2 กมธ.ปฏิรูป ชุด “สมบัติ-เสรี”นำทีมถกร่างรธน.อย่างไม่เป็นทางการ” จ่อยื่นหนังสือ “เทียนฉาย” ส่งต่อศาล รธน.ตีความร่างรธน.สมบูรณ์ทั้งฉบับหรือไม่ ห่วงตัวร่างรธน. เว้นว่าง “คำปรารภ” หวั่นถูกดึงไปเป็นปมยื่นขอตีความในอนาคต ชี้ คปป.มีผลร้ายมากกว่าผลดี เกิดความขัดแย้งบริหารประเทศ ระบุข้อห้ามคุณสมบัติส.ว.ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดคนดีมีความรู้เป็นสมาชิก ด้าน “บวรศักดิ์” แถลงโต้ทันควัน ยันเขียน ครบถ้วน ยกคำปรารภเป็นพระราชอำนาจไม่ก้าวล่วง แนะส่ง ชี้ขาดก่อน 6 ก.ย.กันปัญหาขัดรธน.ชั่วคราว
วันนี้ (24 ส.ค.) มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้หารือร่วมกับคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อกำหนดท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทำการส่งมอบร่างให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา
จากนั้น นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปการเมือง และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. นายอุดม เฟื่องฟุ้ง และนายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. ได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงผลการประชุมร่วมอย่างไม่เป็นทางการของคณะกมธ.
นายสมบัติ กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 57 มาตรา 37 วรรค 2 กำหนดให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ จากนั้นส่งต่อให้สปช.ลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กลับพบว่าไม่ได้เขียนคำปรารภไว้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 และปี 50 คำปรารภเว้นไว้เฉพาะเรื่องวันเดือนปีให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เขียนเพิ่มเติมเท่านั้น
นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานที่ปรึกษากมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าว ตนได้รับร่างรัฐธรรมนูญและได้หารือกับสมาชิกบางส่วนถึงความมีอยู่ของคำปรารภ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเว้นว่างคำปรารภไว้ ทั้งนี้คำปรารภคือหัวสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีคำปรารภจะถือว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 มาตรา37 วรรค 2 หรือไม่
“ผมได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เขาบอกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภเหมือนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือว่าสมบูรณ์ไม่ได้ คำปรารภเปรียบเสมือนหลักการและเหตุผล ซึ่งกฎหมายทุกฉบับต้องมี อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยชี้ขาดถึงความสำคัญของคำปรารภมาแล้วว่า เป็นหลักการสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ”นายอุดม กล่าว และว่า ภายใน2-3 วันนี้ จะพยายามรวบรวมรายชื่อสมาชิกเพื่อยื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. ใช้วิจารณญาณส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยถึงความแล้วเสร็จของร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความเสียหายของบ้านเมืองและงบประมาณที่จะต้องสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ประมาณ 3-4 พันล้านบาทในการทำประชามติ
นายเสรี กล่าวถึงปัญหาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ว่า คปป.จะมีอายุประมาณ 5 ปี ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติชั่วคราว แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับบัญญัติไว้ในบททั่วไปแทนที่จะบัญญัติให้อยู่ในบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระของคปป.ก่อให้เกิดการซ้ำซ้อนในการบริหารประเทศ แม้จะบอกว่าไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินก็ตาม แต่อำนาจมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
“เมื่อเลือกตั้ง เราจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ขณะเดียวกันเราก็มีคปป.เกิดขึ้นเพื่อกำกับดูแลรัฐบาล หากรัฐบาลหรือครม.ไม่ทำตามคปป.เสนอ คปป.ใช้เสียง 3 ใน 4 เพื่อยืนยันให้รัฐบาลดำเนินการ รัฐบาลต้องดำเนินการเหมือนถูกบังคับ กรณีแบบนี้ทำให้เห็นชัดว่ามีโอกาสขัดแย้งกันในการบริหารประเทศระหว่างรัฐบาลและคปป.” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวต่อว่า เราไม่มีหลักประกันว่าคนที่เป็นประธานคปป.เป็นใคร เพราะแนวทางไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาดำรงอยู่ของคปป.อาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวคนในคปป. อาจเกิดจากพรรคการเมืองที่สามารถรวมตัวกันได้ จะกลายเป็นคปป.ชุดนี้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือกว่าอำนาจอธิปไตย หากมองอนาคตเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญจะมีโอกาสขัดแย้งในบ้านเมือง ดังนั้น เรามองว่าคปป.มีผลร้ายมากกว่าผลดีและจะกลายเป็นความขัดแย้งในการบริหารประเทศ
ด้านนายนิรันดร์ กล่าวถึงคุณสมบัติสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า กมธ.ยกร่างฯได้บัญญัติคุณสมบัติส.ว.ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งถือว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ทำให้คนดีมีความรู้ไม่ยอมไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะต้องการลงสมัครเป็นส.ว. หรือหมายความว่า คนดีมีความรู้กลัวไม่ได้สมัครส.ว. เลยไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการสรรหาส.ว. ที่กำหนดให้รัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เป็นผู้สรรหา จำนวน 123 คน กลายเป็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง เพราะจะเกิดความขัดแย้งระหว่างส.ว.สายเลือกตั้งและสายสรรหา ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นผลดีต่อการบริหารประเทศ และมีปัญหาเรื่องการถอดถอน ส.ว.ที่มาจากการสรรหากลายเป็นว่ามีอำนาจถอดถอนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง แม้กมธ.ยกร่างฯได้อธิบายว่าการถอดถอนมี 2 แบบ คือ ถ้าสมาชิกมาจากการเลือกตั้งก็ใช้เสียงรัฐสภาในการถอดถอน แต่ถ้าเป็นสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ก็ใช้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอน ซึ่งเรามองว่าไม่สมเหตุสมผลในการปฏิบัติหน้าที่ของส.ว.
นายสมบัติ กล่าวเสริมว่า จากการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ยังพบว่ายังไม่มีกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกลไกที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตและโปร่งใส ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่มีเอกภาพเสถียรภาพ เกิดพรรคนอมินี และมีปัญหาเรื่องการประกาศรายชื่อส.ส.หากมีใครได้รับใบเหลือง และปัญหาระบบโอเพ่นลิสต์ที่ก่อให้เกิดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
วันเดียวกัน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจง ว่า ขอยืนยันว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯทำเสร็จ และส่งให้สปช.เรียบร้อยแล้ว ส่วนคำปรารภเป็นพระราชอำนาจที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ จะทำหน้าที่ยกร่างคำปรารภเพื่อทูลเกล้าฯขอพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่าจะมีการดำเนินการภายหลังร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติแล้ว
ประธานกมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวถือเป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ.2475 ซึ่งเรียกว่าพระราชปรารภ กระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กมธ.ยกร่างฯไม่ได้มีการเขียนคำปรารภ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าเป็นเรื่องของพระราชอำนาจ กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (สสร.50) เบื้องต้นได้เขียนคำปรารภเสนอไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติ แต่สุดท้ายเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติก็มีการแก้ไข และเติมเนื้อหา โดยผู้ที่ดำเนินการคือสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้ยกร่างคำปรารภ จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ และได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น แนวทางปฏิบัติคือสามารถยกร่างหรือไม่ยกร่างคำปรารภก็ได้ แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของพระราชอำนาจที่จะต้องชี้ขาดภายหลังสุด
“ต้องขอขอบคุณสมาชิกสปช. และนายอุดม ที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องดังกล่าว และหากต้องการให้เรื่องดังกล่าวได้ข้อยุติ ขอให้รีบเสนอเรื่องให้ ประธาน สปช. ประสานไปยังครม. เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนวันที่6 ก.ย.ซึ่งเป็นวันลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขณะเดียวกันสื่อมวลชนสามารถสอบถามความเห็นกรณีดังกล่าวได้ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และนายธงทอง จันทรางศุ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานสนช.2550 ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการร่างคำปรารภตั้งแต่รัฐธรรมนูญ2540 และ 2550 บุคคลเหล่านี้จะให้คำตอบได้ชัดเจนที่สุด”.