เลขาฯ วิป สปช.เผยที่ประชุมให้สมาชิกลงคะแนนร่างรัฐธรรมนูญโดยเปิดเผย ไม่มีการอภิปราย หากไม่เห็นชอบก็สิ้นสุดภารกิจทันทีเที่ยงคืน แต่หากผ่านร่างฯ ก็ต้องให้รัฐบาลถามที่ประชุมเสนอคำถามเพิ่มในประชามติหรือไม่ ถ้าเห็นควรก็เอาญัตติ ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง กับกลไกป้องกันความขัดแย้ง แต่สามารถเสนอญัตติได้ เผยคำปรารภสำนักเลขาฯ บอกให้สมาชิกชง ครม.ให้ยื่นศาล รธน.เอง ด้าน “ฐิติวัจน์” ปัดนำชื่อ สปช.ส่ง “ประวิตร” คัดนั่งสภาขับเคลื่อนฯ ยันไม่มีใบสั่ง
วันนี้่ (1 ก.ย.) ที่รัฐสภา นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมกาวิสามัญกิจการสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช.ในวันที่ 6 ก.ย. กำหนดขั้นตอนดำเนินการโดยอาศัยข้อบังคับ 68 ของการประชุม สปช. ตั้งคณะกรรมการตรวจการลงคะแนนและการนับคะแนน และเรียกชื่อสมาชิกเรียงตามลำดับให้ทำการลงคะแนนโดยเปิดเผยโดยไม่มีการอภิปรายใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อมีการลงมติแล้วจะมีการขานคะแนนทันที หาก สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแจ้งไปยัง ครม. จากนั้น ครม.แจ้งไปยัง กกต.เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และวันเวลาในการออกเสียงประชามติ โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และให้ประชาชนทำการลงประชามติตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 หากที่ประชุม สปช.มีมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญถือว่า สปช.เสร็จสิ้นภาระกิจในเวลา 24.00 น. ในวันที่ลงมติ
นายอลงกรณ์กล่าวว่า แต่หาก สปช.เห็นชอบด้วยเสียงข้างมากก็จะต้องพิจารณาเรื่องคำถามประชามติ โดยมี 2 ขั้นตอน คือ รัฐบาลถามต่อที่ประชุมว่าเห็นควรที่ สปช.จะมีคำถามในการทำประชามติหรือไม่ โดยให้สมาชิกได้แสดงความเห็น หากสมาชิกเห็นว่าไม่ควรก็ไม่ต้องดำเนินการใดๆต่อ แต่หากเห็นควรว่าต้องตั้งคำถามก็ต้องพิจารณา 2 ญัตติที่ค้างในวาระ คือ ญัตติเรื่องขอเสนอประเด็นให้มีการปฏิรูปประเทศอีก 2 ปีก่อนจัดการเลือกตั้งของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวรวิชญ์ ศรีอนันต์รักษา และญัตติเรื่องการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงของนายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ แต่สมาชิกสามารถเสนอญัตติเพิ่มเติมได้นับจากวันนี้จนกว่าจะมีการปิดการเสนอญัตติได้
ส่วนประเด็นการยื่นเรื่องให้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ส่งร่างรัฐธรรมนูญไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำปรารภนั้น นายอลงกรณ์กล่าวว่า ทางสำนักเลขาธิการ สปช.ได้เสนอความเห็นว่า ผู้มีอำนาจในการตีความว่าร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จหรือไม่ คือ กมธ.ยกร่างฯ อีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 5 วรรคสองไม่ได้บัญญัติให้ สปช.เป็นผู้ส่งเรื่อง ต่างจาก ครม. คสช. ศาลฎีกา หรือศาลปกครองสูงสุดที่อาจขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ดังนั้น สปช.ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ไม่อยู่ในฐานะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ พร้อมกับส่งเรื่องให้เจ้าของเรื่องทราบตั้งแต่ 31 ส.ค.แล้ว แต่หากเจ้าของเรื่องยังมีประเด็นข้อสงสัยสามารถส่งไปยัง ครม.เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยตรง
ส่วนที่มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปมีมติสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายอลงกรณ์กล่าวว่า ก็เป็นสิทธิขององค์กรต่างๆ จะออกมาแสดงความเห็นจุดยืนของตนเอง ทาง สปช.ก็จะหยิบยกมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับข้อเสนอของพรรคการเมือง และฝ่ายต่างๆ ด้วยเช่นกัน โดยที่ประชุมไม่ได้มีการหารือว่าจะลงมติไปในทิศทางใด เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกและคนที่จะพิจารณาได้อย่างอิสระ รวมถึงไม่มีการหารือเรื่อง สปช.21 คนที่ร่วมเป็น กมธ.ยกร่างฯ มีสิทธิในการลงมติหรือไม่ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละคน
ด้าน พล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก หนึ่งในวิป สปช.กล่าวถึงข้อกล่าวหาว่า เป็นคนกลางในการนำรายชื่อ สปช.ที่ต้องการเข้าสู่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไปให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เพื่อเสนอต่อนายกฯ ประกอบการพิจารณาแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ โดยยืนยันว่าไม่มี สปช.เสนอชื่อผ่านตนเพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ และไม่มีใบสั่งมายัง สปช.เพื่อลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการลงมติดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละบุคคล จะเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจมากหาก สปช.จะต้องตัดสินใจโดยมีผลประโยชน์รองรับ ทั้งนี้ การตัดสินลงมติของ สปช.ควรตัดสินใจจากความเหมาะสมและเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม จุดยืนของตนที่มีต่อรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยเพียงใด เพราะตนไม่เชื่อในการเมืองแบบตัวแทน จึงจะใช้เกณฑ์นี้เป็นตัวตัดสิน
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตนเป็นคนในสังกัดของ พล.อ.ประวิตรนั้น พล.อ.ฐิติวัจน์กล่าวว่า รู้จักกับ พล.อ.ประวิตร เนื่องจากเคยเป็นหัวหน้ากองพันในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเช่นเดียวกัน จึงมีความเคารพต่อ พล.อ.ประวิตรตั้งแต่นั้น ขณะที่ พล.อ.ประวิตร เป็นผู้บัญชาการทหารบกได้แต่งตั้งตนเป็นผู้อำนวยการกองการกีฬา และเป็นผู้ที่เสนอชื่อของตนให้ได้รับการแต่งตั้งในตำแหน่งพลเอกอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่า พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ใหญ่ที่ตนเคารพ แต่ไม่มีใบสั่งผ่านตน และไม่มีบุคคลขอตำแหน่งผ่านตนอย่างแน่นอน