“บวรศักดิ์” เข้าสภาเก็บของแจกพระ บริจาคหนังสือให้ห้องสมุด หลัง สปช. โหวตคว่ำร่าง รธน. เผย ป้ายห้อง “เทียนฉาย - ทัศนา” ยังไม่ปลด ด้าน “อดีต สปช.” แนะเสนอร่าง รธน. ใหม่ไม่ควรใส่รายละเอียดเยอะ
วันนี้ (7 ก.ย.) มีรายงานว่า หลังจากที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติเสียงข้างมากลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 36 คน ต้องสิ้นสุดการทำหน้าที่ไปด้วยนั้น
โดยบรรยากาศที่ห้องประชุมยกร่างรัฐธรรมนูญตลอดทั้งวันเป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีสมาชิก กมธ. ยกร่างฯ ทยอยเดินทางมาเก็บอุปกรณ์การทำงาน รวมทั้งเอกสารและข้อมูลการประชุมที่สำคัญ ๆ อาทิ พล.ท.นคร สุขประเสริฐ นายปรีชา วัชราภัย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ได้ทยอยจัดเก็บเอกสารสำคัญ ๆ บรรจุลงกล่องกระดาษเพื่อเตรียมขนย้ายออกจากห้องประชุม ส่วนบริเวณหน้าห้องวอร์รูม ของ กมธ. ยกร่างฯ ที่ตั้งอยู่อาคาร รัฐสภา 3 นั้น ได้ปลดป้ายชื่อคำว่า “ห้องคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ออกแล้วเช่นเดียวกัน
ขณะที่เวลาประมาณ 15.00 น. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ. ยกร่างฯ และรองประธาน สปช. คนที่ 1 ได้เดินทางเข้ามาทยอยเก็บสิ่งของและเอกสารสำคัญ ๆ ที่ห้องทำงานส่วนตัว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่ชั้น 3 ของอาคารรัฐสภา 1 โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ ในส่วนของหนังสือกฎหมายต่าง ๆ รวมถึงหนังสือธรรมะจำนวนมาก นายบวรศักดิ์ได้มอบให้ห้องสมุดของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากนี้ ยังได้มอบพระสมเด็จหลวงปู่ดี ธมมธีโร วัดเทพากร บางพลัด กรุงเทพฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานร่วมกันมาตลอด 11 เดือน โดย นายบวรศักดิ์ ได้กล่าวแบบติดตลกว่า วันนี้มาเป็นวันสุดท้ายแล้ว จึงขอมอบพระให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยขอตั้งชื่อว่า “รุ่นโล่งอก” ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ได้ขอถ่ายรูปร่วมกับนายบวรศักดิ์ เพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย
ทั้งนี้ ที่บริเวณหน้าห้องทำงานของนายบวรศักดิ์ พบว่า ได้มีการนำป้ายชื่อและป้ายตำแหน่งรองประธาน สปช. คนที่ 1 ออกแล้ว ขณะที่ห้องทำงานของนายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสปช. และห้องทำงานของ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่ 2 ยังคงติดอยู่ตามปกติ
ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจหรือไม่ ว่า คงไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นการดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญกำหนด เพราะฉะนั้นกระบวนการหลังจากนี้ขึ้นอยู่กับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้ามาใหม่ 21 คน ที่จะวางแนวทาง และโครงสร้างว่าจะทำอย่างไร หรือแนวคิดในรัฐธรรมนูญใหม่ควรจะเป็นอย่างไร โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง รวมทั้งการวางแนวทางโครงสร้างและการจัดสรรอำนาจที่จะช่วยให้การบริหารประเทศ และการแบ่งส่วนอำนาจในการบริหารงานให้มีความสมดุล เพราะร่างรัฐธรรานูญฉบับที่เสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อลงมตินั้นมีรายละเอียดทางโครงสร้างการบริหารมากเกินไป จึงอาจเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดความขัดแย้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ดีต้องบังคับใช้ได้ทุกเวลา ทุกสถานการณ์ เพื่อความยั่งยืนของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ การจะทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ต้องไม่เป็นส่วนในการสร้างความขัดแย้งต่อหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยพลเมืองเป็นใหญ่ที่แท้จริง คือ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเน้นการคุ้มครองประชาชนในทุกด้านให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือในการร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกภาคส่วนและจะนำมาซึ่งความสามัคคีของคนในชาติ เพราะฉะนั้นกรรมาธิการยกร่างชุดใหม่ต้องคำนึงถึงจุดนี้ด้วย ทำอย่างไรถึงจะให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย