xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” เผย คสช.ยังไม่ได้คุยตั้ง กก.ร่าง รธน.ชี้คนนั่งต้องเข้าใจการเมือง แจงโรดแมป ครม.พรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรี บอก คสช.ยังไม่ได้มอบหมายให้ไปยุ่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รับไม่ใช่หาง่าย ไม่รู้คนเก่าเข้ามาหรือไม่ รู้แต่ทหารยังไม่ได้คุย เตรียมสรุปแนงทางโรดแมปต่อ ครม.พรุ่งนี้ ใช้สูตร 6-4, 6-4 รวม 20 เดือน แต่บางเรื่องทำให้สั้นลงได้ ระบุต้องเตรียมแผนหากประชามติไม่ผ่าน ส่วนสเปกกรรมการฯ ต้องเข้าใจการเมือง เชื่อคงไม่เอาแนวคิดตรงกันข้ามนั่ง โยนคิดไม่เอา คปป.แล้วปัญหาจะทำยังไง ฉะการเมืองยังกั๊กไม่ปรองดอง ยังไม่ได้คุย “บวรศักดิ์”

วันนี้ (7 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 09.15 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ว่า การตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตนยังไม่ได้รับมอบหมายให้เข้าไปเกี่ยวข้อง เข้าใจว่าขณะนี้ยังไม่มีการเตรียมการอะไร เพราะมีเวลา 30 วัน และไม่ใช่อะไรที่หาง่าย แต่ในที่สุดต้องหาจนได้ ส่วน กมธ.ชุดเก่าบางคนจะเข้ามาด้วยหรือไม่นั้นไม่ทราบ รู้ว่าขณะนี้ คสช.ยังไม่ได้หารือเพราะยังเร็วไป แต่จากนี้ไปคงมีการดำเนินการ

นายวิษณุกล่าวว่า ในวันที่ 8 ก.ย. ตนจะสรุปและชี้แจงโรดแมปแนวทางต่อจากนี้ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะกรรมการร่างฯ 21 คน การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 200 คน และการบริหารเวลาจากนี้ โดยจะใช้สูตร 6-4, 6-4 คือ คณะกรรมการร่างฯใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ทำประชามติ 4 เดือน หากประชามติผ่านจะใช้เวลาทำกฎหมายลูกและให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา 6 เดือน ต่อจากนั้นอีก 4 เดือนสำหรับการเลือกตั้ง รวมแล้ว 20 เดือน นับจากที่มีคณะกรรมการร่างฯ แต่ในบางเรื่องสามารถทำให้สั้นลงได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทำประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องเตรียมวิธีการเพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้คิดไกลถึงขณะนั้น วันนี้ไม่คิดแง่ร้ายขนาดนั้น แต่หากถึงจุดหนึ่งต้องคิดเตรียมไว้

เมื่อถามถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการร่างฯ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องมีความรู้ในการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกฎหมาย แต่ต้องเข้าใจเรื่องการเมืองและสภาพเมืองไทยในหลายมิติ ส่วนจะเอาคนที่มีแนวคิดเดียวกับ คสช.หรือไม่นั้น เขาคงไม่ถึงกับเอาคนที่มีแนวคิดตรงข้ามรัฐบาล เพียงแต่จะหาคนที่มีแนวคิดเดียวกับรัฐบาลยาก ยังเร็วไปที่จะพูดเรื่องนี้ เข้าใจว่าคนที่มีหน้าที่มีการมองไว้บ้างแล้วแต่ยังไม่ถึงกับทาบทาม พอถึงเวลา คสช.ทั้งคณะต้องคุยกัน ต้องดูว่าเขาพร้อมจะมาหรือไม่ เหมือนการหาคนเป็น ครม.ที่บางคนมีภาระไม่สามารถเป็นได้ แต่ในที่สุดต้องหาจนได้ และไม่จำเป็นต้องตั้ง 21 คน เพราะประธาน 1 กรรมการไม่เกิน 20 คน

เมื่อถามว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะมีการหยิบยกเนื้อหาเดิมมาพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า แล้วแต่การพิจารณาของคณะกรรมการร่างฯ อาจเอาเนื้อหาของร่างที่ถูกคว่ำไปมาพิจารณาเพราะมีทั้งข้อดีข้อเสีย หรือเอาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 หรือปี 50 มาพิจารณาด้วยก็สามารถเสนอเข้ามาได้ เมื่อถามว่า ประเด็นที่คนไม่พอใจอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) จะกลับมาได้อีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “จะกลับมาหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่คนที่เป็นคณะกรรมการร่างฯ ต้องคิด ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าถ้าไม่เอาตัวนี้แล้วปัญหามีอยู่จะทำอย่างไร เพราะเรื่องนี้ก มธ.ยกร่างฯ ชุดที่แล้วเขาดูที่ปัญหาแล้วหามาตรการรองรับ เมื่อคนไม่ชอบมาตรการที่รองรับ ปัญหาที่กลัวว่าจะเกิดยังกลัวอยู่หรือไม่ ถ้าไม่กลัวก็ไม่ต้องมีมาตรการ แต่ถ้ากลัวอยู่ก็ต้องคิดมาตรการอื่น”

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้มาตรา 44 อยู่แล้ว เหตุใดต้องมี คปป.อีก รองนายกฯ กล่าวว่า ต่อไปถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่ มาตรา 44 จะหมดไป การร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ ชุดที่ผ่านมาจึงคิด คปป.ขึ้นมาแทน ซึ่งทุกฝ่ายต้องช่วยกัน แต่ให้คณะกรรมการเป็นพระเอกเพื่อทำให้เห็นว่าไม่มีการสร้างกลไกเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. ครม. ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงนักการเมือง ต้องแสดงให้เห็นว่าจะไม่สืบทอดภารกิจลักษณะความประพฤติแบบเก่าที่เคยทำ ถึงจะทำให้สังคมเกิดความไว้วางใจ การจะบอกว่าฝ่ายหนึ่งสืบทอดอำนาจนั้นไม่ได้ เพราะอีกฝ่ายก็ยังต้องสืบทอดเจตนารมณ์อยู่ ถ้าต่างฝ่ายต่างลดราวาศอก ยอมรับว่าประเทศบอบช้ำมามากควรตั้งใจทำอะไรให้ดี หันหน้าเข้าหากัน ปรองดองกันจะเกิด แต่วันนี้ดูกั๊กๆ กันอยู่

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ รองนายกฯ กล่าวว่า มีหลายสาเหตุ ไม่สามารถยกตัวอย่างได้ เพราะตนไม่รู้จริง จากนี้คงมีคนออกมาพูดถึงสาเหตุ ซึ่งแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ส่วนขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น