xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” รับคุมได้หากมีวุ่นก่อนประชามติ ปัดท้าไม่พอใจคว่ำร่างฯ แต่แนะทางออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ(แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เมินพูดถึงข้อดี-ข้อเสีย คปป. ไล่ไปถาม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รับ กมธ. ห่วงมีความขัดแย้งจึงมีมาตรการแปลกใส่เอาไว้ คาดคุมได้หากวุ่นวายก่อนประชามติ เหตุรู้มีเป้าหวังค้านร่างฯ ปัดท้าไม่พอใจคว่ำร่างแต่แนะทางออก รับนับวันความไม่พอใจเพิ่ม

วันนี้ (31 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้พูดถึงข้อเสียของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ว่า พูดไม่ได้ทั้งข้อดีและข้อเสีย และจะไม่พูดแล้ว ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นคนพูด และใครพูดได้ก็พูดไป แต่พอมีการประกาศให้ทำประชามติแล้วต้องระมัดระวังขึ้น ส่วนที่มีความกังวลว่าอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งนั้น ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นได้ 2 ช่วง คือ ช่วงระหว่างการลงประชามติ และช่วงที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและมีรัฐบาลแล้ว ทุกคนห่วงไม่ใช่ไม่ห่วง ทาง กมธ.ยกร่างฯ ก็ห่วง ถึงได้คิดมาตรการแปลกใส่เอาไว้ ด้วยความเชื่อตามประสาของเขาว่าจะใช้รับมือปัญหาได้ แต่พูดกันตรงๆ มันใช้รับมือไม่ได้หมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ยิ่งรู้ว่าใครเตรียมรับมือไว้อย่างไรก็จะมีคนที่คิดจะออกนอกลู่นอกทาง อุดอย่างไรก็ไม่ได้ แต่อย่างน้อยจะมีมาตรการกันไว้สำหรับคนบางพวกที่อาจจะเกรง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถลดหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.เพราะจะมีการลงมติในวันที่ 6 ก.ย.กันแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่ว่าหาก สปช.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงระหว่างก่อนถึงวันประชามติจะเกิดความวุ่นวาย นายวิษณุกล่าวว่า เป็นสิ่งที่เราเกรงอยู่ แต่น่าจะควบคุมได้ เพราะเป็นความวุ่นวายที่รู้เป้าหมายว่าคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เหมือนความวุ่นวายที่จะเกิดหลังจากมีรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งแล้วที่มองจากวันนี้ไปข้างหน้าเราไม่รู้เลยว่าจะมาจากทิศไหนทางไหน มีตั้งแต่การคัดค้านผลการเลือกตั้ง คัดค้านองค์กรอิสระ คัดค้านรัฐธรรมนูญ หรือไม่พอใจการจัดตั้งรัฐบาล ความวุ่นวายเวลานั้นจะมากกว่าเวลานี้

“เวลานี้จะพูดอะไรก็เป็นการคัดค้านรัฐธรรมนูญซึ่งอาศัยเหตุอาศัยผลอธิบายกันได้ ขณะเดียวกัน มันก็พูดได้ว่าไม่ต้องค้านอะไรมากหรอกพ่อคุณเอ๋ย คว่ำมันเสียเวลาลงประชามติก็เท่านั้น ซึ่งก็ยังพอพูดได้ แต่พอหลังเลือกตั้งแล้วใครที่ออกมาคัดค้าน คือ 1. เราไม่รู้ว่าเขาค้านอะไร และ 2. ถึงจะรู้ก็ไม่รู้จะระงับความขัดแย้งนั้นได้อย่างไร จะไปบอกให้เขารออะไรก็ไม่รู้จะรออะไรแล้ว วันนี้ยังบอกได้ว่า ก็ล้มเสียสิในการลงประชามติถ้าไม่พอใจ อันนี้ไม่ได้ท้า แต่พูดถึงทางออกธรรมดา เดี๋ยวคุณจะไปพาดหัวว่าวิษณุท้าให้คว่ำอีกซึ่งไม่ใช่ แต่ผมกำลังพูดถึงทางออก”

เมื่อถามว่า แสดงว่าจับจุดได้ว่าจะเกิดความขัดแย้งในอนาคต นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่เราจับ แต่ใครๆ ก็รู้ว่ามีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ ส่วนอะไรมากกว่าหรือน้อยกว่าตนไม่รู้ เมื่อถามว่า เกรงว่าความไม่พอใจจะเยอะขึ้นหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะนับวันความไม่พอใจจะมากขึ้นด้วยความที่มองเห็นจุดอ่อนมากขึ้น เมื่อถามต่อว่าหากเป็นแบบนี้ฝ่ายที่รับผิดชอบทำไมจึงไม่รีบผ่อนให้เบาลง นายวิษณุกล่าวว่า จะไปผ่อนอย่างไร เพราะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จตั้งแต่วันที่ 22 ส.ค.แล้ว เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าไม่มีทางออก นายวิษณุกล่าวว่า ทางออกมีอยู่แล้ว คือ โหวตกันในวันที่ 6 ก.ย.หนึ่งรอบ และวันที่ 10 ม.ค. 59 อีกรอบ ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น