xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รัฐบาลคสช.เดิมพันหมดหน้าตัก ร่างรธน. ต้องผ่านประชามติ !!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขณะนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 กำลังอยู่ในช่วงที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำการพิจารณาปรับปรุง ร่างแรก หลังจากได้รับฟังขอเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ เพื่อออกมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง ที่จะได้เห็นกันในวันที่ 29 มี.ค.นี้ หลังจากนั้น ก็จะทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธุ์ ก่อนที่จะเปิดลงประชามติ ในวันที่ 31 ก.ค.59

ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ในเชิงไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญร่างแรก และได้เสนอแนะเข้ามาให้ กรธ.ทำการแก้ไขปรับปรุง ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นประเด็นเดิมๆ ที่มีการนำเสนอผ่านสื่อไปก่อนหน้านั้นแล้ว อาทิ กระบวนการเลือกตั้งส.ส.ที่ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ที่มาส.ว.จากเลือกไขว้ของกลุ่มสาขาอาชีพ การเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีจากคนนอก และให้พรรคการเมืองระบุชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ 3 ชื่อ ต่อกกต. ก่อนที่จะมีการหาเสียงเลือกตั้ง การเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อการเมืองถึงวิกฤติทางตัน เรื่องสิทธิ เสรีภาพของประชาชนและสิทธิชุมชน ที่ไม่ได้มีการระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ได้ชี้แจงหักล้างมาอย่างต่อเนื่องว่า ได้พิจารณาดีแล้วก่อนที่จะสรุปออกมาเช่นนั้น เพราะต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตอบโจทย์การแก้ไขวิกฤติต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น และที่เป็นวงจรอุบาทว์ในอดีต โดยเฉพาะมาตรการป้องกันและลงโทษผู้ที่ทุจริต คอร์รัปชัน จะมีความเข้มข้นขึ้นมาก แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูตายในการแก้ไข ปรับปรุง เสียทีเดียว หากข้อเสนอนั้น จะทำให้ ร่างรัฐธรรมนูญ สมบูรณ์มากขึ้น แต่จะไม่ปรับแก้จนเสียหลักการ และเนื้อหาเดิม เพราะมีเวลาจำกัดมาก

“กรธ. ยึดเนื้อหาเป็นหลัก ถ้าไม่ถึงกับต้องทำร่างใหม่ ก็แก้ให้ได้ แต่ข้อเสนอใดที่เสนอแล้วทำให้ถึงกับต้องร่างใหม่ เหมือนฆ่าตัวตาย กรธ. คงไม่ทำ เนื่องจากเวลาไม่พอ เท่าที่ดูภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เป็นห่วงเรื่องสิทธิ เสรีภาพมาก ก็อยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงได้”

ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับจริงที่จะได้เห็นกันในวันที่ 29 มี.ค.นี้ จึงไม่น่าจะต่างไปจากร่างแรกมากนัก ที่คาดหมายว่าจะมีเพิ่มเติมเข้ามาก็คือ เรื่องเกี่ยวกับ สิทธิ เสรีภาพ และสิทธิชุมชน และนำเรื่องการปฏิรูปในด้านต่างๆ มารวมไว้เป็นอีกหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่เคยคิดจะเอาไปไว้ในบทเฉพาะกาล

จุดที่จะเป็นการชี้ขาดว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 จะได้ประกาศใช้หรือไม่ จึงอยู่ที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ร่างสุดท้ายนี้จะผ่านการทำประชามติหรือไม่

แน่นอนว่า ในซีกของรัฐบาล และคสช. จะต้องพยายามผลักดันเต็มที่ให้ ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปให้ได้ เพื่อให้โรดแมปที่ได้วางไว้ เดินหน้าไปด้วยความราบรื่น คือ จะต้องมีการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 60

แม้จะมีการแย้มออกมาว่า หากร่าง รัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็มีแผนสองไว้รองรับ คือ จะเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยนี้ มาปรับปรุง แล้วประกาศใช้เลย โดยไม่ต้องมีการทำประชามติกันอีก เพื่อไม่ให้ไทม์ไลน์ตามโรดแมป คลาดเคลื่อนไปจากเดิมมากนัก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องทำทุกวีถีทาง ผ่านกลไกทุกอย่างที่มี เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติให้ได้ ซึ่งในเบื้องต้นก็ให้ประชาสัมพันธ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ ในรายการ “แกะกล่องรัฐธรรมนูญใหม่” เป็นประจำทุกวัน ให้ทหารออกปฏิบัติการจิตวิทยา ลงพื้นที่ ชี้แจงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ เกณฑ์นักศึกษาวิชาทหาร ในนาม “รด.จิตอาสา” ช่วยชี้แจงกับคนในครอบครัว คนใกล้ชิด และเมื่อถึงวันลงประชามติ ก็จัดให้ไปประจำหน่วยลงคะแนน เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ แม้จะบอกว่าไม่ใช่การชี้นำให้รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่พฤติการณ์ที่ปรากฏออกมา ก็คงตีความเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

ในส่วนของพรรคการเมือง ก็ยังคงปิดประตูตาย ห้ามไม่ให้มีการประชุมพรรค หรือจัดเวทีดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อป้องกันการปลุกระดม คว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ กกต.ไปทำการพิจารณา ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ที่มีโทษค่อนข้างรุนแรง มีทั้งโทษปรับ และโทษจำคุก สำหรับผู้ที่ขัดขวาง ปั่นป่วน สร้างความวุ่นวายในการทำประชามติ

เบื้องต้น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ กกต. ยกร่างเสร็จแล้วนั้น มีการกำหนดลักษณะความผิดที่สำคัญๆ ดังนี้

รณีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงประชามติ ตั้งแต่ กกต.จนถึงผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ช่วยเหลือในการปฏิบัติงานออกเสียงฯ จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ทุจริตต่อหน้าที่ ขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฎหมาย ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปในทางทำให้การออกเสียงไม่สุจริต เที่ยงธรรม มีโทษปรับตั้งแต่ สองหมื่นบาท-สองแสนบาท จำคุก1-10 ปี และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี แต่ถ้าปฏิบัติโดยสุจริต ก็ได้รับการคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง และอาญา

ผู้ใดขัดขวางเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานออกเสียงทุกระดับ มิให้ปฏิบัติตามประกาศ กกต. มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการขัดขวางเป็นการขู่เข็ญ ใช้กำลัง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้บังคับบัญชา นายจ้าง ถ้าขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ความสะดวกพอสมควรต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือ ลูกจ้าง ก็ต้องรับโทษในอัตราเดียวกัน

ส่วนผู้ทำลายบัตรที่มีไว้เพื่อการออกเสียงโดยไม่มีอำนาจ หรือทำให้ชำรุด เสียหาย ทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หากผู้กระทำเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการอออกเสียง มีโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่น ถึงสองแสนบาท

สำหรับระหว่างเปิดการลงคะแนนออกเสียง ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิออกเสียงในหน่วยนั้น ผู้ที่ใช้ นำบัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรออกเสียง หรือนำบัตรออกเสียงฯ ออกจากที่ออกเสียง ทำเครื่องหมายใดไว้ที่บัตรออกเสียง เพื่อให้ผู้อื่นรู้ว่า เป็นบัตรออกเสียงฯของตน ใช้อุปกรณ์ใดบันทึกภาพบัตรออกเสียงฯ ที่ตนลงคะแนนออกเสียงแล้ว ขัดคำสั่งกรรมการประจำหน่วย ที่สั่งให้ออกไปจากที่ออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาท ถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำและปรับ

หากนำบัตรออกเสียงใส่หีบบัตรโดยไม่มีอำนาจ กระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียงเพื่อแสดงว่า มีผู้มาแสดงตนออกเสียงผิดไปจากความจริง กระทำการให้บัตรออกเสียงเพิ่มขึ้นจากความเป็นจริง ขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปยังที่ออกเสียง ก่อความวุ่นวายในที่ออกเสียง กระทำการรบกวน หรือเป็นอุปสรรคแก่การออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ส่วนผู้ใดก่อความวุ่นวาย ไม่ให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ จัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียง ไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ให้ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำให้สำคัญผิดในวันเวลาที่ออกเสียง วิธีการลงคะแนนออกเสียง เปิดทำลาย ทำให้เสียหาย ทำให้เปลี่ยนสภาพ ทำให้สูญหาย ไร้ประโยชน์ นำไป หรือขัดขวางส่งหีบบัตรออกเสียง บัตรออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท

หากเล่น จัดให้มีการพนัน อันมีผลจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง เรียก หรือ รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนและผู้อื่น เพื่อไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับ ตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

นอกจากนี้ กำหนดห้ามขาย จำหน่าย จ่ายแจก จัดเลี้ยงสุราทุกชนิด ในเขตออกเสียงระหว่างเวลา 18.00 น. ของวันก่อนออกเสียง จนสิ้นสุดวันออกเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ห้ามผู้ใดจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิไปหรือกลับจากที่ออกเสียงโดยไม่เสียค่าโดยสาร ค่าจ้างตามปกติ รวมถ้าจูงใจ ควบคุมให้ผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ห้ามเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียง 7วัน ก่อนการออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีกรรมการประจำหน่วยออกเสียง ถ้าจงใจนับบัตรออกเสียง คะแนนออกเสียง อ่านบัตรเสียง รวมคะแนนออกเสียง ผิดไปจากความจริง หรือทำให้บัตรออกเสียง ชำรุด เสียหาย และทำรายงานการออกเสียงไม่ตรงกับความจริง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่สองหมื่น ถึงสองแสนบาท

ที่สำคัญ ยังมีการกำหนด แก่ผู้ที่เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ หรือ ลักษณะอื่นใดโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ที่กระทำผิดทั้งก่อความวุ่นวายฯ ให้ สัญญาว่าจะให้ หลอกลวง บังคับขู่เข็ญ จนทำให้ต้องมีการออกเสียงประชามติใหม่ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการออกเสียงประชามติใหม่ด้วย

ในกรณีที่มีการบิดเบือนผ่านโซเชียลมีเดีย ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ด้วย

มาตรการต่างๆที่กำหนดขึ้นมานี้ จะยิ่งเห็นความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อใกล้ถึงวันลงประชามติ เพราะรัฐบาลย่อมรู้แก่ใจว่า ไม่เป็นผลดีแน่ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แล้วทำให้โรดแมปต้องสะดุด

ที่สำคัญ เรื่องจะลุกลามกระทบไปถึงรัฐบาล และ คสช.ด้วย จะมีคำถามตามมาทันทีถึงความชอบธรรมที่รัฐบาลจะอยู่ต่อไป เพราะร่างรัฐธรรมนูญนี้ ร่างขึ้นตามกรอบรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่รัฐบาล และคสช.เป็นคนกำกับ ดังนั้นรัฐบาลและ คสช.ต้องทุ่มหมดหน้าตัก เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติให้ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น