สปช.ยัน คปป.ไม่ใช่ใบสั่ง คสช. แต่เป็นใบสั่งของสถานการณ์ เข้ามาช่วยเป็นบันไดหนีไฟหากเกิดวิกฤต หลีกการปฏิวัติ ฉะพรรคการเมืองไม่มีหัวใจในการปฏิรูป
นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช.กล่าวว่า มีการวิพากษ์กันมากว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) เป็นการสืบทอดอำนาจบ้าง เป็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐบ้าง เป็นใบสั่ง คสช.บ้าง ตนมีความเห็นว่า ไม่ใช่เป็นใบสั่งของ คสช.แต่เป็นใบสั่งของสถานการณ์ในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นการเริ่มต้นจากความเป็นจริงของประเทศไทยที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก ก่อนการยึดอำนาจ 22 พ.ค.57 ไม่ใช่อำนาจรัฐซ้อนรัฐ แต่เป็นนักโทษหนีอาญาแผ่นดินคนเดียวที่มีอำนาจเหนือรัฐบทบัญญัติ คปป.นี้เริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ประเทศไทยเข้าสู่มุมอับซึ่งการเมืองในสภาวะปกติเป็นอัมพาต ทำให้ประชามหาชนแสดงถึงเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ครั้งประวัติศาสตร์ว่าการเมืองเก่าเป็นกองขยะที่ต้องล้างทิ้ง เดินหน้าไปไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนต้องปฏิรูปอย่างทั่วด้าน ไม่เปลี่ยนไม่ได้ ปัญหาคือพรรคการเมืองไทยนั้นนอกจากเล่นเกมอำนาจ แบ่งปันผลประโยชน์ ทำประชานิยมแบบล้นเกินอย่างไม่รับผิดชอบ มีพรรคไหนบ้างที่มีหัวใจและความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปจริง
“ในวันนี้ผลงานการปฏิรูปประเทศไทยอย่างทั่วด้านของ สปช.รวม 37 วาระ ส่งมอบให้นายกรัฐมนตรีไปแล้ว นายกแสดงความพึงพอใจและกรุณารับไปขยายผลต่อให้เป็นจริง ซึ่งรัฐธรรมนูญและกฏหมายลูกมีบทบัญญัติรองรับไว้แล้วเพื่อตอบสนองเจตจำนงของประชาชนที่ไม่ต้องการคืนกลับไปสู่การเมืองน้ำเน่าแบบเดิมอีกต่อไป
คำถามคือ พรรคการเมืองจากการเลือกตั้ง จะเอาไหม พวกเขาคุ้นชินกับพื้นที่การเมืองแบบเก่าที่ประชาชนสิ้นหวังมาแล้ว ในยามปกติ คปป.จึงมาทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูปและการปรองดองตามมาตรา 261 ซึ่งท้ายมาตราก็ระบุชัดว่าคณะกรรมการชุดนี้ “ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน” แต่ในยามที่เหลือกำลังจะลากไหว กล่าวคือรัฐบาลเอาไม่อยู่ คปป.จึงจะเข้ามาช่วยเป็นบันไดหนีไฟ เพราะถ้าไม่มีเครื่องมือนี้ไว้ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องมีทหารเข้ามายึดอำนาจใหม่ เหตุการณ์วิกฤตเป็นสถานการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว
นายประสารกล่าวว่า เมื่อ 22 พ.ค. 2558 ที่กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์โดมินิก รุสโซ จากฝรั่งเศส ชี้ว่ารัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขความขัดแย้งอันเป็นวิกฤตของประเทศได้ คือ รัฐธรรมนูญที่มีความสมดุลระหว่างคันเร่งและเบรก และยังบอกว่ารัฐธรรมนูญจะต้องแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่มีภูมิหลังแตกต่างกันไป ผมเห็นว่า คปป.นี้เองเป็นทั้งคันเร่งและเบรกในตัวเอง หน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองคือคันเร่ง หน้าที่แก้วิกฤตคอยเป็นเหมือนเซฟทีคัต คือตัดก่อนตาย นี่แหละคือเบรกถ้านักการเมืองเคารพเสียงสวรรค์ของประชาชนจริงก็ควรให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการ “ประชาวินิจฉัย” จะดีหรือไม่