xs
xsm
sm
md
lg

ทาบไว้แล้ว 21 อรหันต์ร่าง รธน. ใครคิดรับงานระวังโดนหักหลัง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ยังไม่ทันที่มติสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 135 เห็นชอบ 105 และงดออกเสียง 7 โผรายชื่อว่าที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ต้องตั้งขึ้นภายในไม่เกิน 30 วันนับแต่ 6 ก.ย.ก็มีการลิสต์เอาไว้แล้วในทางลับของบิ๊ก คสช.ว่าจะติดต่อทาบทามใครบ้าง!

จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่า กระแสข่าว คสช.ส่งสัญญาณให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีมูลความจริง

ของแบบนี้ ต่อให้บิ๊ก คสช.ไล่ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จนถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตลอดจน สปช.ที่เป็นแกนนำในการล็อบบี้ให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาปฏิเสธอย่างไรก็ไม่มีใครเชื่อ

เมื่อไล่ดูผลการออกเสียงของ สปช.ที่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแต่ละคนก็เห็นชัด โดยเฉพาะ สปช.สายทหาร และอดีตนายทหาร-สายข้าราชการ และอดีตข้าราชการที่มีสายสัมพันธ์โยงถึง คสช. ได้ลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ออกมาทางเดียวกันหมด ไม่มีแตกแถว

แต่เมื่อมติ สปช.มันจบไปแล้ว ตอนนี้ก็ต้องมองไปข้างหน้ากับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นกันดีกว่า

ทั้งนี้ ตามข่าวบอกว่าเรื่องการเตรียมตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ล่าสุด คสช.มีลิสต์ไว้เกิน 21 คนแล้วเพื่อเผื่อเหลือเผื่อขาด อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าที่คงหายากมากที่สุดก็คือ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหลายคนเมื่อเห็นสิ่งที่ คสช.ทำกับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ด้วยการส่งซิกให้ สปช.ในเครือข่าย คสช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ คสช.ทาบทามให้บวรศักดิ์มาร่างรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง มันคงทำให้ใครที่คิดจะมาเป็นประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคงต้องคิดหนักหลายรอบ

จะมีชะตากรรมเดียวกับ “บวรศักดิ์” ที่เสียเครดิตงานนี้ไปมากโข

คนที่ถูก คสช.ทาบทามคงต้องไตร่ตรองกันหลายรอบ และอาจขอสัญญาใจอะไรบางอย่างจากบิ๊ก คสช.ว่าจะให้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นอิสระ มีใบสั่งบางเรื่องได้ แต่ไม่เอาทั้งหมด ที่สำคัญคงขอคำมั่นสัญญาว่าเมื่อร่างเสร็จแล้วส่งไปทำประชามติ ทางรัฐบาลและคสช.ต้องให้การสนับสนุนในช่วงทำประชามติอย่างเต็มที่ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติออกมาให้ได้

หากไร้การพูดคุยที่ชัดเจนตรงนี้ระหว่าง คสช.กับประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมการอีก 20 คน ก็เชื่อว่าคนที่ทาง คสช.ติดต่อทาบทามคงคิดหนัก และอาจไม่ตอบรับเทียบเชิญ คสช.ไป

ท่ามกลางข่าวลือหนาหู คสช.ติดต่อบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จำนวนหนึ่งแล้ว โดยกลุ่มที่ตอบรับเป็นพวกใกล้ชิด คสช. เคยทำงานให้ คสช.แบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการทั้งสิ้น กลุ่มพวกนี้คงไม่คิดมาก ไม่แคร์อยู่แล้วว่าใครจะมองว่ามาทำงานให้ คสช. ขอแค่มีบทบาทหน้าที่ทางการเมืองก็ตอบรับแล้ว แต่พวกคิดหนักหากถูก คสช.ทาบทามคงเป็นพวกนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญ-นักกฎหมายมหาชน พวกนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง เพราะหากร่างรัฐธรรมนูญออกมาแล้วโดนประชาชนทั้งประเทศลงประชามติไม่ให้ผ่าน มันก็เสียหน้า คนกลุ่มนี้จึงน่าจะเป็นกลุ่มที่ คสช.ต้องใช้วิธีการเจรจาทาบทามหลายรอบ และเชื่อว่าน่าจะมีการทาบทามไปแล้ว และมีตอบรับกันมาบ้างแล้ว แต่จะมีใครบ้าง สัก 2-3 วันรายชื่อคงทยอยหลุดออกมา

ขณะเดียวกัน แม้จะมีข่าวว่าเริ่มติดต่อทาบทามบางคนเอาไว้แล้ว แต่กว่า คสช.จะเคาะชื่อออกมาคงต้องกลั่นกรองให้แน่ใจหลายรอบ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญโดยกรรมการร่าง 21 คน ดังกล่าว ที่ต้องร่างใหม่ภายในไม่เกิน 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ คสช.ได้ต่ออายุตัวเองไปโดยปริยาย คราวนี้ไม่ต้องส่งให้ใครกลั่นกรอง โหวตผ่าน-คว่ำอีกแล้ว ร่างเสร็จต้องส่งให้ประชาชนลงประชามติไปเลย

ในรอบนี้ บิ๊กตู่ และคสช.ก็ต้องเลือกมาเป็นพิเศษ เพราะเป็นการร่างที่ไม่มีด่านกันชนอย่าง สปช.ให้แล้ว คราวนี้ คสช.ต้องรับผิดชอบเต็มๆ ในฐานะเป็นคนเลือก และตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมา 21คน กับมือ

หากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไปร่างรัฐธรรมนูญออกมาไม่ดี คนวิจารณ์หนัก แรงต้านมาก คสช.ก็รับไปเต็มๆ ยิ่งหากประชามติไม่ผ่าน มันก็คือการที่ประชาชนแสดงออกว่า ไม่เอา คสช.-ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญของ คสช. ทางบิ๊ก คสช.ก็ต้องคิดหลายตลบ ในการตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน จะให้เป็นอิสระมาก ร่างตามใจชอบมากก็คงไม่ได้


รายชื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่จะออกมาจึงสำคัญอย่างมากต่อ คสช.

เรียกว่า ทั้ง คสช.-ทั้งคนที่ถูกทาบทาม ต่างคิดหนักด้วยกันทั้งสองฝ่าย

สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ เมื่อได้รายชื่อมาแล้ว 21 คน ทางกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเริ่มทำงานกันช่วง 6 เดือน ต่อจากนี้ คือ ตุลาคม 58 ถึงมีนาคม 59 จากนั้นก็เข้าสู่ช่วงการส่งร่างไปทำรณรงค์ ทำประชามติ ก็จะอยู่ในช่วง เมษายน ถึง กรกฎาคม 59 หากประชามติผ่าน ก็จะต้องมีการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญๆ กันอย่างน้อย 6-7 ฉบับ

เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. และขั้นตอนต่างๆ อีกหลายขั้นตอน เช่น การส่งร่างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเสร็จแล้วก็ต้องส่งร่างไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก รวมแล้วก็อีกหลายเดือน

คาดกันว่าหากเป็นไปตามนี้ บนปัจจัยสำคัญคือ ผ่านประชามติ กว่าจะมีการเลือกตั้งได้เร็วสุดก็ประมาณช่วง พ.ค. ปี 60 โน่นเลย

ก็รอลุ้นกันไปอีกหลายยก ที่แน่ๆ มติ สปช.ที่ออกมา ฝ่ายหนึ่งที่ได้เต็มๆ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ที่ได้อยู่ในอำนาจยาวต่อไปอีกร่วม 6-8 เดือน แบบไม่ต้องออกแรงอะไรมาก

สำหรับเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ สปช.คว่ำร่างรธน.ครั้งนี้ มันรู้กันภายในระหว่าง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญบางคนที่รู้สภาพมาร่วม 2-3 วันก่อนวันลงมติแล้วว่า ร่างไม่ผ่านแน่นอน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกลุ่มนี้ ได้ข่าวมาลึกๆ ว่า มีข้อตกลงกันภายในระหว่างสาย คสช. กับพวก สปช.ที่ล้มร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอให้สบายใจได้ เรื่องที่เป็นหลักการดีๆ ในร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกคว่ำ เช่น เรื่องหลักการ-แนวคิดการปฏิรูปประเทศ การสร้างระบบและกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทั้งหมด คสช.จะขอให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 21 คน นำไปใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะร่างขึ้นมาทั้งหมด เรียกว่าคงของเดิมไว้เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอน

หลักการคือ จะให้นำร่างที่ สปช.ตีตก เป็นหลัก แล้วปรับปรุงส่วนที่คนเห็นว่าเป็นข้อบกพร่อง เป็นจุดเสีย ตรงไหนไม่ดี ก็ไม่เอามา ยกทิ้งให้หมด การร่างรัฐธรรมนูญก็น่าจะแล้วเสร็จทันภายใน 180 วันแน่นอน คำมั่นสัญญาดังกล่าวที่มีการบอกต่อๆ กันมาจึงเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ สปช.ลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ

จากข่าวนี้ก็ทำให้เชื่อได้ว่า เรื่องที่ คสช.ไม่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ อย่างเช่น ที่มาของ ส.ว. หรือเรื่องที่คนคัดค้านมากอย่างเช่น อำนาจพิเศษของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อปฏิรูปและปรองดอง ก็อาจถูกทบทวน และตัดออกไปจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ว่าเรื่องนี้ คสช.ต้องการแต่หากดูแล้ว กระแสต้านแรง ก็คงยอมเลิกล้มไป
กำลังโหลดความคิดเห็น