xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องนี้ “วิษณุ” จะไม่ยุ่ง! “เทียนฉาย” คอนเฟิร์มไร้ข้อห้าม สปช.นั่ง กมธ.ยกร่างฯ โหวต รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ไม่ยุ่ง สปช.ทะเลาะกันเรื่องห้ามพวกนั่ง กมธ.ยกร่างฯ โหวต บอกตามความสมควร ชี้รัฐธรรมนูญใหม่แก้ได้บางเรื่อง ยก พ.ร.บ.ปืน แต่ก็ยังมีปืนอยู่ ด้านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติระบุยังไม่เห็นข้อกฎหมายใดที่ห้ามไปลงมติ คาดไม่เกิดปัญหา แถมไม่มีสิทธิ์ห้ามด้วย และไม่เป็นประโยชน์ทับซ้อน โยน ครม.ชงศาล รธน.ตีความเรื่องคำปรารภหรือไม่

วันนี้ (28 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.00 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้องให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ที่เป็นสมาชิก สปช.งดออกเสียงในการลงมติร่างรัฐธรรมนูญว่า หากเขาไม่ได้ทะเลากันอยู่ตนจะสามารถอธิบายความเห็นได้ แต่พอเขามีปัญหากันอยู่ ตนเป็นรัฐบาลอยู่จึงไม่ควร หมูเขาจะหามอย่าเอาคานเข้าไปสอด เป็นเรื่องของเขาว่าจะโหวตหรือไม่โหวตให้ไปว่ากันเอง เพราะเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของความสมควร ไม่ได้เป็นเรื่องของกฎหมาย ทั้งกฎหมายและข้อบังคับไม่ได้ห้าม แต่เป็นการเรียกร้องเรื่องความสมควร จึงไปตอบแทนเขาไม่ได้ เป็นดุลพินิจของเขาเอง

นายวิษณุกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวพอใจในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐบาลเสนอขอแก้ไขและ กมธ.ยกร่างฯ แก้ให้ อย่างเรื่องคดีที่ไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีการปรับเปลี่ยน ต่อไปสามารถอุทธรณ์ได้ เดิมคิดว่าจะให้ฟ้องที่ศาลอุทธรณ์แล้วอุทธรณ์ไปศาลฎีกา แต่เขาว่าไม่ได้ จึงให้ฟ้องไปที่ศาลฎีกาแล้วให้อุทธรณ์ต่อไปได้อีก ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 40 ห้ามในการอุทธรณ์ ส่วนรัฐธรรมนูญปี 50 ให้อุทธรณ์ได้ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย ส่วนเรื่องทำผิดหรือไม่ผิดไม่สามารถทำได้เพราะถือว่าสิ้นสุดแล้ว แต่ถ้าผิดข้อหาอะไร โทษหนักไปหรือไม่ซึ่งเกี่ยวกับข้อกฎหมายสามารถอุทธรณ์ต่อได้ แต่จะอุทธรณ์อย่างไรก็ผิดอยู่ดี หากจะหาหลักฐานใหม่ก็หาไม่ได้แน่

“รัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถอุทธรณ์ใหม่ได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งหลักฐานเก่า หลักฐานใหม่ เหมือนกับคดีสองศาลทั่วไป ซึ่งผมพอใจ แต่ยังนึกไม่ออกว่า ต่อไปจะอุทธรณ์ไปไหนในเมื่อศาลฎีกาส่งคนมานั่งเป็นองค์คณะ 9 คนในแผนกคดีอาญาแล้ว จะไปที่ไหน ใครจะเหนือกว่านี้อีก ศาลฎีกาคงต้องตั้งอีกคณะหนึ่งขึ้นมาพิจารณา ซึ่งผมได้แนะไปว่าต้องเอาระดับประธาน รองประธาน หัวหน้าคณะ ต้องระดับใหญ่กว่าพวกองค์คณะเก่า เพราะจะทำให้เกิดความเกรงใจกัน” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสามารถแก้ไขปัญหาในอดีตได้อย่างที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ระบุไว้หรือไม่นั้น มองว่าสามารถแก้ได้บางเรื่อง อย่าไปคาดหมายว่าประเทศจะต้องขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญ อย่างเรามี พ.ร.บ.อาวุธปืนแต่ก็ยังมีปืนอยู่ทั่วไป ต้องคิดว่าถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญจะเกิดอะไรขึ้น ถ้ามีก็จะดีกว่าไม่มี และขณะนี้เรามาถึงที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว

เมื่อถามถึงเหตุผลเพิ่มเติมที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนอกเหนือจากนายบวรศักดิ์ที่ระบุเหตุผลมา 3 ข้อ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ตอบ ขอเก็บไว้ก่อน เราต่างมีสิทธิโหวตว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ด้านนายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงกรณีที่สมาชิกบางรายที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สปช. ที่เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรจะลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างผลประโยชน์ทับซ้อนว่ายังไม่มีหนังสือเรื่องนี้มาถึงตน ไม่แน่ใจว่าเจ้าตัวจะไปยื่นเองหรือไม่ แต่ในฐานะประธาน สปช.ตนยังไม่เห็นข้อกฎหมายใดที่ให้อำนาจประธานห้าม สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ ลงมติ คาดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกิดปัญหา เพราะการลงมติครั้งนี้เป็นการลงมติโดยเปิดเผย สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ จะโหวตรับหรือไม่รับก็จะมีการบันทึกไว้ ซึ่งผลโหวดในท้ายที่สุดหากคะแนนของ สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ ไม่ทำให้ผลการลงมติเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีปัญหา ปัจจุบัน สปช.เหลือสมาชิก 247 คน ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะต้องมีเสียงโหวตรับไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 124 คน จึงจะมีผลให้รัฐธรรมนูญผ่านไปสู่การทำประชามติได้ ทั้งนี้ใน กมธ.ยกร่างฯ มี สปช.อยู่ 21 คน รวมประธาน กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นรองประธาน สปช.ด้วย

“สมมติถ้ามีปัญหาจริงๆ ก็ไปหักเสียงของ สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯ ออกได้ เพราะรู้นี่ว่าใครโหวตอะไร แต่เชื่อว่าเขาโหวตได้เพราะทำในฐานะ สปช.ไม่ใช่ กมธ.ยกร่างฯ และที่สำคัญ ผมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะอ้างเพื่อไปห้ามเขาโหวตได้เลย” นายเทียนฉายกล่าว

ส่วนประเด็นในแง่ของความเหมาะสมนั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า ในฐานะประธาน สปช.คงไม่อาจวิจารณ์เรื่องความเหมาะสม เพราะประธานต้องยึดบรรทัดฐานของกฎหมาย แต่มองได้ว่าความเหมาะสมต้องขึ้นกับสองเรื่อง คือ วิจารณญาณของบุคคล กับเรื่องธรรมนูญปฏิบัติที่เคยทำกันมา ประเด็นคือในแง่นิติบัญญัตินั้น กรรมาธิการที่เป็นผู้ยกร่างกฎหมายต่างๆ เมื่อกฎหมายเข้าสู่สภา เขาในฐานะ ส.ส.หรือ สว.ก็มีสิทธิโหวตได้ มันเป็นตรรกะเดียวกัน แตกต่างจากบริบทของรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหาร เมื่อเสนอร่างกฎหมายเข้ามาสู่การพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ เขาไม่ควรโหวตเพราะอาจจะเข้าข่ายการมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่หน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติมันเป็นคนละแง่มุม ไม่ได้สะท้อนถึงประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง

สำหรับกรณีที่มี สปช.จำนวน 14 คนเข้าชื่อและยื่นหนังสือขอให้ประธาน สปช.เสนอเรื่องไปยัง ครม.เพื่อให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ ครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ โดยอ้างว่าขาดคำปรารภนั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า ยังต้องรอความชัดเจนทางกฎหมาย แต่ไม่ช้าแน่นอน เพียงแต่ไม่ต้องห่วงว่าจะไปเสียเงินเสียทองเปล่าๆ กับการลงประชามติ เพราะยังมีเวลาอีก 4-5 เดือน หากมีการยื่นและศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องก็ยังมีเวลาพิจารณาอีกนาน สำหรับการยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสภาปฏิรูปไม่มีอำนาจในการยื่น ต้องเป็น คสช.หรือ ครม.เท่านั้น ส่วน สนช.ก็ยื่นได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับกรอบอำนาจหน้าที่ของตนเอง

ต่อข้อถามว่าประธาน สปช.สามารถเป็นตัวประสานระหว่าง สปช.ที่เข้าชื่อเพื่อส่งไปยัง ครม.ได้หรือไม่นั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า มันไม่มีกฎหมายที่ระบุถึงกรอบอำนาจหน้าที่นี้ และเนื่องจาก สปช.เป็นองค์กรใหม่และเกิดจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงต้องอาศัยดูกฎหมายหลายฉบับในขณะเดียวกัน



กมธ.ยกร่างฯ แจง สปช.ย้ำอำนาจพิเศษ คปป.ป้องกันรัฐล้มเหลว - “บวรศักดิ์” ตามขออโหสิกรรม “วันชัย”
กมธ.ยกร่างฯ แจง สปช.ย้ำอำนาจพิเศษ คปป.ป้องกันรัฐล้มเหลว - “บวรศักดิ์” ตามขออโหสิกรรม “วันชัย”
ปธ.กมธ.ยกร่างฯ แจงคำปรารภเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ แต่ไม่ติดใจ สปช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ “วันชัย” แย้งราชประเพณีเปลี่ยนแปลง ควรยกร่างบางส่วนเพื่อให้เข้าใจก่อนลงมติ ด้าน กมธ.พร้อมนำกรณีชาวบ้านใช้สิทธิ์ฟ้องจัดการพวกล้มเลือกตั้ง “คำนูณ” เผย กก.ยุทธศาสตร์ มี 23 คน แต่ตั้งก่อนมีเลือกตั้ง 19 คน เลือกคนนอกนั่งประธานได้ ส่วนอำนาจพิเศษใช้แค่ป้องกันอำนาจรัฐล้มเหลว ขณะที่สภาดำเนินการปฏิรูปมีอายุ 1 ปี ด้าน “บวรศักดิ์” ตามล่าหา “วันชัย” พอเจอบอกขออโหสิกรรมให้ แหล่งข่าวฟันธงผ่านชัวร์ เว้นแต่ คสช.ส่งซิกใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น