รองนายกฯ ฝ่าย กม.โต้ไม่ใช่ข้อเสนอ ครม.ให้มี คปป. ยัน สปช.มีอิสระในการโหวต ชี้มีแต่สัญญาณปลอม รบ.ไม่เกี่ยว รับวันประชามติอาจมียืดหยุ่นบ้าง เหตุต้องแจกจ่าย รธน.ให้ครัวเรือน แจงงบพุ่ง 300 ล้าน ต้องเผื่อคำถามอื่น เชื่อห้ามรณรงค์ แต่เชิญแสดงความเห็นผ่านทีวีแทน เป็นหน้าที่ กกต. ไม่ห้ามนักการเมืองวิจารณ์ผ่านสื่อ ชี้จะเอาผิดสื่อต้องโดนด้วย ลั่นห้ามตั้งเวทีปลุกระดม ย้ำ คสช.ห้ามชุมนุม
วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกระแสข่าวกรณีที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) นั้น มาจากข้อเสนอของ ครม.ว่า ไม่เป็นความจริง เพราะในร่างรัฐธรรมนูญร่างที่ 1 นั้น รัฐบาลเสนอให้ยุบรวมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป เข้ากับคณะกรรมการดำเนินการเพื่อสร้างความปรองดอง ซึ่งมีอยู่ในร่างเดิมก็เท่านั้น แต่ไม่มีการพูดถึงการให้มีคณะกรรมการที่มีอำนาจพิเศษ รัฐบาลไม่ได้มีส่วนๆ ใดกับกรณีดังกล่าว ส่วนการที่หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อการตัดสินใจโหวดของ สปช.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และคงต้องไปถาม สปช.เอาเอง ยืนยันว่า สปช.มีอิสระในการโหวต ยิ่งเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว เพราะไม่ว่า สปช.จะรับหรือไม่รับก็จะถูกยุบทันที ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกสองจิตสองใจ
“ผมยังไม่เห็นสัญญาณอะไรจากรัฐบาลที่ส่งไปยัง สปช.เรื่องการโหวต มีแต่สัญญาณปลอมที่คนนั้นคนนี้มาพูด ผมได้ยินทั้งสองด้าน คนที่เอาด้วยกับรัฐบาลก็บอกให้รับ ถ้ารับแล้วจะได้เข้ามาเป็นนั่นเป็นนี่ กับที่ไม่รับ ทั้งหมดเป็นสัญญาณปลอมที่คนบางคนหวังอะไรแล้วเอาไปพูดและอ้าง แต่พอไล่ถามว่าใครเป็นคนให้สัญญาณก็ไม่เห็นมีใครตอบได้ ส่วนที่มีเสียงวิจารณ์หลังจากรัฐบาลระบุอาจจะอยู่ถึงปี 2560 ทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญชั่วครามกำหนด ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” นายวิษณุกล่าว
นายวิษณุกล่าวถึงการประชุมร่วมกับหน่วยงายที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการจัดทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า วันลงประชามติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยึดเอาวันที่ 10 มกราคม 2559 แต่อาจต้องมีการยืดหยุ่นไปบ้าง เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการแจกจ่ายรัฐธรรมนูญให้ได้ร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั่วประเทศแล้วจึงกำหนดวัน จึงไม่ทราบว่าจะแจงจ่ายครบประมาณ 13 ล้านเล่มได้เมื่อใด แต่หากมีความจำเป็นก็อาจจะเลื่อนไปวันที่ 17 หรือ 21 มกราคม 2559 ส่วนงบประมาณมีการขยับเพิ่มจาก 3,000 ล้านบาทเป็น 3,300 ล้านบาท เนื่องจากต้องเผื่อไว้ให้คำถามอื่นที่จะเพิ่มเข้ามา ดังนั้น จึงต้องมีหีบ 2 ใบ และบัตรลงมติ 2 ชนิด เอกสารที่จะส่งให้กับประชาชนประมาณ 13 ล้านเล่มจะประกอบด้วยเอกสาร 3 ชุด 1. รัฐธรรมนูญ 2. สรุปเนื้อหารัฐธรรมนูญที่สำคัญ 3. คำอธิบายเกี่ยวกับคำถามพ่วง คือถามอย่างไร มีความหมายว่าอย่างไร เช่น หากถามว่าต้องการให้มีรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ ต้องอธิบายว่ารัฐบาลแห่งชาติแปลว่าอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีผู้ไม่เห็นด้วยจะสามารถรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับระเบียบและวิธีการดูแลของ กกต. กกต.จะจัดสรรให้ทั้งสองฝ่ายแสดงความเห็น การรณรงค์เชื่อว่าทำไม่ได้ ทั้งรณรงค์ให้รับหรือไม่รับ แต่สุดท้ายก็จะมีวิธีปฏิบัติจนห้ามไม่ได้ อย่างรายการโทรทัศน์ที่เชิญทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาร่วม ตรงนั้นเป็นการแสดงความเห็นไม่ใช่การรณรงค์ ส่วนที่ห้ามรณรงค์นั้นเพราะคำนึงถึงการห้ามชุมนุม แต่ทั้งนี้เส้นแบ่งระหว่างการรณรงค์กับการแสดงความคิดเห็นนั้นแยกแยะลำบาก เพราะเวลาใช้คำว่ารณรงค์คนมักจะนึกถึงภาพคล้ายการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะทำแบบนั้นไม่ได้ แต่หากจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นฝ่ายสื่อ ก็จะถูกกำหนดกติกาอยู่คงไม่มีปัญหา เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะดูแลให้เกิดความเท่าเทียมสองฝ่าย
เมื่อถามว่าอย่างที่มีนักการเมืองหลายฝ่ายออกมาวิจารณ์รัฐธรรมนูญเป็นการแสดงความเห็นหรือการรณรงค์ นายวิษณุกล่าวว่า ลักษณะนี้พูดได้ ถือเป็นการให้ข่าวต่อสื่อมวลชน ถ้าจะเอาผิดต่อนักการเมืองก็ต้องเอาผิดสื่อมวลชนด้วย ดังนั้นจึงไม่ห้าม ส่วนที่วิจารณ์ว่ากรณีของรัฐธรรมนูญปี 2550 บอกให้รับไปก่อนแล้วค่อยกลับมาแก้ ครั้งนี้ก็มีสิทธิจะพูดเช่นนั้นได้ แต่ประชาชนมีสิทธิที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อ พูดได้สองอย่างว่ารับๆ ไปเถอะ วันหลังค่อยไปแก้ กับอย่าไปรับเลย วันหลังจะทำของใหม่มาให้ รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บอกว่าแก้ไขไม่ได้นั้น หากแก้ไขเป็นก็ต้องแก้ไขได้ แต่นี่แก้ไม่เป็น
เมื่อถามว่าถ้าความเห็นต่างๆของแต่ละฝ่ายเป็นการชี้นำจะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ บทลงโทษในการรณรงค์ไม่ได้มีการกำหนดโทษ เพราะตอนที่ทำกฎหมายฉบับนี้มีการคิดถึงเรื่องการทำประชามติบางอย่างที่จำเป็นต้องณรงค์ เช่น จะให้มีการสร้างเขื่อนหรือไม่
“คราวนี้จะออกมาให้รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ผมว่าทำได้ มันไม่ได้แปลกประหลาดอะไร แต่ต้องไม่ตั้งเวทีปลุกระดม ถ้าพูดผ่านสื่อทำได้ เขาจะพูดอะไรก็ได้ ไม่มีบทลงโทษ เพราะเป็นการแสดงความเห็น เราห่วงว่าถ้าให้ตั้งเวทีก็จะมีฝ่ายที่ค้าน บ้านเมืองก็จะแตกแยก ผมมองเป็นภาพ รัฐบาลมองออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงบอกว่าทำไม่ได้เพราะกฎหมายห้าม โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ที่ห้ามมีการชุมนุม” นายวิษณุกล่าว