xs
xsm
sm
md
lg

“มีชัย” งงโชว์ชื่อว่าที่นายกฯ วิตถารตรงไหน ยันผู้สมัครตายลบล้างคะแนนไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญงง ให้เสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ วิตถารตรงไหน ชี้ชาวบ้านจะได้รู้ใครจะเป็นผู้นำ ยันเป็นการตัดสินใจของพรรค ยังไม่กำหนดให้เป็นสมาชิกหรือไม่ แต่ไม่ให้ชื่อซ้ำกัน นึกไม่ออกขัดต่อเจตนารมย์ประชาชนตรงไหน ถามของเดิมชงใครก็ไม่รู้จะตรงกับเจตนารมย์ยังไง เชื่อฮั้วยาก แต่รับป้องกันจับมือเป็นพันธมิตรยังไม่ได้ แย้มใช้ระบบ ส.ส.25 คน ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี พรรคเล็กก็สามารถเป็นนายกฯ ได้ ระบุถึงผู้สมัครตายก็ไม่สามารถลบล้างคะแนนได้ เล็งปรับระบบถอดถอน รมต.ควบ ส.ส.เขตได้


วันนี้ (13 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงเสียงวิจารณ์เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งที่ให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 5 คนว่า เท่าที่สรุปมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยจากเหตุผล 5 ประเด็น คือ 1. วิตถาร 2. เปิดช่องคนนอก 3. ขัดเจตนารมณ์ประชาชน 4. ไม่ยึดโยงกับประชาชน 5. ก้าวก่ายการตัดสินใจของพรรค ตนได้พิจารณาทั้งหมดแล้วก็ยังมองไม่เห็นเหตุผลที่แท้จริงและเป็นเรื่องที่เข้าใจยากตั้งแต่เรื่องวิตถาร ก็ไม่ทราบว่าวิตถารตรงไหน เพราะประชาชนได้ทราบล่วงหน้าว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนกรณีที่อ้างว่าเป็นการเปิดช่องให้คนนอกนั้น นายมีชัยกล่าวว่า การเสนอชื่อคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองกำหนด ไม่ใช่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนด จึงไม่ถือว่าเป็นการเปิดช่องเพราะเป็นการตัดสินใจของพรรคการเมืองนั้นๆ ส่วนคนที่ถูกเสนอชื่อต้องเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่นั้น ยังไม่มีการกำหนดที่ชัดเจน แต่ให้เป็นมติพรรคและต้องได้รับความยินยอมจากที่ถูกเสนอชื่อไปยื่นต่อ กกต.เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแอบอ้างชื่อด้วย

“ระบบนี้เริ่มต้นจากพรรคการเมืองกำหนดชื่อ ประชาชนเป็นคนเลือก หลังเลือกตั้งก็ผ่านมติของสภา ถ้าไม่ชอบคนนอกมีเหตุอะไรจะเสนอชื่อคนนอก ผมไม่เข้าใจ อีกทั้งตอนสมัครยังไม่มีใครเป็น ส.ส.เลย ถ้าใช้ระบบรัฐสภาแล้วไว้ใจ ส.ส.ในสภาไม่ได้จะพึ่งใครได้ระบบนี้จะไปได้อย่างไร” นายมีชัยกล่าว

สำหรับกรณีที่ระบุว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของประชาชนนั้น ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า นึกไม่ออกว่าขัดเจตนารมณ์ประชาชนอย่างไร เพราะเป็นการเสนอชื่อให้ประชาชนเห็นก่อนลงคะแนนเลือกตั้ง ถ้าระบบเดิมที่พรรคเสนอใครก็ไม่รู้ที่อยู่ในสภาจะตรงกับเจตนารมณ์ประชาชนอย่างไร นอกจากนี้ คิดว่าวิธีนี้ยึดโยงประชาชนมากที่สุดเพราะประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งพรรคการเมืองจะเสนอคนเดียวหรือเสนอ 5 คนก็ได้ ส่วนที่บอกว่าก้าวก่ายการตัดสินใจของพรรคนั้นตนไม่เข้าใจเพราะพรรคเป็นผู้มีมติไม่มีการบังคับให้เสนอใครจะเรียกว่าก้าวก่ายได้อย่างไร แต่ถ้าหมายความว่ากำหนดกรอบไม่ให้พรรคหยิบคนที่ประชาชนไม่รู้มาก่อนอาจจะใช่ แต่นี่ประชาชนจะรู้ล่วงหน้าก่อน พรรคเป็นผู้ตัดสินใจเอง ดังนั้นเหตุผลที่คัดค้านจึงยังไม่เห็นว่าแนวทางของกรรมการไม่ดีอย่างไร

เมื่อถามว่า ระบบที่เปิดช่องเสนอ 5 รายชื่อ ถ้าเอาคนมีชื่อเสียงดีเด่นดังดึงคะแนนเสียงแต่พรรคมีคนในใจอยู่แล้วจะเป็นผลเสียหรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่า ที่คิดว่าเอาดารามาแล้วได้คะแนนไม่แน่เสมอไป เพราะเขารู้จะเลือกคนไปเล่นหนังหรือบริหารบ้านเมือง อาจจะฉุดคะแนนตกก็ได้ พรรคต้องมีวิจารณญาณในการตัดสินใจ ส่วนการเสนอรายชื่อจะเป็นการเรียงลำดับหรือไม่ ยังไม่ตัดสินใจ ดีที่จะรู้ว่าใครจะมาอันดับ 1, 2 แต่กรณีพรรคร่วมกันจะรวมกันไม่ได้คนลำดับที่หนึ่งกับที่สองจะรับกันไม่ได้อย่างไรก็ตามในการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้นจะไม่ให้เสนอซ้ำกัน

นายมีชัยยังแสดงความมั่นใจว่า ระบบเลือกตั้งที่ออกแบบมานี้จะทำให้เกิดการฮั้วเรื่องคะแนนเสียงยากขึ้น แต่ยอมรับว่าไม่สามารถป้องกันการจับมือกันเป็นรัฐบาลล่วงหน้า เพราะระบบเดิมที่ผ่านมาก็มีลักษณะที่เรียกว่าเป็นพันธมิตรกัน ซึ่งเป็นไปตามกลไกทางการเมืองที่แต่ละพรรคจะตกลงกัน พร้อมกับยืนยันว่าจะไม่เกิดปัญหาว่ามีการใช้อำนาจทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล เพราะมีเกราะป้องกันเป็นชั้นๆ ไม่สามารถทำอะไรอย่างที่กังวลได้ เนื่องจากประชาชนจะรู้ล่วงหน้าก่อนลงคะแนน อย่างไรก็ตามจะมีการกำหนดสัดส่วน ส.ส.ของพรรคการเมืองที่ผู้ถูกเสนอชื่อมีสิทธิได้เป็นรัฐมนตรีไว้เบื้องต้นที่ร้อยละ 5 คือ อย่างน้อยต้องมี ส.ส.25 คน ดังนั้นพรรคเล็กก็มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคการเมืองใหญ่เท่านั้น

ส่วนกรณีที่เกิดปัญหาผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมีอันเป็นไปหลังการเลือกตั้งนั้น นายมีชัยกล่าวว่า จะไม่มีผลต่อคะแนนที่นำมานับในระบบบัญชีรายชื่อเพียงแต่ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในส่วนของ ส.ส.ระบบเขต จึงไม่คิดว่าระบบนี้จะเปิดช่องทำให้เกิดความรุนแรงกับผู้สมัครเพื่อลบล้างคะแนนเสียงประชาชนที่เลือกไปแล้ว

นายมีชัยเปิดเผยด้วยว่า มีการพิจารณาเกี่ยวกระบวนการถอดถอนของวุฒิสภา เพราะที่ผ่านมาทำได้ยาก และทำให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปครอบงำวุฒิสภาจนเสียหายต่อสถานภาพความเป็นกลางของวุฒิสภา จึงมองหาว่าการถอดถอนในกรณีที่ ป.ป.ช.พบว่ามีความผิดจะทำอย่างไรให้คนที่กระทำผิดนั้นพ้นจากตำแหน่ง กรณีนี้ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา โดยระบบที่จะออกแบบใหม่นี้อาจไม่เรียกว่าการถอดถอนก็ได้ แต่เรียกว่าพ้นจากตำแหน่งที่กระทำความผิด โดยกำลังพิจารณาว่าจะให้ไปจบที่การตัดสินของศาลหรือไม่

ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวด้วยว่า ระบบบริหารกับนิติบัญญัติที่วางไว้ในขณะนี้ คนเป็นรัฐมนตรีไม่ต้องออกจากการเป็น ส.ส.เพราะถ้าเป็น ส.ส.เขตจะกระทบเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ไม่เป็นธรรม กำลังมองให้เกิดความเป็นธรรมทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนที่มา ส.ว.ยังไม่ตกผลึกว่าควรจะกำหนดแบบใด แต่เห็นว่าต้องไม่ถูกพรรคการเมืองครอบงำ ขณะเดียวกันก็มีส่วนยึดโยงกับประชาชนด้วย และเห็นว่ายังจำเป็นต้องมี ส.ว.ไว้กลั่นกรองกฎหมาย

ส่วนกรณีขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ทับซ้อนกันระหว่างองค์กรอิสระ เช่น กรณี ป.ป.ช.ตัดสินเรื่องข้าราชการทำผิดวินัยร้ายแรงแล้วมีการไปร้องศาลปกครองทำให้มีการเพิกถอนมติ ป.ป.ช.นั้น นายมีชัยกล่าวว่า ยังไม่ได้มีการพิจารณาประเด็นนี้ แต่ถ้าเห็นว่าเป็นปัญหาก็จะเข้าไปดูในรายละเอียด เพราะกฎหมายก็ต้องมีความศักดิ์สิทธิ์ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดช่องเพื่อให้ความเป็นธรรมหลัง ป.ป.ช.ตัดสินได้ด้วยเช่นเดียวกัน โดยจะศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้หรือไม่













กำลังโหลดความคิดเห็น