xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯถกแนวทางสันติสุขใต้ ปัด3ข้อเรียกร้องมาราปาตานี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (10ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการอำนวยการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 3 /2558 ร่วมกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง
จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการรายงานความคืบหน้า การพูดคุยในครั้งที่ผ่านมา ของคณะพูดคุยฝ่ายไทยและฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ โดยมีการทบทวนหลักการ และเหตุผลในการพูดคุย ซึ่งการพูดคุยนั้นถือเป็นวาระแห่งชาติอยู่แล้ว ทั้งยังเป็น 1 ใน 9 ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา จึงต้องมีการทำความเข้าในกับตัวแทนฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบด้วย
ส่วนอีกข้อเรียกร้องของ กลุ่มมาราปาตานี ที่ต้องการให้เรารับรองชื่อกลุ่มนั้นจะต้องมีการพิสูจน์ความไว้วางใจกันให้ได้ก่อน เวลานี้ยังไม่จำเป็นที่ไทยจะต้องยกชื่อใครขึ้นมา เพราะต้องมองเจตนาของแต่ละฝ่าย รัฐบาลไทยมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างมาก ซึ่งหากอีกฝ่ายมีเจตนาแบบเดียวกัน ก็เป็นเรื่องดี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังเป็นปัญหาพูดคุยกันไม่ได้ ก็ยังไม่ควรที่จะสานต่อ แม้กระทั่งการให้ข่าว ตนอยากให้มีการพูดคุยก่อน จากนั้นเมื่อได้ข้อตกลง จึงค่อยชี้แจงพร้อมกัน แต่เราไม่สามารถสั่งอย่างนั้นได้ แต่วันนี้ได้สั่งการว่า ในเรื่องของหลักการและเหตุผล จะต้องพูดคุยกันต่อไป ไม่ว่าผลตอบรับจะสำเร็จช้า หรือเร็ว แต่คือการแก้ปัญหาในเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งต้องทำ เพราะเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก การพูดคุยใช่ว่าจะสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว เนื่องจากว่ามีอยู่ด้วยกันหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มทีมีศักยภาพมาก และมีศักยภาพน้อย ซึ่งบางเรื่องยังไม่เป็นที่ยอมรับกันภายในกลุ่มของตนเอง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องไปสร้างการยอมรับภายในกลุ่มให้ได้เสียก่อน ซึ่งวันนี้หลายกลุ่มได้พยายามยกระดับของตนเองให้มีความเท่าเทียมกัน ตนอยากเรียกเรื่องดังกล่าวว่าเป็นการต่อสู้ทางความคิด ซึ่งมีกำลังในการเสริมให้บรรลุวัตถุประสงค์ ที่ต้องการ
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ต้องหลีกเลี่ยงคำพูดที่สุ่มเสี่ยงระหว่างกัน จึงต้องมีผู้อำนวยความสะดวก คือ ประเทศมาเลเซีย นั่นแสดงให้เห็นว่า การพูดคุยในรัฐบาลนี้ มีความก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันหลายประเทศต่างให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และประเทศมุสลิม ก็ระบุว่าเห็นใจรัฐบาลมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหา อาเซียนเองก็สนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี อย่างไรก็ตาม 3 ข้อเรียกร้องของเครือข่ายมาลาปาตานี ตนได้ให้คำตอบกลับไป โดยต้องทำความเข้าใจกันใหม่ แต่หากยังไม่เข้าใจกัน ก็ไม่เป็นไร ต้องพูดเรื่องอื่นๆ ที่สามารถทำได้ไปก่อน โดยระยะแรก เป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างเอกภาพของแต่ละฝ่าย ยืนยันรัฐบาลเป็นเออกภาพอยู่แล้ว เพราะตนเป็นนายกฯดูแลทั้ง กอ.รมน., ศอ.บต. จึงถามว่าอีกฝ่ายเป็นเอกภาพแล้วหรือยัง ส่วนระยะที่สอง เมื่อเกิดความเชื่อใจกันแล้ว ก็ต้องหาโจทย์ของแต่ละกลุ่มให้เจอ เช่น การลดความรุนแรง กฎหมายกระบวนการยุติธรรม การพัฒนา ศูนย์วัฒนธรรมของชาวมุสลิม ที่อยากให้เกิดขึ้นในประเทศไทย
เมื่อถามว่า 3 ประเด็นที่กลุ่มมาราปาตานี เสนอมานั้น รัฐบาลไม่รับ ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยัง " และอย่ามากดดันผมให้รับ" จากนั้นนายกฯ ย้อนถามสื่อว่า “ท่านรับกับเขาหรือไม่ ถ้ารับแล้วเกิดเหตุการณ์ขึ้น ท่านรับผิดชอบได้ไหม เข้าใจผมตรงนี้บ้างสิ นี่เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จะพูดอะไรตัดสินใจอะไร เสนอข่าวอะไร ระวังด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ล่อแหลม ละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการสร้างความเข้าใจ ถ้าไม่ได้อย่างนี้จะไปอย่างไร เขาเรียกว่าต่อรอง" นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อถามว่า ประเมินว่าการเจรจาที่ผ่านมาของผู้ก่อเหตุเป็นความต้องการลดความรุนแรงจริงๆ หรือเพื่อการต่อรอง นายกฯ กล่าวว่า อย่างเพิ่งแสดงความเห็นว่าใช่หรือไม่ใช่ เพราะอย่างน้อยเขาได้แสดงเจตนารมณ์เขามาพูดคุย ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมาระดับหนึ่ง ต่อไปอยู่ที่ขั้นตอนของการสร้างความเข้าใจเอาปัญหามาเจอกัน ซึ่งขั้นตอนต่างๆต้องไม่ผลีผลาม จะตบปากรับคำกันเลยคงไม่ได้ อีกฝ่ายก็รับคำเราเลยไม่ได้ เราเองก็รับปากเขาเลยยิ่งไม่ได้ แต่อะไรที่รับได้เราจะรับ เช่น เรื่องที่จะเกิดความสงบปลอดภัย แต่อย่ามากดดันกันเอง ซึ่งตนไม่ได้กดดันอีกฝ่าย ตนทำเพื่อประชาชน ถามว่าฝั่งโน้นทำเพื่อประชาชนหรือไม่
เมื่อถามว่า จะสานต่อการพูดคุยต่อไปใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวด้วยน้ำเสียงดุดันว่า มีสิ ถึงชาติหน้าโน้นถ้ายังไม่จบ ก็จะคุยกันถึงชาติหน้า อย่างไรก็ตามการพูดคุยตนได้กำหนดประเด็นไปแล้ว
"ถ้าผมทำงานกับคนของผม ก็คงจบกันแค่นี้ แต่นี่เขาไม่ใช่คนของผม เขาเป็นฝ่ายตรงข้าม มีการใช้อาวุธ และความรุนแรง ผมจะไปกำหนดอะไรเขาได้ เว้นแต่เขาจะมาด้วยใจ แต่ผมก็มีกรอบมาตรการที่เตรียมไว้ให้ เช่น กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม เตรียมไว้หมดแล้ว มีเครื่องมือและหลักการไว้แล้ว ก็อยู่ที่กระบวนการและการแสดงความจริงใจต่อกัน หากจริงใจก็จบต้องไม่สร้างปัญหาใหม่ แก้ไขปัญหาเก่า แต่วันนี้ที่ไม่จบเพราะสร้างปัญหาใหม่ทุกวันๆ ก็ไม่จบสักเรื่อง กี่ชาติก็ไม่จบ ทุกเรื่องเลย" นายกฯกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น