xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ รับ “ประยุทธ์” นั่ง กก.ยุทธศาสตร์ได้ เชื่อร่าง รธน.แก้ขัดแย้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยวันนี้ทบทวนถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด ก่อนแจงผู้ยื่นคำขอแก้ไข ชี้ “ประยุทธ์” นั่ง กก.ยุทธศาสตร์ได้ ยันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา


นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า การประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯ ในวันนี้ (14 ส.ค.) จะเป็นทบทวนถ้อยคำในร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จทั้ง 285 มาตรา ก่อนที่จะชี้แจงรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-19 ส.ค.นี้

นายคำนูณกล่าวยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองแห่งชาติได้ แต่ตามเจตนารมณ์ของ กมธ.ยกร่างฯ นั้นต้องการให้เป็นรัฐบาลและองค์กรอื่นๆ หลังจากการเลือกตั้งมากกว่า

ส่วนปัญหาการตีความเกี่ยวกับการใช้อำนาจพิเศษในการยับยั้งความขัดแย้งของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่เหนือกว่าอำนาจของรัฐบาลนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการฯ ซึ่งจะได้มีเสียงอย่างน้อย 2 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ ทั้งหมด รวมถึงจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองสูงสุดอีกด้วย

“การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่ยาวนานกว่า 10 ปี โดย 1 ปี ที่ผ่านมาแม้ไม่มีความขัดแย้ง แต่เชื่อว่ายังมีอยู่ นวัตกรรมนี้จะช่วยไม่ให้เกิดปัญหาเหมือน ปี 2557 ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่ถือว่าเป็นที่สุด เพราะต้องผ่านความเป็นชอบ สปช. และถ้าสปช. เห็นชอบ ก็ต้องผ่านการประชามติของประชาชนอีกด้วย อย่างไรก็ตามคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ และอำนาจพิเศษนี้ไม่ได้อยู่ตลอดไป แต่อยู่แค่ 5 ปี ส่วนจะอยู่ยาวหรือไม่จะต้องทำประชามติ”

นายคำนูณกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่มี กมธ.ยกร่างฯ จำนวน 11 คนที่เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงชื่อรับรองในญัตติเสนอคำถามในการทำประชามติของ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างฯ และสมาชิก สปช.นั้น ยืนยันว่าไม่ใช่มติของคณะ กมธ.ยกร่างฯ แต่เป็นการรับรองญัตติในนาม สปช.เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น