xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ประชุมประชามติ กกต.ย้ำห้ามชี้นำ ฝากสื่อสัมภาษณ์ฝ่ายหนุน-ค้านสมดุล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ ถกฝ่ายเกี่ยวข้องประชามติ ห่วงเปิดโอกาสปลุกกระแสคว่ำร่างฯ กกต. แจง ขยับวันใช้สิทธิได้ ลั่นห้ามรณรงค์ชี้นำ ขัดคำสั่ง คสช. เล็งเสนอ กม.ลูกประชามติ ไม่มีใช้สิทธิล่วงหน้า-นอกประเทศ จัดให้ฝ่ายหนุน-ค้าน ออกสื่อเท่าเทียม ฝากสื่อหลัง 7 ก.ย.สัมภาษณ์ 2 ฝั่งให้สมดุล พร้อมเขียนระเบียบดักการใส่ร้ายโซเชียล กมธ.ยกร่างฯ เผย รธน.ผ่าน สปช.เตรียมจัดทำสาระแจก ปชช. มีอธิบายคำถามประชามติ

วันนี้ (25 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเข้าประชุม ประกอบด้วย กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายวิษณุ กล่าวก่อนเข้าประชุมว่า การทำประชามติตนมีความเป็นห่วงเรื่องการประชาสัมพันธ์ว่าจะมีการเปิดโอกาสให้กลุ่มที่เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดีจนออกมารณรงค์จะสามารถทำได้หรือไม่ จึงจะสอบถามประเด็นนี้ต่อ กกต.

ต่อมาเวลา 15.45 น. นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวภายหลังการประชุมว่า มีการพูดถึงความพร้อมในการจัดทำประชามติว่าได้เตรียมการอะไรไปถึงไหน ส่วนวันที่จะประกาศทำประชามติ จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 10 ม.ค. 59 แต่สามารถขยับได้ ขึ้นอยู่กับว่าสามารถส่งร่างรัฐธรรมนูญได้ร้อยละ 80 จากครัวเรือนทั้งหมด หรือประมาณ 13.3 ล้านครัวเรือน จากครัวเรือนทั้งหมดมี 16.58 ล้านครัวเรือนเมื่อใด เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการทำประชามติจะเกิดขึ้นหลังแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญครบตามกำหนดไปแล้วภายในระยะเวลา 30-45 วัน แต่คิดว่าไม่มีปัญหา เพราะจะทยอยส่งไป ส่วนเรื่องงบประมาณกำหนดไว้ 3,000 ล้านบาท อาจมีขยับขึ้นนิดหน่อยตามเนื้องาน แต่จะใช้งบประมาณอย่างประหยัดที่สุด ขณะที่เรื่องกระดาษและโรงพิมพ์ไม่มีปัญหา บุคลากรประจำหน่วยมีความพร้อม ส่วนเรื่องของเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยจะเป็นตำรวจ ไม่มีทหาร ขณะที่เรื่องรณรงค์ชี้นำการลงประชามติไม่สามารถทำได้ ไม่ว่าจะให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หากมีกลุ่มคนกลุ่มใดออกมารณรงค์เรื่องประชามติ จะขัดต่อประกาศ คสช.ฉบับที่ 7 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง

นายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า กกต.จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 7 ก.ย. หลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว โดยในร่างดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้มีการออกเสียงประชามติล่วงหน้าและการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักร ส่วนเรื่องบัตรออกเสียงจะมี 2 ใบ เพื่อแยกกันให้ชัดเจน ซึ่งใบหนึ่งถามว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และอีกใบเป็นคำถามพ่วงที่ สนช.และ สปช.ส่งไปให้ ครม.เลือกเพียง 1 คำถาม โดยคำตอบแต่ละใบจะยึดเสียงข้างมาก

นายประวิชกล่าวว่า สำหรับเรื่องการประชาสัมพันธ์ กกต.จะใช้ผ่านสื่อเป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาขึ้นทะเบียนว่าสนใจจะแสดงความคิดเห็นเรื่องอะไรบ้าง จากนั้นจะจัดเวทีแสดงความคิดเห็น โดยมีการบันทึกเทปและนำออกเผยแพร่ผ่านสื่อ เพื่อให้สามารถควบคุมเวลาของทั้งสองฝ่ายได้อย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ ขอความร่วมมือสื่อมวลชน หลังจากวันที่ 7 ก.ย.เป็นต้นไป ในการสัมภาษณ์ใครอยากให้มีความสมดุลระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนการให้ความเห็นในภาคประชาชนเป็นเรื่องยากมากในการควบคุม โดยเฉพาะในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ปัจจุบัน แต่การใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมและการกล่าวร้าย ถือเป็นความผิดในกฎหมายสื่อสารอยู่แล้ว และ กกต.จะนำไปเขียนไว้ในระเบียบนี้ด้วย

ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญผ่าน สปช.ในวันที่ 6 ก.ย.แล้ว ในวันที่ 7 ก.ย.จะเป็นวันแรกที่ทุกฝ่ายจะเริ่มงาน ในส่วนของ กกต.จะต้องไปหาโรงพิมพ์เพื่อจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ด้าน กมธ.ยกร่างฯ จะไปจัดทำสาระของรัฐธรรมนูญ และวันที่ 15 พ.ย. กกต.จะเริ่มแจกให้กับประชาชนผ่านทางไปรษณีย์ไทย หากสามารถแจกได้ครบร้อยละ 80 ตามที่กำหนดไว้ในการประชามติจะสามารถกำหนดวันทำประชามติได้ในวันที่ 10 ม.ค. 59 ถ้าช้าออกไปอีกจะเป็นวันที่ 17 ม.ค. 59 หรือ 24 ม.ค. 59 ทั้งนี้ ในส่วนของคำถามที่ ครม.ให้ถามเพิ่มก็จะมีคำอธิบายอยู่ในสาระของรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำ


กำลังโหลดความคิดเห็น