ปธ.กมธ.ยกร่างฯ ยืนยัน 21 กมธ.ยกร่างฯ นั่ง สปช. ลงมติร่าง รธน.ได้ เป็นสิทธิตาม รธน.-ประเพณี ท้ายสุดก็อยู่ที่ ปชช.ตัดสิน ย้อนไม่เคยตั้งข้อสงสัย สนช.-ส.ส.ลงมติ กม. มีประโยชน์ทับซ้อน ตัดพ้อมีปัญหาเพราะไม่ชอบ รธน. หวังคว่ำ รธน.ทุกทาง ท้าดำเนินคดีพร้อมฟ้องกลับ ติงสื่อถามคำถามสมมติ จะตอบแต่ รธน.
วันนี้ (1 ก.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวยืนยันว่ากรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 21 คน ที่เป็นสมาชิก สปช.สามารถลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญได้เพราะ 1. การโหวตเป็นสิทธิและเป็นเอกสิทธิที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 รับรองไว้ 2. ประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมาในประเทศไทย ถ้าจะห้ามโหวตต้องมีกติกาชัดเจน เช่น รัฐมนตรีเข้าประชุมได้แต่ห้ามโหวตในกิจกรรมที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 3. ประเพณีที่ผ่านมาการลงมติของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในปี 2540 และปี 2550 ก็สามารถลงมติได้ แต่การลงมติในกระบวนการของ สปช.ยังไม่ถือว่าเป็นที่เด็ดขาด เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการเห็นชอบจาก สปช.ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าผ่านความเห็นชอบก็จะไปสู่ขั้นตอนการขอความเห็นชอบจากประชาชน ในการลงประชามติ
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ในทางปฏิบัติที่เห็นว่าไม่เข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกัน คือ กรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในกฎหมายหลายฉบับผ่านไปแล้วและเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์แล้วเช่นกัน อาทิ กฎหมายเงินเดือนข้าราชการและการลงมติใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่พบว่า สนช.ที่เป็นข้าราชการลงมติโหวตได้ และก็เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ ซึ่งตนก็ไม่เคยไปตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใด สนช.ที่เป็นข้าราชการจึงลงมติในกฎหมายเหล่านี้ได้ อีกทั้งในอดีต ส.ส.ที่เสนอกฎหมายและลงมติในวาระที่ 1 และเข้าไปเป็นกรรมาธิการ ในวาระที่ 2 และลงมติในวาระที่ 3 ก็ไม่เคยมีปัญหาและกฎหมายก็สามารถบังคับได้
“แต่มามีปัญหาในยุคนี้เท่านั้นเพราะไม่ชอบรัฐธรรมนูญ ต้องการให้รัฐธรรมนูญคว่ำทุกวิถีทางใช้อะไรมาเป็นข้ออ้างได้ก็ใช้ทั้งสิ้น โดยสมาชิก สปช.บางคนถึงกับออกมาขู่ว่าจะดำเนินคดีทางอาญากับ กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็น สปช.หากลงมติในวันที่ 6 กันยายนนี้ ดังนั้น ถ้าพวกผมทั้ง 21 คนลงมติ คนที่พูดก็ลองไปดำเนินคดีอาญา ผมก็จะดำเนินคดีอาญากลับเหมือนกันฐานฟ้องเท็จ ก็จะได้สู้กันต่อไปให้ไม่รู้จักจบ ดังนั้น ขอชี้แจงว่าการลงมติเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำกันมา การหาเรื่องตัดสิทธิคนอื่นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอย้ำว่ามีสิทธิตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว และประเพณีที่ปฏิบัติกันมา 83 ปี ส่วนจะใช้สิทธิหรือไม่ก็ค่อยว่ากัน ซึ่งการลงมติของ สปช.ไม่ได้เป็นการชี้ขาดว่าร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ได้ หากไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญก็อย่าเอาประเด็นเล็กประเด็นน้อยมาทำเป็นประเด็น”
เมื่อถามถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในช่วงการทำประชามติและหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว นายบวรศักดิ์กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยระบุว่า “ผมจะไม่ตอบคำถามที่เอาความเห็นของคนอื่นมาถาม ขอให้ไปถามคนพูด เราต้องการร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อป้องกันความขัดแย้งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่ตอบคำถามสมมติ ขอให้สื่อถามที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น”