xs
xsm
sm
md
lg

วิป สปช.สรุป 2 คำถามประชามติ รับลูก “รัฐบาลปรองดองแห่งชาติ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอลงกรณ์ พลบุตร พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พงศ์ษา นายวันชัย สอนศิริ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังการประชุมวิปสปช.
วิป สปช. สรุป 2 คำถามประชามติ ควบคู่ทำประชามติรัฐธรรมนูญ รับลูก “บวรศักดิ์” เสนอ “ญัตติรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ” แล้ว 17 ส.ค. นัดถก “ปฏิรูปครั้งสุดท้าย” นัดโหวตตัดสิน 7 ก.ย. หลัง สปช. โหวต รธน. ผ่าน

วันนี้ (13 ส.ค.) ที่ รร.เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ช่วงบ่าย นายอลงกรณ์ พลบุตร พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พงศ์ษา นายวันชัย สอนศิริ คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แถลงภายหลังการประชุมวิป สปช.

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 17 ส.ค. จะนัดประชุมเพื่อนำประเด็นการปฏิรูปที่ยังค้างมาพูดคุยเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งนับจากวันที่ 18 ส.ค. จะเป็นการพูดคุยในเรื่องรัฐธรรมนูญ พิจารณาญัตติคำถามในการทำประชามติควบคู่กับการทำมติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้สมาชิกสปช.อภิปรายอย่างเต็มที่

โดยขณะนี้โดยญัตติที่ 1 ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา สมาชิก สปช. ที่เสนอว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กับการให้มีการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง” และล่าสุด ญัตติที่ 2 เสนอโดย นายประสาร มฤคพิทักษ์ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะจำนวน 20 คน ยื่นเสนอญัตติ โดยมี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ และสมาชิก สปช. ในคำถามที่ว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการมีกลไกป้องกันและขจัดความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอย่างน้อย 4 ปีแรกหลังใช้รัฐธรรมนูญให้มีรัฐบาลปรองดองเพื่อการปฏิรูป ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในสังกัดไม่น้อยกว่า 4 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก ส.ส. เท่าที่มีอยู่ของ ส.ส. คือ 360 จาก 450”

โดยจะให้ผู้เสนอญัตตินำเสนอเหตุผลของตนเองอย่างเต็มที่ และเปิดให้สมาชิกได้อภิปราย จากนั้นถึงจะนำไปโหวตตัดสินให้เหลือเพียงญัตติเดียวในวันที่ 7 ก.ย. ภายหลัง สปช. โหวตเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไปแล้ว อย่างไรก็ตาม วิป สปช. ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่นเสนอญัตติคำถามควบคู่กับการทำประชามติรัฐธรรมนูญได้ตั้งแต่บัดนี้ถึงเวลา 09.00 น. ในวันที่ 18 ส.ค. และหากใครเสนอญัตติคำถามเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ก็เชื่อว่า จะไม่มีโอกาสได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุม สปช. อย่างไรก็ตามยืนยันว่า มีคำถามของ สปช. ควบคู่การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นดังกล่าวแล้ว

นายอลงกรณ์ กล่าวถึงกรณี นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช. ที่เสนอให้นัดประชุม สปช. เพื่อศึกษาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายหลังที่ได้รับร่างจาก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 22 ส.ค. แล้วว่า หลังจากวันที่ 18 ส.ค. จะไม่มีกรประชุม สปช. อย่างเป็นทางการแล้ว แต่ถ้า สปช. จะนัดหารือนอกรอบเกี่ยวกับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญว่าตรงกับญัตติคำขอแก้ไขทั้ง 8 กลุ่มก็สามารถทำได้

นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังได้ชี้แจงว่า การส่งร่างรัฐธรรมนูญจะประกอบไปด้วยเอกสาร 3 ชุด ได้แก่ 1. รายงานฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือร่างแรกพร้อมกับคำขอเสนอแก้ไข 2. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ (พ.ศ...).หรือร่างสุดท้ายฉบับสมบูรณ์ และ 3. เอกสารเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ




กำลังโหลดความคิดเห็น