xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่างกติกาประชามติร่าง รธน. ห้าม กมธ.ยกร่างฯ ชี้นำ เปิดเวทีให้ทุกฝ่ายแสดงความเห็น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศุภชัย สมเจริญ (แฟ้มภาพ)
เผยร่างประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาในการออกประชามติ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ห้าม กมธ.ยกร่างฯ ชี้นำประชาชน สั่ง กกต.เปิดเวทีให้ฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านเท่ากัน

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยสำนักงาน กกต.ได้จัดร่างประกาศคณะกรรมการ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่งเตรียมดำเนินการส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 ภายหลังสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยในร่างประกาศฉบับดังกล่าวมีจำนวน 55 ข้อ มีสาระสำคัญดังนี้

ร่างประกาศในข้อ 6 กำหนดให้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก่ กกต. และให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญว่ามีสาระสำคัญอย่างไรให้แก่ กกต.ในกรณีที่มีประเด็นในการจัดทำประชามติเพิ่มเติม ให้ ครม.ส่งประเด็นและสรุปสาระสำคัญของประเด็นดังกล่าวให้แก่ กกต.ในคราวเดียวกันเพื่อดำเนินการจัดพิมพ์พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ ข้อมูลสาระสำคัญที่จัดทำเผยแพร่ต้องไม่มีลักษณะเป็นการชี้นำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ

ข้อ 8 ให้ กกต.จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียมกันทั้งบุคคลฝ่ายที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องที่จัดทำประชามติ ทั้งนี้ รูปแบบ แนวทาง ให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด

ข้อ 10 เพื่อให้การดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้ กกต.มีอำนาจออกคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นตามประกาศนี้

ข้อ 11 การจัดทำประชามติ ให้ กกต.กำหนดวันออกเสียงโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งวันออกเสียงต้องไม่เร็วกว่า 30 วันและไม่ช้ากว่า 45 วันนับแต่วันที่ กกต.ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน และการออกเสียงจะต้องกระทำภายในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร

ข้อ 12 การออกเสียง ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงกระทำโดยตรงและลับด้วยวิธีการกากบาท (X) ใบบัตรออกเสียงหรือใช้เครื่องลงคะแนน

ข้อ 22 บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิออกเสียง

(1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 ม.ค.ของปีที่มีการออกเสียง

(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันออกเสียง

ข้อ 23 บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันออกเสียง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง

(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย

(4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

ข้อ 32 ในวันออกเสียงให้เปิดการลงคะแนนออกเสียงตั้งแต่เวลา 08.00 น.ถึงเวลา 16.00 น.

ข้อ 37 ในกรณีที่การลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงแห่งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันออกเสียงให้กกต.ประจำจังหวัดกำหนดที่ออกเสียงใหม่ที่ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถไปลงคะแนนออกเสียงได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่ออกเสียงใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นแล้วรายงานต่อ กกต.โดยด่วน ในกรณีที่มีเหตุเกิดขึ้นในวันออกเสียง ให้กกต.ประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงประกาศงดลงคะแนนออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นแล้วรายงานต่อ กกต.

ข้อ 50 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการออกเสียง หากผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในหน่วยออกเสียงใด เห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านพร้อมทั้งแสดงหลักฐานต่อ กกต.หรือผู้ที่ กกต.มอบหมาย ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่การลงคะแนนออกเสียงสิ้นสุดลง

ข้อ 51 เมื่อ กกต.ได้รับคำร้องคัดค้านแล้ว ให้ดำเนินการไต่สวนและแสวงหาหลักฐานทั้งปวงเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงโดยพลัน ถ้าเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีคำสั่งให้ดำเนินการออกเสียงใหม่ในหน่วยออกเสียงนั้น ทั้งนี้ ต้องไม่ช้ากว่า 30 วันนับแต่วันออกเสียง เว้นแต่การออกเสียงใหม่จะไม่ทำให้ผลการออกเสียงเปลี่ยนแปลงไปให้ กกต.มีคำสังยกคำร้องคัดค้านนั้นเสีย

ข้อ 54 ให้นำความในหมวด 10 ความผิดและบทกำหนดโทษแห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการทำประชามติ พ.ศ. 2552 มาใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 บัญญัติไว้

นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) กล่าวว่า วิป สนช.ยังไม่ได้มีการหารือกันว่า สนช.จะพิจารณาให้ความเห็นชอบกับร่างประกาศดังกล่าวเมื่อไหร่ แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการโดยไม่ล่าช้าภายหลัง สปช.ลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ทางวิป สนช.ต้องหารือกันก่อนว่า สนช.จะมีอำนาจแก้ไขถ้อยคำในร่างประกาศเกี่ยวกับการทำประชามติได้หรือไม่ แต่หากในทางปฏิบัติมีสมาชิก สนช.เห็นว่ามีบางถ้อยคำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็อาจขอให้ กกต.นำกลับไปแก้ไขและส่งมาให้ สนช.พิจารณาอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น