xs
xsm
sm
md
lg

กกต.3 จังหวัดใต้ห่วง “มาลา ปาตานี” ป่วนช่วงลงประชามติร่าง รธน. หากรัฐไม่ตอบรับข้อเสนอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประทีป  วุฒิรัตนโกวิท (แฟ้มภาพ)
“ประทีป” ห่วงรัฐบาลเจรจา “มาลา ปาตานี” แล้วไม่ได้รับการตอบสนองตามคำขอจากรัฐบาล อาจก่อเหตุสร้างปัญหาในการลงประชามติ ขณะเดียวกัน กกต.3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังกังวลการเผยแพร่เนื้อหาร่าง รธน.ไม่เต็มที่ ชาวบ้านอาจโหวตตามคำชี้นำของ 2 พรรคใหญ่ที่ค้านร่าง รธน. เสนอให้ชี้แจงลงไปให้ถึงระดับหมู่บ้าน พร้อมจัดทำเป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษา

นายประทีป วุฒิรัตนโกวิท ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่มีการลงคะแนนระดับชาติ ไม่ว่า ส.ส., ส.ว. หรือลงประชามติ จะมีสิ่งที่คาดไม่ถึงหากไม่มีสถานการณ์กระตุ้นก็จะเงียบ แต่ถ้ามีสถานการณ์เป็นตัวแปรก็จะเกี่ยวเนื่องมาถึงการจัดการลงคะแนนด้วย

“ช่วงนี้ก็น่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง จะบอกว่าตอนจัดการลงประชามติจะไม่มีอะไรเลยคงบอกไม่ได้ เพราะช่วงนี้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายปฏิบัติการเก่า (มาลาปาตานี) กับทางรัฐ ไม่รู้ว่าหลังจากที่เขาเปิดตัวแสดงความในใจมาแล้ว ทางรัฐบาลไทยมีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไร ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีก็อาจจะมีปฏิกิริยาฝ่ายนั้นกลับมาว่าที่พูดไปดูเหมือนจะไม่ได้ผล ก็อาจจะแสดงปฏิกิริยามาตรงที่เรา (การทำประชามติ) พอดีก็ได้ จึงยังมีปัจจัยอีกหลายเรื่องที่ต้องระมัดระวัง”

นายประทีปกล่าวว่า การลงประชามติครั้งนี้จะต่างจากครั้งก่อน เพราะฝ่ายพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคดูเหมือนจะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ประชาชนเองก็ไม่อ่านรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ควรจะออกไปชี้แจงเต็มที่ถึงระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะยังจะมีคำถามประชามติข้อที่สองที่สามตามมาอีก

ด้านนายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ ประธาน กกต.ยะลา กล่าวว่า การลงประชามติในปี 2550 ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกมาใช้สิทธิถึง 74% แต่ปัญหาคือวิธีการเผยแพร่เนื้อหาให้ถึงประชาชนอย่างไรให้เป็นกลาง และทำยังไงถึงให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ และถ้ามีเนื้อหาฉบับภาษาท้องถิ่นเหมือนเมื่อปี 2550 จะยิ่งดี ไม่ใช่ปล่อยให้ลงคะแนนไปเพราะถูกชี้นำ

“ในอดีตเคยมีประสบการณ์เอกสารชี้แจงชาวบ้านเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญตกค้างอยู่ที่บ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ไปรษณีย์เป็นแสนเล่ม คราวนี้คงมีมาตรการทำให้การแจกจ่ายทั่วถึงจริงๆ”

ส่วนนายประภาส ไชยนาพงษ์ ผอ.กกต.จ.ปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีการเผยแพร่อธิบายเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญผ่านการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะครู

ขณะที่ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต.กล่าวว่า เห็นด้วยที่ควรจะมีเอกสารเผยแพร่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับเฉพาะสาระสำคัญ และจัดพิมพ์เป็นภาษาถิ่นด้วย

“การแสดงความคิดเห็นทำได้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สามารถเอาเนื้อหาที่มีความเห็นต่างกันมาถกเถียงดีเบสแลกเปลี่ยนบอกข้อดีและข้อเสียกันได้ แต่ต้องไม่ใช่การรณรงค์หรือการชี้นำด้วยการชุมนุมทางการเมือง หรือจัดเวที”

สำหรับบทลงโทษที่เกี่ยวกับการประชามตินั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่าให้ใช้ตามหมวดสองของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ 2552 ซึ่งมีทั้งข้อห้ามและบทลงโทษทั้งในกรณีการขัดขวางไม่ให้คนไปใช้สิทธิ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างไม่อนุญาตให้ออกไปใช้สิทธิ การทำลายบัตรเลือกตั้ง การก่อความวุ่นวายในหน่วยเลือกตั้ง การข่มขู่ จูงใจด้วยอามิสสินจ้างเพื่อให้คนไปลงคะแนนอย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งความผิดของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยมิชอบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดทางอาญาอื่นๆ หรือความผิดที่ขัดต่อประกาศ คสช. เช่น การห้ามชุมนุมทางการเมือง การห้ามรณรงค์ตั้งเวทีนั้น นายบุญส่งกล่าวว่า ส่วนนี้ขึ้นกับทาง คสช.และ ครม. ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กกต.

ส่วนหากจะมีมวลชนมาปิดล้อมหน่วยลงคะแนนจะทำอย่างไรนั้น นายบุญส่งกล่าวว่า มีระเบียบรองรับไว้แล้วว่า กกต.สามารถสั่งยุติการลงคะแนนเป็นบางหน่วย และมาดูว่าจำนวนเสียงในหน่วยนั้นจะเปลี่ยนแปลงผลของการลงคะแนนโดยรวมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ไม่จำเป็นต้องจัดเลือกตั้งใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น