ไม่เลื่อนแน่! “เทียนฉาย” นัดประชุม สปช. ลงมติร่าง รธน. วันอาทิตย์ 6 ก.ย. กำหนด เวลาเดิม 10.00 น. ด้าน “ฐิติวัจน์” ปัดใบสั่ง “ล่าชื่อสมาชิกคว่ำ รธน.” ชี้ น่ารังเกียจ ถ้าหวังผลประโยชน์ “นิรันดร์” ซัด “ตัดต่อพันธุกรรม ลักไก่ในช่วงโค้งสุดท้าย มัดมือชก ไม่เห็นหัวสมาชิก สปช.”
วันนี้ (1 ก.ย.) มีรายงานว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ออกหนังสือด่วนมากที่ สผ (สปช) 0014/54 ถึงสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เนื่องด้วย นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ได้มีคำสั่งให้นัดประชุม สปช. ครั้งที่ 67/2558 ในวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย. 2558 เป็นพิเศษในเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนเพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช .... ทั้งฉบับ
ทั้งนี้ หากที่ประชุม สปช. มีมติ “เห็นชอบ” ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็จะนำไปสู่การพิจารณาเรื่องที่ค้างพิจารณา คือ สปช. ควรมีประเด็นคำถามที่สมควรให้มีการออกเสียงประชามติหรือไม่ รวมถึงมีญัตติ 2 เรื่องที่รอการพิจารณา คือ 1. ญัตติเรื่อง ขอเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง (นายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา เป็นผู้เสนอ) 2. ญัตติเรื่องการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติให้เสนอประเด็นในการลงประชามติ ตามรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) มาตรา 37 วรรคสี่ และวรรคห้า (นายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นผู้เสนอ)
มีรายงานว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้แจกเอกสารเพิ่มเติมให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็นเอกสารว่าด้วยเจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญและตารางสรุปเจตนารมณ์รายมาตราของร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้ สปช. ลงมติ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ ซึ่งรายละเอียดในเอกสารมีทั้งสิ้น 4 ฉบับ ประกอบด้วย หน้าแรกเจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญและต่อด้วยตาราง ที่มีรายละเอียดของมาตราต่าง ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญอย่างเรียงลำดับ และมีรายละเอียดของเจตนารมณ์ และมีตารางเปรียบเทียบว่าตรงกับมาตราใดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 บ้าง
ในเนื้อหาของเจตนารมณ์หลักของร่างรัฐธรรมนูญ จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งขอคำปรารภของรัฐธรรมนูญ เมื่อประชาชนให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติแล้ว โดยมีสาระดังนี้ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสาระสำคัญและเจตนารมณ์ในการธำรงรักษาและเทิดทูนชาติศาสนา และพระมหากษัตริย์ ให้มั่นคงสถิตสถาพรตลอดไป ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นวิถีทางปกครองที่สอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มุ่งปลูกฝังให้ประชาชนเป็นพลเมือง ซึ่งมีสำนึกและพฤติกรรมที่ตระหนักในหน้าที่และความรับผิดชอบ ขยายขอบเขตสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการปกครองและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ มุ่งขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทำให้ผู้นำทุกระดับกอปรด้วยจริยธรรมให้ความสำคัญกับการสร้างดุลยภาพ และประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในสถาบันการเมืองระดับชาติและท้องถิ่น รวมทั้งมีมาตรการในการปฏิรูปด้านต่าง ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคมให้บรรลุผล สร้างกลไกให้เกิดความปรองดอง ป้องกันและระงับความขัดแย้งไม่ให้เกิดความรุนแรง เพื่อนำชาติสู่สันติสุขสืบไป
ส่วน นายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กังวลถึงความขัดแย้งเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เห็นด้วยกับสิ่งที่ นายวิษณุ กังวลว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านอาจจะเกิดความขัดแย้งตามมา น่าจะเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างให้ สปช. รู้ว่า ถ้าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านในวันที่ 6 ก.ย. จะเป็นอันตรายต่อประเทศ เพียงแต่ไม่พูดตรง ๆ ให้ สปช. ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ยิ่งสถานการณ์ขณะนี้สองพรรคการเมืองใหญ่ต่างไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โอกาสเป็นไปได้ยากที่ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ หากต้องไปยกร่างใหม่ ก็ต้องกลับมาทำประชามติอีกรอบ เสียเงินไปกว่า 6 พันล้านบาท ก็ยังไม่รู้ว่าจะผ่านหรือไม่ ดังนั้น ให้คว่ำรัฐธรรมนูญในชั้น สปช. แล้วไปแก้ไขเนื้อหาให้รอบคอบมากขึ้นจะดีกว่า โดยเฉพาะคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำไปตัดต่อพันธุกรรม แล้วลักไก่ในช่วงโค้งสุดท้าย เป็นการมัดมือชก ไม่เห็นหัวสมาชิก สปช.
ด้าน พล.ท.ฐิติวัจน์ กำลังเอก สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิก สปช. กล่าวหาว่า ตนเป็นคนกลางนำรายชื่อ สปช. ที่ต้องการเข้าสู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีประกอบการพิจารณาแต่งตั้งว่า ยืนยันไม่มี สปช. เสนอชื่อผ่านตน เพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และไม่มีใบสั่งมายัง สปช. เพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการลงมติดังกล่าวเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละบุคคล จะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากหาก สปช. ต้องตัดสินใจโดยมีผลประโยชน์รองรับ ทั้งนี้ การตัดสินลงมติของ สปช. ควรตัดสินใจจากความเหมาะสมและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม จุดยืนของตนที่มีต่อรัฐธรรมนูญ ขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด เพราะตนไม่เชื่อในการเมืองแบบตัวแทน จึงจะใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวตัดสิน