xs
xsm
sm
md
lg

กกต.3จว.ใต้ห่วงผลเจรจา"มาลาปาตานี"ส่งผลถึงประชามติร่าง รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายประทีป วุฒิรัตนโกวิท ประธาน กกต. จ.นราธิวาส เปิดเผยว่าทุกครั้งที่มีการลงคะแนนระดับชาติไม่ว่าส.ส.- สว. หรือลงประชามติ มันมีสิ่งที่คาดไม่ถึง หากไม่มีสถานการณ์กระตุ้น ก็จะเงียบ แต่ถ้ามีสถานการณ์เป็นตัวแปร ก็จะเกี่ยวเนื่องมาถึงการจัดการลงคะแนนด้วย
"ช่วงนี้ก็น่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง จะบอกว่า ตอนจัดการลงประชามติจะไม่มีอะไรเลย คงบอกไม่ได้ เพราะช่วงนี้มีการเจรจาระหว่างฝ่ายปฏิบัติการเก่า (มาลาปาตานี) กับทางรัฐ ไม่รู้ว่าหลังจากที่เขาเปิดตัวแสดงความในใจมาแล้ว ทางเรามีปฏิกิริยาตอบรับอย่างไร ถ้าดีก็ดีไป แต่ถ้าไม่ดีก็อาจจะมีปฏิกิริยาฝ่ายนั้นกลับมาว่า เอ๊ะ ที่พูดไปดูเหมือนจะไม่ได้ผล ก็อาจจะมาลงปฏิกิริยามาตรงที่เรา (การทำประชามติ) พอดีก็ได้ จึงยังมีปัจจัยอีกหลายเรื่องที่ต้องระมัดระวัง" ประธาน กกต. นราธิวาส กล่าว
นายประทีป กล่าวอีกว่า การลงประชามติเที่ยวนี้ จะต่างจากครั้งก่อน เพราะฝ่ายพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรค ดูเหมือนจะไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ประชาชนเองก็ไม่อ่านรัฐธรรมนูญโดยละเอียด ควรจะออกไปชี้แจงเต็มที่ถึงระดับหมู่บ้าน โดยเฉพาะยังจะมีคำถามประชามติข้อที่สองที่สามตามมาอีก
นายวิชัย เรืองเริงกุลฤทธิ์ ประธานกกต. ยะลา กล่าวว่า การลงประชามติในปี 50 ประชาชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาใช้สิทธิ์ถึง 74% แต่ปัญหาคือ วิธีการเผยแพร่เนื้อหาให้ถึงประชาชนอย่างไรให้เป็นกลาง และทำยังไงถึงให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ และถ้ามีเนื้อหา ฉบับภาษาท้องถิ่น เหมือนเมื่อปี 50 จะยิ่งดี ไม่ใช่ปล่อยให้ลงคะแนนไปเพราะถูกชี้นำ
"ในอดีตเคยมีประสบการณ์เอกสารชี้แจงชาวบ้านเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญตกค้างอยู่ที่บ้านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ไปรษณีย์เป็นแสนเล่ม คราวนี้คงมีมาตรการทำให้การแจกจ่ายทั่วถึงจริงๆ" นายวิชัย กล่าว
นายประภาส ไชยนาพงษ์ ผอ.กกต.จ.ปัตตานี กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีการเผยแพร่อธิบายเนื้อหาสาระของ ร่าง รัฐธรรมนูญ ผ่านการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ โดยเฉพาะครู
ด้านนายบุญส่ง น้อยโสภณ กกต. กล่าวว่า เห็นด้วยที่ควรจะมีเอกสารเผยแพร่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นฉบับเฉพาะสาระสำคัญ และจัดพิมพ์เป็นภาษาถิ่นด้วย
"การแสดงความคิดเห็นทำได้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย สามารถเอาเนื้อหาที่มีความเห็นต่างกันมาถกเถียงดีเบต แลกเปลี่ยนบอกข้อดีข้อเสียกันได้ แต่ต้องไม่ใช่การรณรงค์ หรือการชี้นำด้วยการชุมนุมทางการเมือง หรือจัดเวที" กกต. ผู้นี้กล่าว
สำหรับบทลงโทษที่เกี่ยวกับการประชามตินั้น รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดว่า ให้ใช้ตามหมวดสองของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ 2552 ซึ่งมีทั้งข้อห้ามและบทลงโทษ ทั้งในกรณีการขัดขวางไม่ให้คนไปใช้สิทธิ์ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างไม่อนุญาตให้ออกไปใช้สิทธิ์ การทำลายบัตรเลือกตั้ง การก่อความวุ่นวายในหน่วยเลือกตั้ง การข่มขู่ จูงใจด้วยอามิสสินจ้าง เพื่อให้คนไปลงคะแนนอย่างหนึ่งอย่างใด รวมทั้งความผิดของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการโดยมิชอบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับความผิดทางอาญาอื่นๆ หรือความผิดที่ขัดต่อประกาศคสช. เช่น การห้ามชุมนุมทางการเมือง การห้ามรณรงค์ตั้งเวทีนั้น นายบุญส่ง กล่าวว่า ส่วนนี้ขึ้นกับทางคสช. และครม. ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกกต. ส่วนกรณีที่หากจะมีมวลชนมาปิดล้อมหน่วยลงคะแนน จะทำอย่างไรนั้น นายบุญส่ง กล่าวว่า มีระเบียบรองรับไว้แล้วว่า กกต. สามารถสั่งยุติการลงคะแนนเป็นบางหน่วย และมาดูว่าจำนวนเสียงในหน่วยนั้น จะเปลี่ยนแปลงผลของการลงคะแนนโดยรวมได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องจัดเลือกตั้งใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น