xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มอำนาจประชาชนสอบโกง ยื่นคตง.-ปปช.ฟันนักการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (14 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จังหวัดชลบุรี นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึง ความคืบหน้าและแนวทางในการปฏิรูป และขจัดปัญหาคอร์รัปชัน ว่า ที่ผ่านมามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติบ้านเมืองอย่างร้ายแรง แต่ไม่มีกลไกใดที่สามารถยับยั้ง หรือป้องกันการกระทำดังกล่าวอย่างทันการณ์ ด้วยเหตุดังกล่าว ทาง กมธ.ยกร่างฯ จึงได้ร่วมกันบัญญัติแนวทางในการป้องกันปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปว่า
"ในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้กระทำการดังกล่าว วิญญูชน หรือผู้รู้ผิดรู้ชอบเห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง สามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยความเห็นชอบของ คตง.หรือ ป.ป.ช. อาจไต่สวนข้อเท็จจริง และสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ และให้ศาลวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทำให้มั่นใจได้ว่า จะสามารถหยุดยั้งความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรงได้"
นอกเหนือจากการจัดตั้งให้มีแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณเพื่อปกป้องเงินของแผ่นดินแล้ว กมธ.ยกร่างฯ ยังเห็นชอบในหลักการว่า แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในศาลอาญาที่เพิ่งจัดตั้งขึ้น โดยประกาศคณะกรรมการบริหารยุติธรรม เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.58 นั้น ต่อไปในอนาคตเมื่อมีคดีทุจริตในปริมาณที่มากพอ สามารถยกระดับเป็นศาลคดีทุจริตฯ ต่อไป ซึ่งกลไกใหม่ดังกล่าวข้างต้น เป็นการปฏิรูปโครงสร้างระบบขจัดคอร์รัปชันที่สำคัญ เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ดีทีเดียว

**ปรับที่มากก.สรรหาตุลาการศาลรธน.

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรธน. แถลงว่า ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯได้พิจารณารายมาตราในส่วนของศาลต่างๆ เสร็จแล้ว โดยมีความเห็นให้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 230 จากเดิม 11 คน เป็น 7 คน ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงมี 9 คน เหมือนเดิม
ทั้งนี้ มาตรา 230 เดิมกำหนดที่มาของคณะกรรมการสรรหา 11 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่เลือกมาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุดฝ่ายละ 2 คน จากพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านฝ่ายละ 1 คน จากคณบดีคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ ในสถาบันอุดมศึกษาเลือกกันเองฝ่ายละ 2 คน และจากสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 1 คน
โดยกมธ.ยกร่างฯ เห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการสรรหาฯ 7 คน ดังนี้ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านโดยตำแหน่งรวม 4 คน จากประธานองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญเลือกกันเองมา 1 คน จากที่ประชุมอธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาเลือกจากคณบดีนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มาอย่างละ1 คนรวม 2 คน
ทั้งนี้ เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้จะได้รับเลือก จะต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากคณะกรรมการสรรหาไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ภายใน 30 วันนั้น ยังคงหลักเกณฑ์เดิมไว้ตาม มาตรา 231 ตามเดิม
นอกจากนี้ ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ ยังได้ปรับแก้เงื่อนไขกรณีประชาชนต้องการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความข้อกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งร่างเดิมใน มาตรา 235 บัญญัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดว่า "การใช้สิทธิ์ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว" ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯเล็งเห็นว่า ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อโอกาสของประชาชนในการยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากเป็นคดีความ จะต้องขอให้ศาลเป็นฝ่ายยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือในกรณีอื่นๆ ก็จะต้องยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งต้องรอให้การดำเนินการยุติก่อน และยังไม่เป็นที่พอใจจึงจะยื่นมายังศาลรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งก่อให้เกิดความล่าช้าไม่ทันเหตุการณ์ จนที่ผ่านมาแทบจะไม่มีประชาชนทั่วไปที่มาใช้สิทธิ์ในช่องทางดังกล่าว จึงเห็นชอบให้ตัดถ้อยความที่เป็นอุปสรรคดังกล่าวไป

** เพิ่มชั้นศาลในคดีของนักการเมือง

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า กมธ.ยกร่างฯ มีการปรับแก้ในส่วนของศาลยุติธรรมใน มาตรา 240 และ มาตรา 241 มีสาระสำคัญคือ เปิดโอกาสให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองที่ถูกศาลอุทธรณ์ชี้ความผิดเกี่ยวกับการไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน หรือแสดงเป็นเท็จ รวมทั้งคดีความผิดที่จะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ จากเดิมชี้ขาดในชั้นศาลอุทธณ์ แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองชั้นศาลเดียว เป็นให้สิทธิ์อุทธรณ์ในชั้นศาลฎีกาเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง รวมทั้งเปิดโอกาสให้อุทธรณ์ทั้งในแง่ข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงได้ด้วย
ทั้งนี้ ความผิดในการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ในกรณีการทุจริตมีการพัฒนาจากเดิมเมื่อ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีการแสดงทรัพย์สิน หรือการทุจริตคอร์รัปชันที่มีโทษต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ หรือ กกต.ชี้มูลความผิดกฎหมายเลือกตั้ง ที่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิ์ หรือสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลอุทธรณ์แผนกคดีเลือกตั้ง เป็นผู้ชี้ขาดในชั้นเดียว ไม่มีการอุทธรณ์
"เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาย่อมมีสิทธิอุทธรณ์" โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ระบุ
นอกจากนี้ กมธ.ยกร่างฯ กำลังพิจารณาว่า จะบัญญัติในบทเฉพาะกาล ว่าในกรณีที่มีคดีการทุจริต หรือคดีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมากขึ้น อาจให้ยกระดับแผนกคดีดังกล่าวเป็นศาลชำนาญพิเศษในแต่ละกรณีก็ได้ เพื่อให้มีผู้พิพากษาที่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง และดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีได้เร็วขึ้น
ในส่วนขององค์กรตรวจสอบอำนาจรัฐตาม มาตรา 246 ก็เช่นเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯได้บัญญัติเพิ่มเติมว่า จะต้องมีการชี้แจงขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินการในชั้นตอนต่างๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการดำเนินการไม่ล่าช้า เช่นเดียวกับกรณีการพิจารณาคดีของศาล ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการถ่วงเวลา หรือยืดเยื้อจนเกิดความไม่เป็นธรรมต่อคู่กรณี

**ปรับกลไกการถอดถอนใหม่

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า กมธ.ยกร่างฯ มีการปรับการถอดถอนเป็นระบบใหม่ คือ แบ่งตามประเภทผู้ถูกข้อหา และแบ่งตามประเภทความผิด กล่าวคือ กรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มาจากการเลือกตั้งใน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. นั้น ผู้ดำเนินการถอดถอนคือ รัฐสภา ซึ่งต้องมีมติถอดถอนไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา การถอดถอนจึงจะมีผล ส่วนกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลในตำแหน่งอื่นๆ ทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ หรือกรรมการในองค์กรอิสระ ยกเว้น ป.ป.ช. ให้วุฒิสภาเป็นผู้ถอดถอนและมติการถอดถอนจะต้องมีไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวน ส.ว. ที่มีอยู่
ส่วนการแบ่งตามประเภทความผิดนั้น หากผู้ถูกร้องมีความผิดฐานการทุจริต ให้สภาที่ทำหน้าที่ถอดถอนส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสืบสวนสอบสวน และชี้มูลกลับมาให้สภา ที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ถอดถอน ส่วนกรณีความผิดที่เกี่ยวกับความผิดทางจริยธรรมร้ายแรง สภาที่รับเรื่องจะส่งคำร้องไปยัง ป.ป.ช. โดยที่ ป.ป.ช.จะเป็นเจ้าภาพ ตั้งคณะกรรมการเฉพาะกรณี ที่มาจากกรรมการในองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญทุกองค์กร ๆ ละ 1 คน ทำการไต่สวนชี้มูล ก่อนจะส่งกลับไปให้แต่ละสภาที่เกี่ยวข้องไปลงมติถอดถอน
ส่วนกรณีหากเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ถูกร้องความผิดทุจริต หรือจริยธรรมร้ายแรง จะมีกลไกการถอดถอนต่างหาก ซึ่งจะหาข้อยุติอีกครั้งเมื่อพิจารณาถึงองค์กร ป.ป.ช.

** จี้ทบทวนระบบจับสลาก ที่มาส.ว.

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช.ได้ลุกขึ้นหารือในการประชุม สปช. มีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้จับสลากเลือกผู้ที่จะมาเป็น ส.ว.ในจำนวน 15 คนนั้น ตนเกรงว่า คนที่ได้เข้ามาจะถูกเรียกว่า ส.ว.จับสลาก หากเป็นเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับการจับสลากเข้ามา เขาคงละอายใจ และไม่ดีใจ เพราะวิธีการจับสลากนั้น เป็นวิธีที่เราจะกระทำกันก็ต่อเมื่อเกิดกรณีที่มีผู้เข้ารับสมัครคะแนนเท่ากัน หรือเหลือสองคนสุดท้าย เราก็จะทำการจับสลากเพื่อตัดสิน ดังนั้นตนคิดว่าน่าจะมีทางออกโดยวิธีอื่น จึงขอฝากเรื่องนี้ไปยัง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ให้พิจารณาแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะหากไม่มีการแก้ไข เรื่องที่มาของส.ว. ก็จะกลายเป็นประเด็นที่จะถูกนำมาขยายผลร่วมกับประเด็นอื่นๆในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น