xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ส่อง พ.ร.บ.ประชามติฯ ใครป่วนเจอคุก 10 ปี ปรับ 2 แสน ถอนสิทธิเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระสามเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา

หลังจากสมาชิก สนช.ได้อภิปรายกันพอหอมปากหอมคอ โดยเฉพาะประเด็นในมาตรา 7 ซึ่งร่างเดิมที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เขียนไว้ว่า “บุคคลย่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย” แต่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้ได้ตัดคำว่า “รณรงค์” ออกไป โดย สนช.หลายคนเห็นว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน เช่น การส่งไลน์ไปตามกลุ่มเพื่อบอกว่าตนจะรับร่างหรือไม่รับ น่าจะถือเป็นการรณรงค์แบบหนึ่งเป็นเสรีภาพ ควรต้องมีความชัดเจนในการแสดงความคิดเห็น

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ประธานกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่า การรณรงค์หมายถึงร่วมกันชักจูงออกมาที่จะรับหรือไม่รับ ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งของประเทศอีกครั้ง เจตนาของ พ.ร.บ.นี้ไม่ต้องการให้เป็นประเด็นการเมืองที่จะให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหาประโยชน์และไปสู่ความขัดแย้ง ผู้ที่จะรณรงค์ได้มีเฉพาะ กกต.เท่านั้น ที่จะหาทางทำให้ประชาชนออกมาออกเสียงให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกรรมาธิการฯ ยอมปรับแก้ถ้อยคำ โดยเปลี่ยนเป็น “มาตรา 7 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคคลสามารถเผยแพร่ความคิดเห็นของตนเองที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องเป็นไปโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย และที่ประชุม สนช.มีมติ 181 เสียงเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าว

ส่วนมาตรา 9/1 ประเด็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.)ในการเผยแพร่และทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างทั่วถึง ทางสมาชิก สนช. มีความเห็นว่า อาจจะเป็นช่องทางให้มีผู้ร้องว่าทาง กรธ. ดำเนินการไม่ทั่วถึงจนเกิดความวุ่นวายได้ ทางคณะ กมธ. จึงได้ปรับแก้ถ้อยคำเป็น “ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ในกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอประเด็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการออกเสียงเพิ่มเติม ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาระสำคัญของประเด็นให้แก่ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป” โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับการแก้ไขดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขให้ประเด็นให้ประชาชนร้องคัดค้านผลการประชามติ (มาตรา 51) ซึ่งเดิมกำหนดไว้ 10 คน เป็น 50 คน เพื่อป้องกันความวุ่นวายและกลั่นแกล้ง

หลังจากลงมติตามรายมาตราแล้ว ที่ประชุม สนช.ได้มีมติ 171 ต่อ 1 คะแนน เห็นชอบในวาระสาม เพื่อรอประกาศใช้เป็นกฎหมาย หลังจากนั้นจะมีการประกาศวันออกเสียงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ มีการกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)เป็นผู็ดำเนินการจัดและควบคุมการออกเสียงประชามติ(มาตรา 11) และให้ กกต.กำหนดวันออกเสียงโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา(มาตรา 12) การออกเสียงให้ใช้่วิธีการลงคะแนนโดยตรงและลับ และให้ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีกากบาทในบัตรออกเสียง(มาตรา 13)

สำหรับเขตออกเสียงให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียง(มาตรา 20)

ใช้เขตหมู่บ้านเป็นหน่วยออกเสียง เว้นแต่ในหมู่บ้านที่มีจำนวนที่มีผู้มีสิทธิออกเสียงจำนวนน้อยให้รวมกันหลายหมู่บ้านเป็นหน่วยเลือกตั้งเดียวกันก็ได้ ส่วนในเขตเทศบาล เมืองพัทยา กรุงเทพมหานคร หรือเขตชุมชนหนาแน่น อาจกำหนดให้เขตชุมชน แนวถนน ตรอก ซอย คลอง หรือแม่น้ำ เป็นเขตของหน่วยออกเสียง และให้ถือเกณฑ์ผู้มีสิทธิออกเสียง 800 คนเป็นประมาณ(มาตรา 21)

ผู้มีสิทธิออกเสียงต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันออกเสียง มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันออกเสียง(มาตรา 23)

ส่วนบุคคต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิออกเสียง ได้แก่ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้ถูกคุมขังโดยหมายศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ(มาตรา 24)

ในวันออกเสียงให้เปิดลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.(มาตรา 32)

ผู้มีสิทธิออกเสียงที่อยู่นอกเขตออกเสียงที่ตนมีชื่อในทะเบียนบ้าน สามารถใช้สิทธิออกเสียงในจังหวัดที่ตนเองอยู่ได้ (การออกเสียงนอกเขต) โดยยื่นคำขอลงทะเบียนล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนวันออกเสียง(มาตรา 41)

การนับคะแนนหลังปิดหีบ ให้นับ ณ ที่ออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียง โดยเปิดเผย ห้ามเลื่อนหรือประวิงเวลาการนับคะแนน(มาตรา 42)

บัตรออกเสียงที่มีการเขียนข้อความหรือถ้อยคำอื่นลงไป หรือทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท ถือเป็นบัตรเสีย(มาตรา 44)

ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงสามารถยื่นคัดค้านการออกเสียงได้ภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่การออกเสียงสิ้นสุดลง หากเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยออกเสียงนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม(มาตรา 51)

พ.ร.บ.นี้บังมีการกำหนดโทษ กรณีการขัดขวางการปฏิบติงานของ กกต. กรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยออกเสียง โดยต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ากระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 58)

ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้าง ขัดขวางไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้างไปใช้สิทธิออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 59)

ผู้ทำลายบัตรออกเสียง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท และถ้าเป็นเจ้าพนักงานหรือผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงกระทำเสียเอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท(มาตรา 60)

มาตรา 62 มีการกำหนดโทษ ผู้ก่อความวุ่นวายเพื่อไม่ให้การออกเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซื้อสิทธิขายเสียง หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ คุกคามไม้ให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปใช้สิทธิ ทำลายหรือขัดขวางการส่งหีบบัตรหรือบัตรออกเสียง เล่นการพนันทายผลการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีด้วย แต่ถ้าเป็นการกระทำผิดเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ทั้งนี้ ผู้ที่เผยแพร่ข้อความผ่านสื่อต่างๆ ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ถือว่าผู้นั้นก่อความวุ่นวายด้วย

นอกจากนี้ มาตรา 62 ยังกำหนดโทษผู้จำหน่ายจ่ายแจกหรือเลี้ยงสุราตั้งแต่เวลา 18.00 น.ของวันก่อนวันออกเสียงจนสิ้นสุดวันออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ที่ใช้ยานพาหนะขนคนไปใช้สิทธิออกเสียงโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารหรือค่าจ้างตามปกติเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุก 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี(มาตรา 63)

ผู้ที่เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงในช่วง 7 วันก่อนวันออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



กำลังโหลดความคิดเห็น