xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ร่างรธน.ไม่สมบูรณ์ไร้"คำปรารภ" จ่อส่งศาลรธน.ตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (24ส.ค.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ได้หารือร่วมกับ คณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อกำหนดท่าทีต่อร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ทำการส่งมอบร่างให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา
ภายหลังการหารือ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 57 มาตรา 37 วรรค 2 กำหนดให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ จากนั้นส่งต่อให้ สปช.ลงมติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว กลับพบว่า ไม่ได้เขียนคำปรารภไว้ ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ทั้งฉบับหรือไม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 40 และปี 50 คำปรารภเว้นไว้เฉพาะเรื่อง วัน เดือน ปี ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เขียนเพิ่มเติมเท่านั้น
นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานที่ปรึกษา กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ตนได้รับร่างรัฐธรรมนูญ และได้หารือกับสมาชิกบางส่วนถึงความมีอยู่ของคำปรารภ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เว้นว่างคำปรารภไว้ ทั้งนี้ คำปรารภ คือหัวใจสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีคำปรารภ จะถือว่าเป็นร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 มาตรา 37 วรรค 2 หรือไม่
"ผมได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เขาบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภ เหมือนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถือว่าสมบูรณ์ไม่ได้ คำปรารภเปรียบเสมือนหลักการ และเหตุผล ซึ่งกฎหมายทุกฉบับต้องมี อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญ เคยวินิจฉัยชี้ขาดถึงความสำคัญของคำปรารภมาแล้วว่า เป็นหลักการสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ"
นายอุดม กล่าวด้วยว่า ภายใน 2-3 วันนี้ จะพยายามรวบรวมรายชื่อสมาชิก เพื่อยื่นหนังสือถึง นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ใช้วิจารณญาณ ส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถึงความแล้วเสร็จของร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ เพื่อป้องกันความเสียหายของบ้านเมือง และงบประมาณที่จะต้องสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์ ประมาณ 3-4 พันล้านบาท ในการทำประชามติ

**คปป.เป็นผลร้ายมากกว่าผลดี

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ กล่าวถึง ปัญหาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ว่า คปป.จะมีอายุประมาณ 5 ปี ซึ่งถือเป็นบทบัญญัติชั่วคราว แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กลับบัญญัติไว้ในบททั่วไป แทนที่จะบัญญัติให้อยู่ในบทเฉพาะกาล อย่างไรก็ตาม เนื้อหาสาระของ คปป.ก่อให้เกิดการซ้ำซ้อนในการบริหารประเทศ แม้จะบอกว่า ไม่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินก็ตาม แต่อำนาจมีความเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
"เมื่อเลือกตั้ง เราจะได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกัน เราก็มี คปป.เกิดขึ้นเพื่อกำกับดูแลรัฐบาล หากรัฐบาลหรือ ครม.ไม่ทำตาม คปป.เสนอ คปป.ใช้เสียง 3 ใน 4 เพื่อยืนยันให้รัฐบาลดำเนินการ รัฐบาลต้องดำเนินการเหมือนถูกบังคับ กรณีแบบนี้ ทำให้เห็นชัดว่า มีโอกาสขัดแย้งกันในการบริหารประเทศระหว่างรัฐบาล แล ะคปป." นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวต่อว่า เราไม่มีหลักประกันว่า คนที่เป็นประธานคปป. เป็นใคร เพราะแนวทางไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระยะเวลาดำรงอยู่ของ คปป. อาจมีการเปลี่ยนแปลงตัวคนใน คปป. อาจเกิดจากพรรคการเมืองที่สามารถรวมตัวกันได้ จะกลายเป็น คปป.ชุดนี้ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือกว่าอำนาจอธิปไตย หากมองอนาคตเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญ จะมีโอกาสขัดแย้งในบ้านเมือง ดังนั้นเรามองว่า คปป. มีผลร้ายมากกว่าผลดี และจะกลายเป็นความขัดแย้งในการบริหารประเทศ
ด้านนายนิรันดร์ กล่าวถึงคุณสมบัติ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้บัญญัติคุณสมบัติ ส.ว. ห้ามเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ซึ่งถือว่าขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ทำให้คนดีมีความรู้ไม่ยอมไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง เพราะต้องการลงสมัครเป็น ส.ว. หรือหมายความว่า คนดีมีความรู้กลัวไม่ได้สมัครส.ว. เลยไม่สมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการสรรหา ส.ว. ที่กำหนดให้รัฐบาลที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้สรรหา จำนวน 123 คน กลายเป็นว่า ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่จะทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง เพราะจะเกิดความขัดแย้งระหว่าง ส.ว.สายเลือกตั้ง และสายสรรหา ซึ่งจะทำให้ไม่เป็นผลดีต่อการบริหารประเทศ และมีปัญหาเรื่องการถอดถอน ส.ว.ที่มาจากการสรรหา กลายเป็นว่ามีอำนาจถอดถอนสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง แม้กมธ.ยกร่างฯ ได้อธิบายว่า การถอดถอนมี 2 แบบ คือ ถ้าสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง ก็ใช้เสียงรัฐสภาในการถอดถอน แต่ถ้าเป็นสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ก็ใช้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอน ซึ่งเรามองว่า ไม่สมเหตุสมผลในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว.
นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญ ยังพบว่า ยังไม่มีกลไกป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกลไก ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต และโปร่งใส ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่มีเอกภาพ เสถียรภาพ เกิดพรรคนอมินี และมีปัญหาเรื่องการประกาศรายชื่อ ส.ส. หากมีใครได้รับใบเหลือง และปัญหาระบบโอเพ่นลิสต์ ที่ก่อให้เกิดการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง

** "บวรศักดิ์"ชี้คำปรารภเป็นพระราชอำนาจ

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงชี้แจงต่อเรื่องดังกล่าวว่า ว่า ขอยืนยันว่า เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ ทำเสร็จ และส่งให้ สปช.เรียบร้อยแล้ว ส่วนคำปรารภ เป็นพระราชอำนาจ ที่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ จะทำหน้าที่ยกร่างคำปรารภ เพื่อทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งเชื่อว่าจะมีการดำเนินการภายหลังร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านประชามติแล้ว
ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าว ถือเป็นประเพณีปฏิบัติตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรก พ.ศ.2475 ซึ่งเรียกว่า พระราชปรารภ กระทั่งถึงรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้มีการเขียนคำปรารภ ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (ส.ส.ร.50 ) เบื้องต้นได้เขียนคำปรารภเสนอไปพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติ แต่สุดท้าย เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ก็มีการแก้ไข และเติมเนื้อหาโดยผู้ที่ดำเนินการคือ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เป็นผู้ยกร่างคำปรารภ จากนั้นจึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ และได้รับการโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้น แนวทางปฏิบัติคือ สามารถยกร่าง หรือไม่ยกร่างคำปรารภก็ได้ แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของพระราชอำนาจ ที่จะต้องชี้ขาดภายหลังสุด
"ต้องขอขอบคุณสมาชิก สปช. และนายอุดม ที่ตั้งข้อสังเกตเรื่องดังกล่าว และหากต้องการให้เรื่องดังกล่าวได้ข้อยุติ ขอให้รีบเสนอเรื่องให้ ประธานสปช. ประสานไปยังครม. เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งเป็นวันลงมติ รับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ มิเช่นนั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนสามารถสอบถามความเห็นกรณีดังกล่าวได้ที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ นายธงทอง จันทรางศุ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน สนช. 2550 ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการร่างคำปรารภ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 บุคคลเหล่านี้ จะให้คำตอบได้ชัดเจนที่สุด

**"วิษณุ"หารือแผนทำประชามติวันนี้

นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เปิดเผยว่า เวลา 14.00 น. วันนี้ (25ส.ค.) กมธ.ยกร่างฯ 4 คน ประกอบด้วย ตนเอง พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายคำนูณ สิทธิสมาน และ นายประชา เตรัตน์ จะไปร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล กับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พร้อมตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คือ นายประวิช รัตนเพียร และ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร และตัวแทนจากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือทำประชามติ เนื่องจากที่ประชุมสปช. ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. กกต.ก็จะต้องเดินหน้าทำประชามติทันที แต่หากที่ประชุม สปช. ไม่รับร่างฯ ทุกอย่างก็จบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการสัมมนาหารือระหว่างสปช.และกมธ.ยกร่างฯเรื่องเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ ในวันนี้ (25 ส.ค. เวลา 09.00 –17.00 น.) ที่ร.ร.เซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยในช่วงแรก นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน มธ.ยกร่างฯ จะทำหน้าที่อธิบายเนื้อหาสาระสำคัญ ของร่างรัฐธรรมนูญร่วมกับ กมธ.ยกร่างฯ และได้ปรับแก้ไขเนื้อหาใดบ้างจากร่างฯแรก รวมทั้งอธิบายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ประโยชน์อะไรกับประชาชนบ้าง และตอบโจทย์ 10 ประเด็น ที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อย่างไรบ้าง จากนั้นจะเปิดโอกาสให้สมาชิก สปช. ที่สงสัยในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามได้อย่างเต็มที่

** พร้อมชี้แจง คปป. ทุกประเด็นไม่มีซ่อนเร้น

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุถึงการกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ตอนหนึ่งว่า ประเด็นนี้ กรรมาธิการฯ พิจารณากันอย่างหนัก เมื่อมีบทสรุปออกมาในแต่ละขั้นตอน ก็แถลงอย่างเปิดเผย ไม่ได้ซ่อนเร้นอะไรเลย เพียงแต่มีพัฒนาการของบทบัญญัติว่าด้วย รูปแบบของกลไกพิเศษ ตลอดจนอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์กับรัฐบาลปกติมาเป็นระยะๆ จนกระทั่งลงตัว เมื่อใกล้ถึงกำหนดส่งมอบงาน
นายคำนูณ ระบุอีกว่า จุดแตกต่างสำคัญที่สุดของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือการมี “กลไกพิเศษ” เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป และสร้างความปรองดอง รวมทั้งมี “อำนาจพิเศษ” ให้สามารถดำเนินการระงับ ยับยั้ง วิกฤตระดับที่กลไกปกติทำไม่ได้แล้ว ในเฉพาะระยะเวลา 5 ปีแรก คู่ขนานไปกับรัฐบาลปกติ โดยมี นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภา เข้ามาร่วมนั่งอยู่ในกลไกนี้ด้วย ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ตระหนักดีว่าจะต้องมีผู้ไม่เห็นด้วย และต่อต้านคัดค้าน แต่เราเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดคำตอบสุดท้ายจะอยู่ที่ประชาชนทั้งประเทศ ผ่านการลงประชามติในช่วงต้นปี 2559 เราจะชี้แจงกับประชาชนในทุกประเด็น ไม่ซ่อนเร้น ทุกครัวเรือนจะได้รับร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำอรรถาธิบาย

**อดีตส.ว.ชี้รธน.-ครม.ใหม่ไม่ใช่คำตอบ

นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีต ส.ว.สรรหา กล่าวถึงภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญ ว่า มีหลายคนมาถามตนเรื่องนี้ ซึ่งตนไม่ได้อ่านเลย เพราะยังไง ตนก็ไม่รับร่างนี้ เพราะ 1. รัฐธรรมนูญนี้ไม่เคารพสิทธิความเท่าเทียมกันของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นบริบทพื้นฐานของประชาธิปไตย แต่ให้สิทธิกลุ่มบุคคลบางกลุ่มมีสิทธิพิเศษเหนือประชาชนทั่วไป 2. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยอมรับการสืบทอดอำนาจของกลุ่มบุคคลที่ทำการรัฐประหารในครั้งที่ผ่านมาให้คงอยู่ต่อไป โดยไม่มีกำหนด ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองมามากพอแล้ว 3. ไม่ได้ช่วยให้ประเทศไทยพ้นจากวิกฤติ และมีอนาคตที่สดใสเลย
นายวิชาญ ยังกล่าวถึงปรับครม.ใหม่ ว่า ไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น คนที่เข้ามาใหม่แม้หลายคนจะเป็นคนดี พอมีฝีมืออยู่บ้าง แต่หลายคนเป็นนักคิด ขณะที่ประเทศชาติต้องการนักปฏิบัติ แล้วจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร อีกทั้งตลาดโลกกำลังมีปัญหา ทั้งอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งบ้านเราต้องพึ่งตลาดโลกกว่าร้อยละ 60 และส่งออกไม่ได้ โรงงานลดการผลิต ลดคนงาน ย้ายไปต่างประเทศ คนตกงาน ภายในประเทศก็ไม่มีกำลังซื้อ เพราะ 1 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรทุกกลุ่มเกิดปัญหา ราคาผลผลิตตกต่ำ รายได้ลด ไม่มีน้ำทำนา ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย รวมทั้งชาวประมง ที่กำลังถูกไล่บี้อยู่ตอนนี้ ล้วนมีปัญาทั้งนั้น ซึ่งโยงไปถึงอำนาจซื้อที่จะช่วยภาคอุตสาหกรรม ไม่เห็นมีนักปฏิบัติคนไหน ที่จะเข้ามาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวกู้สถานการณ์นี้ได้ ถามว่า วันนี้มีใครพร้อมจะเอาความจริงมาพูดกับประชาชน เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย แล้วเราจะไปข้างหน้าอย่างไร ดังนั้น ครม.ใหม่ ไม่ใช่คำตอบ รัฐธรรมนูญใหม่ ก็ไม่ใช่คำตอบ
** "พิชัย"ลั่นหากรธน. ผ่านไม่ขอลง ลต.

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ ทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงร่าง รธน. ที่กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้สปช. พิจารณา รับ หรือไม่รับ ร่างว่า ร่างรธน.ที่ออกมา ไม่ได้ให้อำนาจแก่ประชาชนอย่างเต็มที่ และต่อจากนี้ จะมีผลกระทบด้านเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะเชื่อว่าความเห็นจากต่างประเทศ จะมองเห็นในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ ความมั่นใจของต่างประเทศลดลงไป
ส่วนร่างรธน.ฉบับนี้ จะผ่านความเห็นชอบจากสปช. หรือไม่ ต้องรอดูหลักการพิจารณาภาพรวมของ สปช. ขณะเดียวกัน ต้องดูสัญญาณจากผู้ที่แต่งตั้งสปช. เข้ามาเช่นกัน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ร่างรธน. จะไม่ผ่านประชามติจากประชาชน เพราะประชาชนเข้าใจว่า ร่างรธน.ไม่ได้ให้อำนาจกับประชาชนอย่างแท้จริง
"แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ ก็จะขอไม่ลงเลือกตั้งดีกว่า เพราะไม่มีประโยชน์ ถ้าเลือกตั้งมาแล้วมีพรรคการเมืองได้เสียงข้างมากอย่างเดิม และระหว่างการบริหารประเทศของรัฐบาล มีการจัดตั้งกระบวนการประท้วงขึ้นมา แล้วมีคนมาบอกว่า เกิดสถานการณ์ไม่สงบ ก็มีกระบวนการเข้ามากำกับดูแล ตั้งรัฐบาลใหม่ แบบนี้จะมีประโยชน์อะไร ปัญหาวังวนเดิมๆ ก็จะเกิดขึ้นมาไม่จบสิ้น ตราบใดก็ตามถ้าไม่ให้ความสำคัญกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่ว่าประเทศไหน ก็จะเกิดปัญหา สุดท้ายอย่าไปคิดว่าประชาชนโง่ เพราะประชาชนไม่ได้โง่ จะต้องให้เกียรติประชาชน ถ้า ไม่รับฟังเสียงส่วนใหญ่ ประเทศก็จะเดินไม่ได้ เศรษฐกิจเดินไม่ได้ ทุกคนก็จะลำบาก" พิชัย กล่าว

** ตั้งกก.ยุทธศาสตร์ฯ เพื่อความสงบ

พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. กล่าวถึง กรณีที่ กมธ.ยกร่างฯ ร่าง รธน.ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการรัฐประหารเงียบและเป็นการสืบทอดอำนาจของคสช. ว่า คงเป็นเรื่องที่กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว แต่ใครจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล ตนจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้คิดว่า กมธ.ยกร่างฯ คงอาจเห็นประโยชน์ และจะต้องชี้แจ้งให้ประชาชนได้เห็นว่าการที่ร่าง หรือดำเนินการออกมามีแนวความคิดที่จะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่จะเกิดต่อไป เพราะจะต้องดูแลประเทศชาติให้สงบเรียบร้อย
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯ เห็นอนาคตประเทศว่าจะไม่สงบ เลยร่างคณะกรรมการชุดดังกล่าวขึ้นมา พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า คิดว่าคงใช้ข้อมูลจากที่ผ่านมา ว่าจะทำอย่างไร ประเทศของเราจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้อย่างสงบเรียบร้อยมากที่สุด และสิ่งที่ทำออกมา ก็คงเป็นเหตุเป็นผลตามนั้น
2 กมธ.ปฏิรูป จ่อส่งศาล รธน.ตีความ ห่วงร่างฯไม่สมบูรณ์ทั้งฉบับ- “บวรศักดิ์”โต้เขียนครบยก”คำปรารภ” เป็นพระราชอำนาจไม่ก้าวล่วง
2 กมธ.ปฏิรูป จ่อส่งศาล รธน.ตีความ ห่วงร่างฯไม่สมบูรณ์ทั้งฉบับ- “บวรศักดิ์”โต้เขียนครบยก”คำปรารภ” เป็นพระราชอำนาจไม่ก้าวล่วง
2 กมธ.ปฏิรูป ชุด “สมบัติ-เสรี”นำทีมถกร่างรธน.อย่างไม่เป็นทางการ” จ่อยื่นหนังสือ “เทียนฉาย” ส่งต่อศาล รธน.ตีความร่างรธน.สมบูรณ์ทั้งฉบับหรือไม่ ห่วงตัวร่างรธน. เว้นว่าง “คำปรารภ” หวั่นถูกดึงไปเป็นปมยื่นขอตีความในอนาคต ชี้ คปป.มีผลร้ายมากกว่าผลดี เกิดความขัดแย้งบริหารประเทศ ระบุข้อห้ามคุณสมบัติส.ว.ทำพรรคการเมืองอ่อนแอ ขาดคนดีมีความรู้เป็นสมาชิก ด้าน “บวรศักดิ์” แถลงโต้ทันควัน ยันเขียน ครบถ้วน ยกคำปรารภเป็นพระราชอำนาจไม่ก้าวล่วง แนะส่ง ชี้ขาดก่อน 6 ก.ย.กันปัญหาขัดรธน.ชั่วคราว
กำลังโหลดความคิดเห็น