xs
xsm
sm
md
lg

สพม.-สภาองค์กรท้องถิ่น หนุน กมธ.ยกร่างฯ คงกระจายอำนาจ-สิทธิชุมชน เพื่อปฏิรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง(แฟ้มภาพ)
สภาพัฒนาการเมืองจับมือสภาองค์กรชุมชนตำบล ออกแถลงการณ์ หนุน คงหลักสำคัญกระจายอำนาจ-สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญ ชี้ กมธ.ยกร่างแรกเหมาะแล้วสำหรับปฏิรูป ลดเหลื่อมล้ำ ชี้รวมอำนาจส่วนกลางก็หนีไม่พ้นการแย่งชิง ปรับให้ประชาชนมีส่วนร่วม เตรียมไปยื่นหนังสือต่อ กมธ.ยกร่างฯ-สปช. ขอให้ยืนหยัดแม้รัฐบาลจะไม่เห็นด้วย

วันนี้ (6 ก.ค.) สภาพัฒนาการเมืองร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลร่วมกันออกแถลงการณ์สนับสนุนให้คงหลักการสำคัญของบทบัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจและสิทธิชุมชนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยนายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง แถลงว่า สภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มีการจัดตั้งแล้ว 4.586 ตำบล ประกอบด้วยองค์กรชุมชนที่เป็นสมาชิกจำนวน 111,173 องค์กรใน 77 จังหวัด ได้ประชุมหารือและมีความเห็นร่วมกันต่อร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมนั้น โดยเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจเป็นส่วนที่ขาดไม่ได้สำหรับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญแรกที่กรรมาธิการยกร่างฯ ขึ้นมีความเหมาะสมดีแล้ว จึงควรให้คงหลักการสำคัญของร่างมาตรา 82 (3), 211, 285 ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดโอกาสให้เกิดองค์การบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัด หรือจังหวัดจัดการตนเอง และร่างรัฐธรรมนูญ 215 เกี่ยวกับการจัดตั้งสมัชชาพลเมืองไว้ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อประชาชน และยังเห็นว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิชุมชนซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญ และในร่างรัฐธรรมนูญเดิมก็บัญญัติไว้เหมาะสม จึงควรคงหลักการสำคัญของร่างมาตรา 63 และ 64 ที่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพของชุมชนไว้ เพื่อให้ชุมชนมีสิทธิปกป้อง ดูและรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนทั้งนี้ทั้ง 2 องค์กรจะติดตามการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯอย่างใกล้ชิดและมีมาตรการที่เหมาะสมต่อไป และอาจจะมีข้อเสนอในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญออกเป็นแถลงการณ์ฉบับต่อไป

โดยนายธีรภัทร์กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ผู้แทนของทั้ง 2 องค์กรจะเดินทางไปที่รัฐสภาเพื่อยื่นแถลงการณ์ดังกล่าวต่อ กมธ.ยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อไป ขณะเดียวกันตัวแทนของทั้ง 2 องค์กรที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดจะยื่นแถลงการณ์ดังกล่าวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดอีกด้วย โดยหวังว่า กมธ.ยกร่างจะนำข้อเสนอนี้ไปพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมทั้งองค์กรอื่นและหน่วยงานอื่น จะสนับสนุนการคงไว้ซึ่งบทบัญญัติเรื่องการกระจายอำนาจและสิทธิชุมชนเพราะเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปและลดความเหลื่อมล้ำ

ด้านนายจินดา บุญจันทร์ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบล กล่าวว่า การปฏิรูปที่จะไม่ให้เสียของต้องคงไว้ซึ่งเรื่องกระจายอำนาจ หากรวมอำนาจไว้ส่วนกลางก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งเพื่อแย่งชิงอำนาจในส่วนกลางอีก ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีการศึกษาและนำร่องเรื่องดังกล่าวไว้แล้ว โดยเราสนับสนุนให้จังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่ หรือจังหวัดจัดการตัวเอง ซึ่งประชาชนจะมีส่วนร่วมในการบริหารงาน ทำให้มีการยึดโยงส่วนกลางน้อยลง และนอกจากนั้นก็มีการจัดตั้งสภาพลเมืองในพื้นที่ เพื่อเป็นพื้นที่กลางที่ใช้ปรึกษาหารือปัญหาต่างๆ รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่กำหนดแผนการพัฒนาเรื่องต่างๆ ในพื้นที่ แทนที่จะให้ส่วนกลางคิดแผนและให้พื้นที่ปฏิบัติตาม ทั้งนี้ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ ได้คงเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว แต่รัฐบาลได้มีข้อสังเกตและมีการตัดทอนเนื้อหาบทบัญญัติทั้ง 2 เรื่องออกไป จึงขอให้ กมธ.ยกร่างฯ ยืนหยัดที่จะคงเรื่องการกระจายอำนาจและสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น