xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"ยัน21กมธ.มีสิทธิ์โหวต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1ก.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวยืนยันว่า กรรมาธิการยกร่างฯ จำนวน 21 คน ที่เป็นสมาชิกสปช. สามารถลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะ 1. การโหวตเป็นสิทธิ และเป็นเอกสิทธิที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 รับรองไว้ 2. ประเพณีปฏิบัติที่ทำกันมาในประเทศไทย ถ้าจะห้ามโหวต ต้องมีกติกาชัดเจน เช่น รัฐมนตรีเข้าประชุมได้ แต่ห้ามโหวตในกิจกรรมที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และ 3. ประเพณีที่ผ่านมา การลงมติของกมธ.ยกร่างฯ ที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในปี 2540 และปี 2550 ก็สามารถลงมติได้ แต่การลงมติในกระบวนการของสปช. ยังไม่ถือว่าเป็นที่เด็ดขาด เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการเห็นชอบจากสปช. ทุกอย่างก็จบ แต่ถ้าผ่านความเห็นชอบ ก็จะไปสู่ขั้นตอนการขอความเห็นชอบจากประชาชนในการลงประชามติ
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติที่เห็นว่าไม่เข้าข่ายเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกัน คือ กรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติในกฎหมายหลายฉบับผ่านไปแล้ว และเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์แล้วเช่นกัน อาทิ กฎหมายเงินเดือนข้าราชการ และการลงมติใน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งก็พบว่า สนช.ที่เป็นข้าราชการลงมติโหวตได้ และก็เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์ ซึ่งตนก็ไม่เคยไปตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใด สนช. ที่เป็นข้าราชการ จึงลงมติในกฎหมายเหล่านี้ได้ อีกทั้งในอดีต ส.ส.ที่เสนอกฎหมาย และลงมติในวาระที่ 1 และเข้าไปเป็นกรรมาธิการ ในวาระที่ 2 และลงมติในวาระที่ 3 ก็ไม่เคยมีปัญหา และกฎหมายก็สามารถบังคับได้
" แต่มามีปัญหาในยุคนี้เท่านั้น เพราะไม่ชอบรัฐธรรมนูญ ต้องการให้รัฐธรรมนูญคว่ำทุกวิถีทาง ใช้อะไรมาเป็นข้ออ้างได้ ก็ใช้ทั้งสิ้น โดยสมาชิก สปช. บางคนถึงกับออกมาขู่ว่า จะดำเนินคดีทางอาญากับ กมธ.ยกร่างฯ ที่เป็น สปช. หากลงมติในวันที่ 6 กันยายนนี้ ดังนั้นถ้าพวกผมทั้ง 21 คนลงมติ คนที่พูดก็ลองไปดำเนินคดีอาญา ผมก็จะดำเนินคดีอาญากลับเหมือนกัน ฐานฟ้องเท็จ ก็จะได้สู้กันต่อไปให้ไม่รู้จักจบ ดังนั้นขอชี้แจงว่า การลงมติเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทำกันมา การหาเรื่องตัดสิทธิคนอื่น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ขอย้ำว่า มีสิทธิตามรธน.ชั่วคราว และประเพณีที่ปฏิบัติกันมา 83 ปี ส่วนจะใช้สิทธิหรือไม่ ก็ค่อยว่ากัน ซึ่งการลงมติของสปช. ไม่ได้เป็นการชี้ขาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลบังคับใช้ได้ หากไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ก็อย่าเอาประเด็นเล็กประเด็นน้อยมาทำเป็นประเด็น" นายบวรศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นในช่วงการทำประชามติและหลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว นายบวรศักดิ์ กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามนี้ โดยระบุว่า "ผมจะไม่ตอบคำถามที่เอาความเห็นของคนอื่นมาถาม ขอให้ไปถามคนพูด เราต้องการร่างรัฐธรรมนูญมาเพื่อป้องกันความขัดแย้งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แต่ความขัดแย้งทางความคิด เป็นเรื่องธรรมดา ผมไม่ตอบคำถามสมมติ ขอให้สื่อถามที่เกี่ยวข้องในร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น" นายบวรศักดิ์ กล่าว

**สปช.โหวตร่างรธน.โดยเปิดเผย

ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร วิปสปช. แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณี การลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช.ในวันที่ 6 ก.ย. โดยกำหนดขั้นตอนดำเนินการโดยอาศัยข้อบังคับ 68 ของการประชุม สปช. ตั้งคณะกรรมการตรวจการลงคะแนน และการนับคะแนน และเรียกชื่อสมาชิกเรียงตามลำดับให้ทำการลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยไม่มีการอภิปรายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อมีการลงมติแล้ว จะมีการขานคะแนนทันที หาก สปช.เห็นชอบร่างรธน. จะต้องแจ้งไปยัง ครม. จากนั้นครม. แจ้งไปยังกกต. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ วันเวลา การออกเสียงประชามติ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสนช. และให้ประชาชนทำการลงประชามติ ตามพ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 หากที่ประชุมสปช. มีมติไม่เห็นชอบร่างรธน. ถือว่าสปช. เสร็จสิ้นภาระกิจในเวลา 24.00 น. ในวันที่ลงมติ
แต่หากสปช.เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก ก็จะต้องพิจารณาเรื่องคำถามประชามติ โดยมี 2ขั้นตอน คือ รัฐบาลถามต่อที๋ประชุมว่า เห็นควรที่สปช.จะมีคำถามในการทำประชามติหรือไม่ โดยให้สมาชิกได้แสดงความเห็น หากสมาชิกเห็นว่าไม่ควร ก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆ ต่อ แต่หากเห็นควรว่าต้องตั้งคำถาม ก็ต้องพิจารณา 2 ญัตติ ที่ค้างในวาระ คือ ญัตติ เรื่องขอเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และ นายวรวิชญ์ ศรีอนันต์รักษา และญัตติเรื่อง การมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรง ของนายประสาร มฤคพิทักษ์ และ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่สมาชิกสามารถเสนอญัตติเพิ่มเติมได้ นับจากวันนี้จนกว่าจะมีการปิดการเสนอญัตติได้
** "เด็กบิ๊กป้อม"ปัดรับใบสั่งคว่ำร่างรธน.

พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก หนึ่งในวิปสปช. กล่าวถึงข้อกล่าวหาว่า เป็นคนกลางในการนำรายชื่อสปช. ที่ต้องการเข้าสู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปให้กับพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อเสนอต่อนายกฯ ประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง สมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ โดยยืนยันว่าไม่มี สปช. เสนอชื่อผ่านตนเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ และไม่มีใบสั่งมายังสปช. เพื่อลงมติรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการลงมติดังกล่าว เป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละบุคคล จะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมาก หากสปช. จะต้องตัดสินใจโดยมีผลประโยชน์รองรับ ทั้งนี้ การตัดสินลงมติของ สปช. ควรตัดสินใจจากความเหมาะสม และเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ตนเป็นคนในสังกัดของพล.อ. ประวิตร นั้นพล.อ.ฐิติวัจน์ กล่าวว่ารู้จักกับพล.อ.ประวิตร เนื่องจากเคยเป็นหัวหน้ากองพันในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเช่นเดียวกัน จึงมีความเคารพต่อ พล.อ.ประวิตร ตั้งแต่นั้น ซึ่งขณะที่พล.อ.ประวิตร เป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้แต่งตั้งตนเป็นผู้อำนวยการกองการกีฬา และเป็นผู้ที่เสนอชื่อของตนให้ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งพลเอกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ แต่ไม่มีใบสั่งผ่านตน และไม่มีบุคคลขอตำแหน่งผ่านตนอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น