กกต.ยันบทลงโทษ กม.ออกเสียงประชามติ ไม่ได้จำกัดเสรีภาพ ไม่ต่าง รธน.50 แต่กำหนดเพิ่มใหม่นำหลักการ กม.เลือกตั้งมาบัญญัติ ยันเชียร์ค้านมีเหตุผลทำได้ ห้ามจัดเวทีรณรงค์ระดับจังหวัด ให้ส่งคนมาดีเบตผ่านสื่อแทน เพื่อความสงบกันฉวยโอกาส ชี้ค้านเหตุสืบทอดอำนาจไม่ใช่ใส่ร้าย รับเอาผิดไม่ถึงคนต่างแดน เคาะงบประชามติเฉียด 3 พันล้าน ปัดแย่งชิงงบฯ ทำช้า แจงแก้การซ้ำซ้อน ส่งพิจารณาสัปดาห์หน้า
วันนี้ (23 มี.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงยืนยันว่าบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้มุ่งที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนอย่างที่มีการสื่อสารกันในสังคมขณะนี้ โดยบทบลงโทษในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้แตกต่างไปจากที่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งในเรื่องการขัดขวางการปฏิบัติตงานของ กกต.ที่ก็ยังคงกำหนดบทลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างขัดขวางไม่ให้ความสะดวกต่อการไปใช้สิทธิออกเสียงของผู้ใต้บังคับบัญชา หรือลูกจ้าง ให้จำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีการทำลายบัตรออกเสียงให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ถ้าเป็นเจ้าพนักงานหรือมีหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินการออกเสียงมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี ปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อย่างไรก็ตาม มีบทโทษที่ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ กำหนดเพิ่มขึ้นใหม่ ที่เป็นการนำหลักการจากกฎหมายเลือกตั้งมาบัญญัติไว้ คือ การห้ามจำหน่ายจ่ายแจกสุรา การจัดยานพาหนะ การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรืออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่า ผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ปรับไม่เกินสองแสนบาท และการหากผู้กระทำผิดเป็น กกต. หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีความผิดรุนแรงกว่าบุคคลทั่วไป 2-10 เท่า
“ยืนยันว่ากฎหมายนี้ไม่ได้มุ่งกีดกัน ขัดขวาง ใครก็ตามที่เห็นต่าง หรือเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าทำผิดบทฐานความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ก็ต้องรับโทษเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเชียร์ ถ้าค้านบนพื้นฐานการมีเหตุมีผลก็สามารถทำได้ เพราะเราต้องการให้กระบวนการออกเสียงเป็นลักษณสุภาพชนที่เอาเหตุผลมาพูดคุยต่อกัน” นายสมชัยกล่าว พร้อมกับแจกจ่ายเอกสารที่เป็นตารางเปรียบเทียบทลงโทษระหว่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญต่อสื่อมวลชนด้วย
ส่วนการจัดเวทีรณรงค์การออกเสียงประชามติ กกต.ไม่สนับสนุนให้เกิดการตั้งเวทีระดับจังหวัด ถ้าหากองค์กรใดประสงค์จะรณรงค์ในระดับจังหวัดจะไม่อนุมัติให้ทำแต่จะเปิดโอกาสให้ส่งตัวแทนมาดีเบตผ่านสื่อสาธารณะช่องต่างๆ โดยจะจัดทั้งหมดสิบรอบให้สองฝ่ายส่งตัวแทนมาพูดคุยในหัวข้อที่แตกต่างกัน ซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่าการจัดเวทีในพื้นที่เพราะเข้าถึงประชาชนได้มากกว่า แต่ถ้าองค์กรที่ทั้งขึ้นทะเบียนต่อ กกต. และไม่ขึ้นทะเบียนไปจัดเวทีเองก็ต้องรับผิดชอบกับการกระทำที่อาจะเข้าข่ายผิดกฎหมายความมั่นคงเรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง และอาจเข้าข่ายฐานความผิดของ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญหากจัดแล้วเกิดความวุ่นวายในพื้นที่ได้
“หลักสำคัญต้องคำนึงถึงบรรยากาศการออกเสียงประชามติเรียบร้อย มีเหตุผล ภายใต้กรอบกติกาของสังคมในปัจจุบันที่ไม่ใช่สังคมเปิดโอกาสในทุกเรื่องก็ต้องทำเท่าที่ทำได้ การออกแบบนี้เป็นผลดีที่สุดทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างมีเหตุผลเกิดความสงบเรียบร้อยต่อบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหามีการฉกฉวยเรื่องนี้มาใช้ประโยชน์เพื่อผลทางการเมืองในเรื่องอื่นเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มการเมืองของตัวเอง กกต.ต้องดูแลรับผิดชอบ ซึ่งผลของการทำประชามติคือประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจแล้วก็ต้องเดินหน้าในทิศทางนั้น แต่จะห้ามคนทุกคนให้คิดเหมือนกันคงไม่ได้ กกต.มีหน้าที่จัดทำประชามติและประกาศผลแต่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับความสงบของบ้านเมืองหลังการทำประชามติเพราะเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ กกต.”
เมื่อถามว่า หากมีการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญโดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจ คสช.ได้หรือไม่ นายสมชัยกล่าวว่า คิดว่าอันนี้เหตุผลไม่ใช่การใส่ร้ายป้ายสี ปลุกระดม ข่มขู่อะไร แต่กรณีลักษณะนี้ต้องมีการร้องเข้ามา ซึ่ง กกต.ก็จะมีอนุกรรมการในการพิจารณากลั่นกรองในแต่ละระดับ มาถึงระดับ กกต.ก็ต้องพิจารณาอีกที
ส่วนกรณีที่คนต่างประเทศปลุกระดมเกี่ยวกับการทำประชามตินั้น นายสมชัยยอมรับว่ากฎหมายการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญยังเอาผิดไปไม่ถึง แต่ถ้ามันโยงเข้ามาถึงคนในประเทศคนใดก็เอาเข้ามาสู่กระบวนการพิจารณาได้
ทั้งนี้ นายสมชัยยังกล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ที่อยู่ในชั้นการพิจาณาของกรรมาธิการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า ทราบว่ามีการตัดประเด็นเรื่องการใช้เครื่องลงคะแนนออกไป แต่มีการเพิ่มเติมในการเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับคนสูงอายุ และผู้พิการ โดยสามารถให้กรรมการประจำหน่วยช่วยกากบาทออกเสียงให้ได้ตามเจตนารมย์ของผู้มาออกเสียง
นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเห็นชอบในเรื่องกำหนดเวลาว่าน่าจะออกเสียงประชามติได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม และงบประมาณที่จะใช้สำหรับการออกเสียงวงเงิน 2,991 ล้านบาท ยืนยันว่า กกต.มีความพร้อมในการดำเนินการออกเสียงเพราะมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวและการเลือกตั้งมาอย่างต่อเนื่อง เหตุที่เสนองบประมาณล่าช้า ไม่ใช่เพราะมีการแย่งชิงงบประมาณอย่างที่ปรากฎเป็นกระแสข่าว แต่เพราะสำนักงานต้องการให้การจัดทำงบประมาณไม่มีการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานนอกที่มาช่วยสนับสนุน ซึ่งก็จะทำให้รัฐได้ประโยชน์มากขึ้น และคาดว่าในสัปดาห์นหน้ากกต.จะส่งเรื่องไปให้สำนักงบประมาณพิจารณาได้
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกต.ยังเห็นชอบกับแผนการเตรียมการออกเสียงประชามติที่จะต้องมีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแจกจ่าย โดยเห็นชอบให้จัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษกับหน่วยงานรัฐที่มีโรงพิมพ์ และมีศักยภาพในการพิมพ์ แต่ทั้งนี้ให้มีการแข่งขันในเรื่องราคาจัดพิมพ์ เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด ซึ่งการดำเนินการด้วยวิธีดังกล่าวจะมีความโปร่งใส เพราะเป็นการจ้างหน่วยงานรัฐเท่านั้น อย่างไรก็ตามการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ร่างรัฐธรรมนญจะจัดพิมพ์ 1.2 ล้านฉบับ สรุปย่อสาระสำคัญ 6 ล้านฉบับ และข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญจะพิมพ์แจกทุกครัวเรือนโดยจัดส่งไปพร้อมกับหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน