โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยพิจารณาร่างในหมวดศาลเสร็จแล้ว แก้ ม.241 ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ทำคดีเลือกตั้งทั้งโหวตใหม่และแบน รวมทั้งคดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ผู้สมัครสามารถสู้ต่อในชั้นฎีกาได้ แถมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกานักการเมืองในส่วนข้อกฎหมายได้ด้วย อ้างตามพันธกรณีกับต่างชาติ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงกรรมการสรรหา แย้มเขียนบทเฉพาะกาลหากคดีเจ้าหน้าที่รัฐโกงมีเยอะให้ตั้งศาลเฉพาะได้
วันนี้ (14 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา เมื่อเวลา 10.30 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่า การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดศาลเสร็จสิ้นหมดแล้ว โดยได้มีการแก้ไขในมาตรา 241 ของศาลยุติธรรม กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การให้มีการเลือกตั้งใหม่ และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ คดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การให้มีการเลือกตั้งใหม่และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ของศาลใดให้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคนั้นแล้วแต่กรณี และคดีเกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาพิพากษา โดยกำหนดให้สามารถยื่นขออุทธรณ์ที่ไปศาลฎีกาได้ ซึ่งผู้สมัครเลือกตั้งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ใบเหลืองหรือใบแดง สามารถยื่นต่อสู้คดีไปที่ศาลฎีกาได้ เดิมการไต่สวนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) และส่งให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเป็นผู้วินิจฉัย เช่นเดียวกับมาตรา 240 ที่ กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติให้สามารถยื่นอุทธรณ์พิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทั้งในส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อเท็จจริงเท่านั้น สาเหตุที่ให้การอุทธรณ์ทำได้ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายนั้นเพราะต้องการให้เป็นตามพันธกรณีของต่างประเทศที่มีผลผูกพันกับประเทศไทย
นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯ ยังคงให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 9 คนตามเดิม แต่ได้เปลี่ยนสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีจำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1. ประธานศาลฎีกา 2. ประธานศาลปกครอง 3. ประธานสภาผู้แทนราษฎร 4. ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ 5. ประธานองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน 6. ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ อย่างละ 1 คน ซึ่งมาจากเลือกของที่ประชุมอธิการบดี เหตุผลที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของคณะกรรมการสรรหา เพราะ กมธ.ยกร่างฯ ต้องการให้การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเปิดกว้างมากขึ้นและมีความเหมาะสม
“กมธ.ยกร่างฯยังให้บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิ หรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปยื่นเรื่องกับองค์กรอื่นๆ จนองค์กรดังกล่าวนั้นมีคำวินิจฉัยก่อนถึงจะมีสิทธิมายื่นเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม แม้บุคคลจะมีสิทธิยื่นเรื่องให้กับศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงแต่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาได้ว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องใดไว้พิจารณาก็ได้ เพื่อไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีภาระมากเกินไป” นายคำนูณกล่าว
นายคำนูณกล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.ค.ที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯ ได้เริ่มพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญหมวด 2 เรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ ได้เริ่มพิจารณาตั้งแต่มาตรา 246 ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยการกำหนดให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย สุจริต และปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมทั้งต้องกระทำโดยกระบวนการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ และการดำเนินกระบวนการจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาการในขั้นตอนต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย แก้ไขปัญหากรณีที่การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างล่าช้าก่อนหน้านี้ และลดความขัดแย้งนอกระบบโดยเฉพาะการมักพูดว่าความล่าช้าเป็นความอยุติธรรมอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้เกิดความเหมาะสมในอนาคต
เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ยื่นคำขอให้ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลพิจารณาคดีทุจริตเป็นการเฉพาะ ทาง กมธ.ยกร่างฯ เห็นด้วยหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ทราบมาว่าขณะนี้ศาลอาญาได้มีแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ซึ่งทาง กมธ.ยกร่างฯ อาจจะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าหากต่อไปแผนกนี้มีคดีเข้ามาเป็นจำนวนมากก็อาจสามารถพิจารณาตั้งเป็นศาลชำนาญพิเศษเป็นการเฉพาะได้