กรรมาธิการยกร่างฯ ถกรัฐธรรมนูญนอกสถานีที่ เริ่มภาค 3 ศาล และองค์กรตรวจสอบ คาดเสร็จทั้งหมดพฤหัสฯ นี้ ก่อนทบทวนเนื้อหา เผยหาก รธน.ฉบับแก้ไขยังไม่มีผลก็คงต้องส่ง สปช.ภายใน 23 ก.ค.นี้ “เลิศรัตน์” รับยังไม่ถึงบทพิจารณารัฐบาลแห่งชาติ หนุนแสดงความเห็น ยันเขียนระบบเลือกตั้งสัดส่วนไม่เกี่ยวกัน ด้าน “คำนูณ” บอกมองไม่ออกจะมีได้ยังไง ย้ำยังไม่ได้คุยกัน รับฉบับใหม่ต้องมีกลไกปฏิรูป ลั่นกฎหมายใหม่ ป.ป.ช.ให้ประหารชีวิตพวกโกงไม่ขัดแย้งร่าง กม.สูงสุด
วันนี้ (13 ก.ค.) ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช และนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมแถลงข่าว โดย พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า การประชุมคณะกมธ.ยกร่างฯนอกสถานที่ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่ภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในมาตรา 217 ไปจนถึงบทเฉพาะกาลพร้อมกับนำมาตราที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นไม่ตรงกันมาพิจารณาด้วย คาดว่าการพิจารณารายมาตราน่าจะเสร็จสิ้นได้ในวันที่ 16 กรกฎาคม จากนั้นจะใช้เวลาที่เหลืออีก 2-3 วันในการทบทวนเนื้อหาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม การทำงานของคณะกมธ.ยกร่างฯ ในระหว่างที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังไม่มีผลบังคับใช้ ยังต้องเป็นไปตามกำหนดการเดิมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไปก่อน คือ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เกินวันที่ 23 กรกฎาคมแต่หากในอนาคตมีการประกาศใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเมื่อไหร่ทางคณะ กมธ.ยกร่างฯ จะใช้เวลาที่ได้รับเพิ่มเชิญสมาชิก สปช.ผู้เสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อไป
แหล่งข่าวในคณะ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของศาลยุติธรรมเตรียมจะมีการพิจารณาว่าจะเสนอให้เปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ จากเดิมที่พิจารณาพิพากษาเพียงศาลเดียว โดยมีข้อเสนอให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา และผู้ที่ต้องคำพิพากษาสามารถสู้คดีในชั้นศาลฎีกาต่อไปได้
นอกจากนี้ พล.อ.เลิศรัตน์ยังกล่าวถึงกรณีการเสนอรัฐบาลแห่งชาติว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงบทที่ต้องพิจารณาเรื่องนี้ และที่ผ่านๆ มา ไม่มีการบัญญัติเรื่องนี้ในไว้ในร่างรัฐธรรมนูญถึงกฎกติกาการได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี ส่วนข้อเสนอต่างๆ ตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติเพราะในช่วงนี้เริ่มเข้มงวดแล้ว รัฐธรรมนูญใกล้เสร็จและเตรียมจะส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว เป็นเรื่องปกติ โดยตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ออกมาแสดงความคิดเห็นกันเช่นนี้ ส่วนขั้นตอนจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯ และ สปช.ต้องตัดสินใจ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนเรื่องที่ว่าการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะเอื้อต่อการมีรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่นั้น ระบบสัดส่วนผสมที่นำมาใช้ในร่างรัฐธรรมนูญมีการใช้ในหลายประเทศและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับความเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมืองแต่ละพรรค เพราะการจะได้ ส.ส.ในสภาเข้ามาเกิดตามสัดส่วนที่ประชาชนเลือกทั้งนั้น โดยการเลือกตั้งหากเราดูที่ผ่านๆ มาพรรคอันดับหนึ่งที่ได้คะแนน 50-60 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ความนิยมของประชาชนที่ในแต่ละห้วงเวลา
ด้านนายคำนูณกล่าวว่า ขณะนี้ยังมองไม่ออกว่ารัฐธรรมนูญจะไปเขียนให้มีรัฐบาลแห่งชาติได้อย่างไรเพราะการจัดตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของ ส.ส.ที่จะรวบรวมเสียง ซึ่งก็จะเห็นได้จากตอนที่ยืนเลือกนายกรัฐมนตรี และเท่าที่มีการพิจารณารัฐธรรมนูญมาก็ยังไม่เคยมีการพูดเรี่องดังกล่าว ส่วนจะบรรจุเรื่องนี้ไว้ในบทเฉพาะกาลหรือไม่นั้น ตอนนี้ยังไม่พิจารณาถึงบทเฉพาะกาล
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องขบวนการสร้างความปรองดอง หลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้ง อาจจะกลับคืนมาหลังมีรัฐบาลใหม่ ในร่างรัฐธรรมนูญจะมีการหาวิธีการควบคุมหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนหนึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์วิกฤต คือ แนวคิดที่ว่าการประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วจะต้องมีหลักประกันที่จะต้องดำเนินการปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงประเทศ ควบคู่กันไปไม่ว่ารัฐบาลใหม่นั้น จะเป็นใคร จะเป็นรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่แห่งชาติก็ตาม แต่จะต้องมีกลไกการปฏิรูปประเทศเดินหน้าไปพร้อมกัน เพราะเราเล็งเห็นว่ารากฐานความขัดแย้ง ที่แท้จริงนั้นคงไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างบุคคลกลุ่มคนเท่านั้น แต่รากฐานที่แท้จริง คือประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลงและอีกอย่างที่จะต้องเดินหน้าควบคู่กันไปก็คือ การสร้างความปรองดองที่จะเกิดขึ้นซึ่งเรื่องนี้จะบัญญัติไว้ในภาคสี่ ส่วนเรื่องรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่นั้นยังไม่มีการพูดกันอย่างเป็นทางการ
เมื่อถามว่า เรื่องการประกาศใช้ พ.ร.บว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2558 ประกาศใช้มีการเพิ่มบทลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต แต่ กมธ.ยกร่างฯ กลับลดบทลงโทษน้อยลง นายคำนูณ กล่าวว่า นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท แต่กฎหมายประกอบรัฐธรรนูญสามารถไปบัญญัติมาตรการในรายละเอียดได้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ขัดหรือแย้งแต่ประการใด แต่เป็นเรื่องเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า เพราะว่ากฎหมายดังกล่าวก็ใช้มาตั้งแต่แต่ปี 2540 มีการพัฒนายกระดับขึ้น ตามกฎหมายเฉพาะหรือตามรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องที่ชอบ ซึ่ง กมธ.ยกร่างก็จะนำมาพิจารณาในร่างรัฐธรรมนูญ และวางไว้ในหลักสำคัญๆ