัญญา ไม่ได้กินแกลบกินรำสามารถที่จะให้ใครครอบงำได้ ถ้าเรื่องนี้ไม่มีการชี้แจง พวกเราก็จะเข้าใจผิดไปใหญ่ 40 ส.ว.ความจริงเลิกกันไปแล้ว บังเอิญเคยร่วมเป็น ส.ว. ปัจจุบันบางส่วนไปเป็นกรรมาธิการยกร่างฯ และ สปช. ตนเรียนว่า เดือนหนึ่งเรากินข้าวและคุยกันบ่อย เหมือนกลุ่มจังหวัด หรือกลุ่มอื่นๆ ที่ทำงานในลักษณะปรึกษาหารือกัน ในฐานะที่เคยทำงานทางการเมืองมา ต้องยอมรับว่ามีการพูดคุย กินข้าวกัน และติดตามสถานการณ์การเมืองแลกเปลี่ยนกันตามปกติ แต่ไม่เคยมีการพูดเลยว่า ให้พวกเราไปล็อบบี้ สปช.ให้ล้มร่างรธน. ข่าวนี้ออกมาคลาดเคลื่อน ไม่ตรง และไม่อยากให้พวกเราเข้าใจผิดซึ่งกันและกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น