xs
xsm
sm
md
lg

“ประสาร” หนุนประชามติ “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” ชี้ “เพื่อไทย - ปชป” ต้องหันหน้าเข้าหากัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประสาร มฤคพิทักษ์ (ภาพจากแฟ้ม)
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สนับสนุนแนวคิดประชามติรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ชี้ หากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง สองพรรคการเมืองใหญ่อยู่คนละฟากฝั่ง ประเทศชาติจะย่ำเท้าอยู่ในวังวนแห่งความร้าวฉานไม่สิ้นสุด ย้ำต้องหันหน้าเข้าหากันแทนการเผชิญหน้าแบบในอดีต

วันนี้ (12 ส.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการเสนอคำถามการทำประชามติคู่กับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ระหว่างสองคำถามที่นำเสนอผ่านสื่อมาแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกัน เห็นว่าคำถามเรื่อง “ให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” ควรได้รับเลือกมากกว่าคำถาม “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” เพราะการปฏิรูปได้ดำเนินมาแล้ว ยังต้องดำเนินต่อไป ไม่มีวันจบสิ้น และชี้ไม่ได้ว่าการปฏิรูปจะจบลงที่ตรงไหน มันเป็นงานต่อเนื่อง ไม่ว่าก่อนหรือหลังเลือกตั้งก็ต้องปฏิรูป ถึงอย่างไร รัฐบาลหลังการเลือกตั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะนอกจากเป็นเจตจำนงของมวลประชาชนทั่วประเทศแล้ว ยังมี 37 วาระการปฏิรูปซึ่งเป็นผลงานตกผลึกของ สปช. ส่งไปรออยู่แล้วในมือรัฐบาล ยังมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปอีกไม่เกิน 200 คน มาผลักดันการปฏิรูป และมี พ.ร.บ. ปฏิรูปออกมารองรับ การปฏิรูปจึงเป็นภารกิจภาคบังคับในตัวของมันเอง

ส่วนคำถามเรื่องรัฐบาลปรองดองนั้นน่าจะพิจารณา เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงของสถานการณ์ประเทศไทยในวันนี้ ว่า แม้เหนือผิวน้ำ คลื่นลมสงบก็จริงอยู่ แต่ใต้ผิวน้ำยังป่วน มีความขัดแย้งร้าวลึก และจะปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไปโดยทุกฝ่ายพากันวางเฉยหมดก็ไม่ได้ ช้าหรือเร็วในระยะสองปีนี้ต้องมีรัฐบาลใหม่ หากรัฐบาลจากการเลือกตั้งยังคงเป็นรูปแบบเดิม คือ สองพรรคการเมืองใหญ่อยู่คนละฟากฝั่ง โดยยังไม่ต้องชี้ว่าใครถูกใครผิด ใช่หรือไม่ว่าความขัดแย้งที่หลบมุมอยู่ พร้อมที่จะปะทุเป็นความรุนแรงได้ เรามีประสบการณ์ตรงที่เจ็บปวดกันมาแล้วในช่วงปี 2551 - 2557 ประเทศชาติจะย่ำเท้าอยู่ในวังวนแห่งความร้าวฉานไม่สิ้นไม่สุดอย่างนั้นหรือ ดังนั้น จึงควรนำคำถามนี้เข้าสู่กระบวนการประชาชนวินิจฉัย ด้วยการลงประชามติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการมีรัฐบาลปรองดอง เป็นเวลา 4 ปี ตามบทเฉพาะกาลที่จะกำหนดให้พรรคร่วมรัฐบาลต้องได้คะแนนเสียง 4 ใน 5 คือ 360 เสียงจาก 450 เสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเหลือเป็นฝ่ายค้านราว 90 เสียง

“ข้อบัญญัตินี้ทำให้สองพรรคการเมืองใหญ่ต้องหันหน้าเข้าหากันแทนการเผชิญหน้าแบบในอดีต และจะร่วมกันทำสัญญาประชาคมก็ได้ว่า จะปรองดองกันปฏิรูปประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนต่อไป ปัญหาอยู่ที่ว่าสองพรรคการเมืองสำคัญจะทำใจได้ไหม เพราะนักการเมืองบางคน ยืนยันว่ารัฐบาลต้องมีฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล แต่ ณ วันนี้ เมืองไทยมีสถานการณ์พิเศษที่ต้องการบรรยากาศแห่งการร่วมมือกันใช่หรือไม่ และความจริงฝ่ายค้านยังคงมีหน้าที่ของเขาอยู่ แม้ว่าคะแนนเสียงจะน้อยก็ตาม อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มอบอำนาจให้ประชาชนมีพลังตรวจสอบที่เป็นจริง และมีบทบาทของภาคประชาชนวางไว้ทั่วไปในหมวดสิทธิชุมชน สิทธิ เสรีภาพ และหมวดอื่น ๆ ดังนั้น ให้ประชาชนเป็นคนพิพากษาดีไหมว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” นายประสาร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น