“เพื่อไทย” เสนอ 10 ชุด รธน. ชง กรธ. ชุด มีชัย ขอกลไกควบคุมอำนาจ “ศาล รธน.- องค์กรอิสระ” เนื้อหาไม่เอื้อประโยชน์บุคคล - กลุ่มเป็นการเฉพาะ ปฏิเสธ “รัฐบาลผสม” ไม่มีวาระซ่อนเร้นสืบทอดอำนาจ ย้ำ นายกรัฐมนตรีต้องมาจากกระบวนการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่สร้างข้อจำกัดปิดกั้นผู้ใดสมัครรับเลือกตั้งที่ไร้เหตุผล ไม่สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่ พร้อมให้สามารถแก้ไข รธน. ได้ใหม่ บนพื้นฐานที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ อย่ากำหนดให้การแก้ไขรธน.ทำได้ยากจนเกินไป
วันนี้ (14 ต.ค.) มีรายงานว่า เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย ได้เผยแพร่ แถลงการณ์แสดงจุดยืน และข้อเสนอต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มีใจความว่า ตามที่จะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งในช่วงต่อจากนี้ พรรคเพื่อไทยจึงได้รวบรวมข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของสมาชิกพรรค และผู้สนับสนุนพรรค ที่มีต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อเสนอเป็นถ้อยแถลงแสดงจุดยืน และเป็นข้อเสนอของพรรคต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน กรธ. ดังนี้
1. การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ควรมีปรัชญาและเป้าหมายที่ชัดเจน ให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยั่งยืน
2. เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 แล้ว ประกอบกับระยะเวลาตามโรดแมป ก็ขยายออกไปเรื่อย ๆ ขณะที่ประชาคมโลกได้แสดงความกังวลและกดดันมาโดยตลอด รวมทั้งกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญเลย ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชน โดยเฉพาะในทางเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ จึงขอเรียกร้องให้ กรธ. เร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
3. เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำเสร็จแล้ว ไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ดังนั้น กรธ. จึงควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตั้งแต่เริ่มต้นยกร่าง และควรดำเนินการอย่างกว้างขวางทั่วถึง และที่สำคัญ ไม่ควรปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์ใด ๆ ที่เกี่ยวกับเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ
4. โครงสร้างของรัฐธรรมนูญไม่ควรให้ใหญ่โตเทอะทะ จำนวนหมวดและจำนวนมาตราก็ไม่ควรมีมากนัก ถ้อยคำและข้อความในเนื้อหาควรกระชับเข้าใจง่าย และไม่เป็นนามธรรม เพราะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่การเขียนรายงาน หรืองานวิจัยทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ควรเขียนให้กระชับ เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ต้องตีความอีก
5. เงื่อนไขในการร่างรัฐธรรมนูญ หรือกรอบที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ซึ่งมีอยู่ 10 ประการ (บัญญัติสิบประการ) ถือเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง ในการร่างรัฐธรรมนูญให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่เป็นการส่งเสริมเสถียรภาพทางการเมืองอย่างยั่งยืน และที่สำคัญ ทำให้ กรธ. ขาดอิสระในการร่าง กรธ. จึงควรตั้งหลักให้ได้ว่า ข้อจำกัดดังกล่าวมิได้มาจากความเห็นชอบของประชาชนเป็นกรอบกว้าง ๆ ที่เป็นนามธรรม การตีความให้เป็นคุณ ยึดหลักนิติธรรมและหลักการประชาธิปไตย จึงเป็นเรื่องที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
6. การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในประเด็นการออกเสียงประชามติ ตามมาตรา 37 นั้น ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือฉบับปี 2550 มาใช้บังคับเป็นการชั่วคราว และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 120 วัน ทั้งนี้ โดยต้องระบุในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาทำการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรต่อไป
7. พรรคเพื่อไทย ขอยืนยันข้อคิดเห็นและข้อเสนอของพรรค ที่เคยเสนอต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 58
ซึ่งสรุปสาระสำคัญโดยย่อ ดังต่อไปนี้
(1) ต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
(2) วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถปฏิบัติหน้าที่เพื่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล
(3) สร้างดุลและระบบตรวจสอบที่เหมาะสมต่อทุกองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย โดยประชาชนมีส่วนร่วม
(4) ไม่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ วางกลไกการบริหารจัดการประเทศ ที่รังแต่จะนำไปสู่ความล้มเหลวและความขัดแย้ง ไม่สามารถแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้
(5) มุ่งสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม สร้างโอกาสให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่สร้างเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งขึ้นใหม่
(6) ต้องไม่มีวาระซ่อนเร้น เพื่อมุ่งสืบทอดอำนาจของบุคคลใดหรือกลุ่มบุคคลใด
(7) ต้องกำหนดให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง และผู้นำฝ่ายบริหารต้องมาจากตัวแทนที่ประชาชนเลือกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งที่สังคมไทยคุ้นเคย เข้าใจดีและไม่มีปัญหา มีแต่จะยิ่งสร้างความยุ่งยาก มีปัญหา และไร้ประสิทธิภาพ
(8) รัฐธรรมนูญต้องเปิดโอกาสให้บุคคลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวาง ไม่สร้างข้อจำกัดที่ไร้เหตุผล ข้อจำกัดอันเกิดจากกลไกที่ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพียงเพื่อต้องการกำจัดพรรคการเมืองบางพรรคและนักการเมืองบางฝ่าย
(9) ต้องมีระบบกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างถูกต้องและชอบธรรม
(10) รัฐธรรมนูญต้องอยู่บนพื้นฐานที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ ไม่ควรกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากจนเกินไป
ด้าน นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุถึงเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเรื่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ กับให้มี ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดนั้น เรื่องนี้ทางพรรคเพื่อไทยได้มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจอธิปไตยจะต้องเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้น โดยหลักการแล้ว นายกฯ จะต้องมาจากการเลือกตั้ง
ส่วนเรื่องการสรรหา ส.ว. ก็ต้องยึดโยงกับประชาชนเช่นกัน เพราะปัจจุบันนี้โลกประชาธิปไตยได้พัฒนาไปไกลมาก เราจะอยู่บนโลกคนเดียวไม่ได้ ที่ผ่านมา เราผ่านการต่อสู้ทางความคิดในเรื่องเหล่านี้มามาก จนทราบดีว่าควรทำอย่างไร หากทำอย่างที่นายมีชัยระบุ ก็เป็นการถอยหลังเข้าคลอง