xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติรัฐธรรมนูญห้ามรณรงค์ ปิดหูปิดตามาอีกแล้ว!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รายงานการเมือง

ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น สำหรับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อลงมติว่าจะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนางงามของ “อ.ปี๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และชาวคณะ ในวันที่ 6 กันยายนนี้

แม้จะมีการปลุกระดมและล็อบบี้ให้เพื่อนสมาชิกยกมือคว่ำทิ้ง เพราะรับไม่ได้กับเนื้อหา โดยเฉพาะการมี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เป็นเหมือนรัฐซ้อนรัฐ ลักษณะคล้ายโปลิตบูโร

นั่นเป็นเพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังกุมสภาพเสียงข้างมากเอาไว้ในมือ

ดูจากท่าที “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ออกมาตะหวาดใส่นักการเมืองที่ยุแยงตะแคงรั่ว ให้สมาชิก สปช.ทำแท้งร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า ให้หุบปาก และให้ประชาชนกว่า 60 ล้านคน เป็นคนตัดสินจะดีกว่า ทุกอย่างยิ่งชัดว่า ในวันที่ 6 กันยายนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนางงาม จะได้คะแนนเสียงท่วมท้นเพื่อผ่านไปถึงการทำประชามติในปีหน้า ไม่ปล่อยให้ตายท้องกลมในชั้น สปช.แน่

เนื่องจากหากปล่อยให้มีการคว่ำในชั้นนี้ จะดูเหมือน คสช.เป็นคนกดรีโมตให้ สปช. คว่ำ เพื่อต่ออายุตัวเองแบบจงใจ

แม้สัดส่วนทหารใน สปช.จะไม่ได้เยอะเหมือนกับในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดฝั่งผู้มีอำนาจ อยู่ในสภาพที่ส่งสัญญาณซ้ายหันขวาหันกันได้ หากกับเทียบฝั่งที่พยายามตีปี๊บให้มีการคว่ำแล้ว น่าจะเยอะกว่ากันหลายเท่าตัว ช่วงที่ผ่านมาเหตุที่ฝั่งหนุนให้คว่ำเสียงดังกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายที่เห็นด้วยไม่ค่อยออกมาจ้อ เงียบกันอยู่ในที่ตั้งกันเสียเยอะ และประเด็นขอให้คว่ำ มันน่าสนใจกว่าขอให้ผ่าน เลยติดลมบนอยู่หน้าสื่อหลายวัน

ปฏิกิริยาของคนในรัฐบาลเองก็ไม่เคยมีใครออกมาตำหนิติเตียน “คปป.” แถมมีส่งเสียงเชียร์ให้มีด้วยซ้ำ เพราะต้องการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาทำงานเรื่องปฏิรูป และการสร้างความปรองดองในวันที่รัฐบาลนี้ไม่อยู่แล้ว เป็นเครื่องการันตีว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาจะไม่เสียของ

อย่างไรคงจะปล่อยให้ไปวัดใจกันที่การทำประชามติ หัวหรือก้อย จะอยู่ต่ออย่างไรฎีกากันที่ประชาชนไปเลย อย่างน้อยการคว่ำ หรือให้ผ่านในชั้นประชาชน ก็ยังชอบธรรมกว่าคว่ำใน สปช.

หากร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแท้งในชั้นทำประชามติ อันเป็นเหตุให้ คสช.ต้องอยู่ต่อเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จ ฝ่ายอำนาจยังอ้างอิงได้ว่า ประชาชนเป็นคนเลือกเองที่จะให้อยู่เพื่อร่างกติกาที่ทุกคนยอมรับ หรือหากจับผลัดจับผลู ร่างรัฐธรรมนูญดันผีจับยัดผ่านไปได้จนประกาศใช้ ก็ยังจะเอามาประทับตราได้ว่า ทุกคนเห็นพ้องให้มี “คปป.”อยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ไม่ว่าผลประชามติออกมาอย่างไรก็มีแต่กำไร ไม่มีขาดทุน

เป็นการเขียนกฎหมายชนิดที่ คสช.ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง จนมีการกระแทกแดกดันก๊วนเนติบริกรออกมาให้ได้ยินเหมือนกันว่า บรรจงร่างกฎหมายให้ คสช.ได้หัวหมอสุดๆ สมชื่อนักกฎหมายรับบริการ ที่นายจ้างต้องการแบบใด สามารถพลิกแพลงออกมาได้อย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หรือร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.

อีกสิ่งหนึ่งที่แทบจะการันตีได้ว่าการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนนี้จะผ่านฉลุยแบบไม่ต้องลุ้นให้เมื่อยตุ้ม นั่นคือ ขณะนี้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกตัวแรง เตรียมพร้อมในการจัดทำประชามติไว้แล้ว มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ กันไว้เกือบจะเสร็จสรรพ ทั้งที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แทบจะเป็นเรื่องที่ไกลออกไปเป็นปีๆ

กฎเกณฑ์พิเรนๆ เริ่มจะเห็นเค้าลาง หลังฟันธงกันเปรี้ยง ห้ามรณรงค์ให้รับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญเด็ดขาด กกต.จะเป็นคนจัดเวทีให้ดีเบตกันเท่านั้น เปิดรูหายใจให้นิดๆ คือ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องอยู่ในข่ายไม่ยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม ตั้งเวทีไฮด์ปาร์กชวนเชื่อ เมื่อเป็นเช่นนี้อาจทำให้บรรยากาศการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ น่าจะกร่อย และเงียบเหงา กระแสตื่นตัวของประชาชนน่าจะน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา คงจะมีเพียงนักการเมืองเท่านั้น ที่กระตือรือร้น

วิธีการแบบนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาในอนาคต คนจะนินทาหมาจะดูถูกได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อาจถูกค่อนแคะในภายภาคหน้าว่าเป็นผลไม้พิษจากเผด็จการเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และจะว่าไป ตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 คนยังพอมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เพราะช่วงนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โชว์แคมเปญ “รับไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง” ส่วนพรรคพลังประชาชน และมวลชนกลุ่มหนึ่ง ก็เดินสายไม่ให้ประชาชนเอารัฐธรรมนูญเผด็จการ

แม้จะทำถึงขนาดนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอยู่ดี พรรคการเมืองพยายามกระทำชำเราแก้รัฐธรรมนูญกันตลอด และที่ต้องยอมรับคือเป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งในรอบหลายปีที่ผ่านมาอันนำมาสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ยังไม่นับเมื่อปี 2540 ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความตื่นตัวกับกติกาของประเทศ มีแคมเปญธงเขียวจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุด “อานันท์ ปันยารชุน” ออกมารณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 แต่ขณะเดียวกันก็มีแคมเปญธงเหลือง นำโดย แกนนำวังน้ำเย็น “เสนาะ เทียนทอง” เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ในขณะนั้น จับมือกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ออกมาคัดค้านไม่เอารัฐธรรมนูญ แม้ตอนปี 2540 จะมีความเห็นต่างกัน แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ถูกจัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม และถูกจัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศ

ทว่า ในปัจจุบันกลับมีมาตรการไม่ให้มีการรณรงค์ ทั้งที่ช่องทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในการสร้างความรับรู้ให้กับชาวบ้านได้ จนมีการมองกันว่า ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะฝ่ายอำนาจในปัจจุบันไม่มั่นใจในจำนวนเสียงประชาชน ว่าจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และกำลังหวาดกลัวการรณรงค์ของฝ่ายต้านที่ยังเยอะกว่าหรือไม่

ทั้งที่สถานภาพในปัจจุบันรัฐถือไพ่เหนือกว่า ทั้งกลไกภาครัฐ สื่อของรัฐ การประชาสัมพันธ์ ในขณะที่พรรคการเมืองมีข้อจำกัด สื่อในมือที่ออกตัวแรงมากไม่ได้อาจถูกล่ามโซ่ แถมพล่ามมากอาจโดนเข้าค่ายทหาร แต่กลับเลือกวิธีการเสมือนหนึ่งให้ประชาชนไปศึกษาเอาเอง

รัฐเองไม่เห็นจะมีอะไรน่ากังวลด้วยซ้ำ เพราะต่อให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน สุดท้าย คสช.คือ ฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์

อย่าให้ใครมาด่าว่าปิดหูปิดตาประชาชนเลย!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น