xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติรธน.ห้ามรณรงค์ ปิดหู ปิดตา มาอีกแล้ว!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

**ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น สำหรับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อลงมติว่า จะรับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนางงามของ “อ.ปี๊ด”บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และชาวคณะ ในวันที่ 6 กันยายนนี้
แม้จะมีการปลุกระดมและล็อบบี้ให้เพื่อนสมาชิกยกมือคว่ำทิ้ง เพราะรับไม่ได้กับเนื้อหา โดยเฉพาะการมี คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่เป็นเหมือนรัฐซ้อนรัฐ ลักษณะคล้ายโปลิตบูโร
นั่นเป็นเพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังกุมสภาพเสียงข้างมากเอาไว้ในมือ
ดูจากท่าที “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่ออกมาตะหวาดใส่นักการเมืองที่ยุแยงตะแคงรั่ว ให้สมาชิกสปช.ทำแท้งร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า ให้หุบปาก และให้ประชาชนกว่า 60 ล้านคน เป็นคนตัดสินจะดีกว่า ทุกอย่างยิ่งชัดว่า ในวันที่ 6 กันยายนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนางงาม จะได้คะแนนเสียงท่วมท้นเพื่อผ่านไปถึงการทำประชามติในปีหน้า ไม่ปล่อยให้ตายท้องกลมในชั้น สปช.แน่
**เนื่องจากหากปล่อยให้มีการคว่ำในชั้นนี้ จะดูเหมือน คสช.เป็นคนกดรีโมตให้ สปช. คว่ำ เพื่อต่ออายุตัวเองแบบจงใจ
แม้สัดส่วนทหารในสปช. จะไม่ได้เยอะเหมือนกับในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลที่ใกล้ชิดฝั่งผู้มีอำนาจ อยู่ในสภาพที่ส่งสัญญาณซ้ายหัน ขวาหัน กันได้ หากกับเทียบฝั่งที่พยายามตีปี๊บให้มีการคว่ำแล้ว น่าจะเยอะกว่ากันหลายเท่าตัว ช่วงที่ผ่านมาเหตุที่ฝั่งหนุนให้คว่ำเสียงดังกว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายที่เห็นด้วยไม่ค่อยออกมาจ้อ เงียบกันอยู่ในที่ตั้งกันเสียเยอะ และประเด็นขอให้คว่ำ มันน่าสนใจกว่าขอให้ผ่าน เลยติดลมบนอยู่หน้าสื่อหลายวัน
ปฏิกิริยาของคนในรัฐบาลเองก็ไม่เคยมีใครออกมาตำหนิติเตียน “คปป.”แถมมีส่งเสียงเชียร์ให้มีด้วยซ้ำ เพราะต้องการให้มีคณะกรรมการขึ้นมาทำงานเรื่องปฏิรูป และการสร้างความปรองดองในวันที่รัฐบาลนี้ไม่อยู่แล้ว เป็นเครื่องการรันตีว่า การรัฐประหารที่ผ่านมาจะไม่เสียของอย่างไรคงจะปล่อยให้ไปวัดใจกันที่การทำประชามติ หัวหรือก้อย จะอยู่ต่ออย่างไรฎีกากันที่ประชาชนไปเลย อย่างน้อยการคว่ำ หรือให้ผ่านในชั้นประชาชน ก็ยังชอบธรรมกว่าคว่ำใน สปช.
หากร่างรัฐธรรมนูญจะต้องแท้งในชั้นทำประชามติ อันเป็นเหตุให้ คสช.ต้องอยู่ต่อเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จ ฝ่ายอำนาจยังอ้างอิงได้ว่า ประชาชนเป็นคนเลือกเองที่จะให้อยู่เพื่อร่างกติกาที่ทุกคนยอมรับ หรือหากจับผลัดจับผลู ร่างรัฐธรรมนูญดันผีจับยัดผ่านไปได้จนประกาศใช้ ก็ยังจะเอามาประทับตราได้ว่า ทุกคนเห็นพ้องให้มี “คปป.”อยู่ในรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ไม่ว่าผลประชามติออกมาอย่างไรก็มีแต่กำไร ไม่มีขาดทุน
เป็นการเขียนกฎหมายชนิดที่ คสช.ได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง จนมีการกระแทกแดกดันก๊วนเนติบริกรออกมาให้ได้ยินเหมือนกันว่า บรรจงร่างกฎหมายให้คสช.ได้หัวหมอสุดๆ สมชื่อนักกฎหมายรับบริการ ที่นายจ้างต้องการแบบใด สามารถพลิกแพลงออกมาได้อย่างแยบยล ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ หรือร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.
อีกสิ่งหนึ่งที่แทบจะการันตีได้ว่าการโหวตร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนนี้ จะผ่านฉลุยแบบไม่ต้องลุ้นให้เมื่อยตุ้ม นั่นคือ ขณะนี้รัฐบาล และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกตัวแรง เตรียมพร้อมในการจัดทำประชามติไว้แล้ว มีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ กันไว้เกือบจะเสร็จสรรพ ทั้งที่หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ แทบจะเป็นเรื่องที่ไกลออกไปเป็นปีๆ
**กฎเกณฑ์พิเรนๆ เริ่มจะเห็นเค้าลาง หลังฟันธงกันเปรี้ยง ห้ามรณรงค์ให้รับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญเด็ดขาด กกต.จะเป็นคนจัดเวทีให้ดีเบตกันเท่านั้น เปิดรูหายใจให้นิดๆ คือ สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ต้องอยู่ในข่ายไม่ยุยง ปลุกปั่น ปลุกระดม ตั้งเวทีไฮปาร์กชวนเชื่อ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้อาจทำให้บรรยากาศการออกเสียงประชามติในครั้งนี้ น่าจะกร่อย และเงียบเหงา กระแสตื่นตัวของประชาชนน่าจะน้อยกว่าครั้งที่ผ่านมา คงจะมีเพียงนักการเมืองเท่านั้น ที่กระตือรือร้น
วิธีการแบบนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาในอนาคต คนจะนินทา หมาจะดูถูกได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง อาจถูกค่อนแคะในภายภาคหน้าว่า เป็นผลไม้พิษจากเผด็จการเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2550 และจะว่าไป ตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 คนยังพอมีส่วนร่วมมากกว่านี้ เพราะช่วงนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ โชว์แคมเปญ “รับไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง” ส่วนพรรคพลังประชาชน และมวลชนกลุ่มหนึ่ง ก็เดินสายไม่ให้ประชาชนเอารัฐธรรมนูญเผด็จการ
ซึ่งแม้จะทำถึงขนาดนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายอยู่ดี พรรคการเมืองพยายามกระทำชำเรา แก้รัฐธรรมนูญกันตลอด และที่ต้องยอมรับคือ เป็นสาเหตุหนึ่งของความขัดแย้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา อันนำมาสู่การรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ยังไม่นับเมื่อปี 2540 ที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความตื่นตัวกับกติกาของประเทศ มีแคมเปญธงเขียวจากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุด “อานันท์ ปันยารชุน”ออกมารณรงค์ให้ประชาชนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 แต่ขณะเดียวกันก็มีแคมเปญธงเหลือง นำโดย แกนนำวังน้ำเย็น “เสนาะ เทียนทอง”เลขาธิการพรรคความหวังใหม่ในขณะนั้น จับมือกับกำนัน–ผู้ใหญ่บ้าน ออกมาคัดค้านไม่เอารัฐธรรมนูญ แม้ตอนปี 2540 จะมีความเห็นต่างกัน แต่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ถูกจัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วม และถูกจัดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศ
ทว่าในปัจจุบันกลับมีมาตรการไม่ให้มีการรณรงค์ ทั้งที่ช่องทางดังกล่าวเป็นหนึ่งในการสร้างความรับรู้ให้กับชาวบ้านได้ จนมีการมองกันว่า ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะฝ่ายอำนาจในปัจจุบันไม่มั่นใจในจำนวนเสียงประชาชน ว่าจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ และกำลังหวาดกลัวการรณรงค์ของฝ่ายต้านที่ยังเยอะกว่าหรือไม่
ทั้งที่สถานภาพในปัจจุบันรัฐถือไพ่เหนือกว่า ทั้งกลไกภาครัฐ สื่อของรัฐ การประชาสัมพันธ์ ในขณะที่พรรคการเมืองมีข้อจำกัด สื่อในมือที่ออกตัวแรงมากไม่ได้อาจถูกล่ามโซ่ แถมพล่ามมากอาจโดนเข้าค่ายทหาร แต่กลับเลือกวิธีการเสมือนหนึ่งให้ประชาชนไปศึกษาเอาเอง
รัฐเองไม่เห็นจะมีอะไรน่ากังวลด้วยซ้ำ เพราะต่อให้รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน สุดท้ายคสช.คือ ฝ่ายที่ได้ผลประโยชน์
**อย่าให้ใครมาด่าว่า ปิดหู ปิดตา ประชาชนเลย !!!
กำลังโหลดความคิดเห็น